จงยืนบนขาของตัวคุณเอง ฟังดูเป็นคำพูดที่ขัดธรรมชาติมนุษย์ เพราะใครก็ชอบทางที่ง่ายเสมอ พูดให้ถูกก็คงเป็นว่ามนุษย์ทุกคนชอบทางที่ง่ายเสมอ การรักสบาย รักความง่ายน่าจะติดอยู่ในมโนสำนึกของความเป็นมนุษย์ของทุกคน
แต่นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เราเติบโตช้า หรือบางทีแทบจะเรียกได้ว่าไม่เติบโตเลย
หลายคนคงรู้จักกับ “รถหัดเดิน” ของเด็ก ที่ลักษณะของมันจะเป็นเหมือนเครื่องช่วยพยุงเดินของคนแก่แต่มีล้อเลื่อน นัยว่าจะช่วยให้เด็กหัดเดินได้เร็วขึ้น
แต่เชื่อไหมว่างานวิจัยทางวิทยาศาสตร์กลับบ่งชี้ว่ามันทำให้เด็กเดินได้ช้าลง
สาเหตุหลักของมันก็มาจากการที่เด็กจะไม่ได้พึ่งพาแรงและวิธีของตนเอง จนทำให้ในทุกวันนี้หลายประเทศห้ามจำหน่ายรถหัดเดินสำหรับเด็กไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่ผู้ใหญ่เองก็ควรจะเลิกใช้รถหัดเดินด้วยเช่นกัน
ผมเองเมื่อกลับมาทบทวนจึงพบว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมค่อนข้างมีพัฒนาด้านการลงทุนที่เด่นชัดมาจากการที่ผมไม่ใช่ “รถหัดเดิน” นั่นเอง
เรียกอีกอย่างว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว ผมลงทุนด้วยการตัดสินใจคนเดียว ลงทุนแบบไม่ปรึกษาใครเลย
ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่า ผมไม่ได้พูดว่าการปรึกษาคนอื่นนั้นเป็นเรื่องไม่ดี เพียงแต่นักลงทุนแต่ละคนนั้นมีการนำคำปรึกษาไปใช้ต่อนั้นแตกต่างกัน
ผมมองว่าจุดสำคัญที่สุด คือ แก่นของการตัดสินใจนั้น เราจำเป็นต้องคิดเอง คิดเองในแง่ที่ปราศจากอิทธิพลจากคนอื่นทั้งปวง
ถ้าจะเปรียบกับบทวิเคราะห์ก็คือ เราอ่านเนื้อหาได้ อ่านความเห็นได้ แต่การตัดสินใจซื้อถือขายนั้นเป็นของเราเอง
ผมใช้วิธีเช่นนี้มาตลอด หลังจากเข้าตลาดมาได้ประมาณ 6 เดือน ผมก็ตัดสินใจที่จะหันหลังให้กับรถหัดเดิน
และผมค้นพบว่านั่นเป็นวิธีที่ทำให้ผมเติบโตได้เร็วมาก
ส่วนหนึ่งเพราะผมจะ “ขี้ขลาด” เสมอ เพราะผมต้องวิ่งอยู่ในสนามคนเดียว ผมจะพยายามศึกษากิจการให้รอบคอบ ประเมินมูลค่าแบบอนุรักษ์นิยม ติดตามกิจการอย่างใกล้ชิด และที่สำคัญ ผมจะเล่นอยู่ในเกมที่ผมถนัดเท่านั้น
ผมจะลงทุนในหุ้นที่ผมคาดการณ์กำไรได้อย่างแม่นยำเท่านั้น และเลือกจะหันหลังให้กับความไม่แน่นอนที่ผมจัดการไม่ได้
มันโตขึ้นจริงๆ นะ
ผมต้องอ่านหนังสือเยอะมาก เพราะทุกการตัดสินใจผมต้องคิดเอง ผมเข้าเรียนและคุยกับนักลงทุนเก่งๆ เยอะมาก เพื่อสร้างทัศนคติในการลงทุนที่ถูกต้อง และอีกอย่างคือผมเรียนรู้จากความผิดพลาดเสมอ
ผมมีการขาดทุนหนักจากการลงทุนหลายครั้ง และแต่ละครั้งนั้นผม “จำ” ได้ดี และไม่เคยกลับไปผิดพลาดซ้ำอีกเลย
มันเหมือนเด็กที่ถีบตกไปในคลองนั่นแหละ ถึงแม้ว่ามันอาจจะไม่ใช่การเรียนรู้ที่ดีนัก แต่มันก็จำเป็นต้องหัดเอาชีวิตรอด มันต้องทำทุกวิธีทางเพื่อที่จะผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้
ผมไม่ได้บอกนะว่าเราห้ามเรียนรู้จากคนอื่น ผมเองคิดว่าการเรียนรู้จากคนอื่นเป็นสิ่งที่ดีมากและผมทำอยู่เสมอ ผมชอบฟังประสบการณ์จากคนเก่ง ผมชอบฟังความรู้จากคนที่มีประสบการณ์
แต่ขั้นตอนสุดท้ายในการลงทุน นั่นแหละคือหน้าที่ที่เราต้องตัดสินใจ
นักการเงินหลายคนวิเคราะห์ว่าการที่ปู่วอร์เรน บัฟเฟตประสบความสำเร็จได้นั้น เกิดจากการที่ปู่ “คิดคนเดียว”
อย่างตอนวิกฤตน้ำมันสลัดของบริษัทอเมริกันเอกเพลส หุ้นถูกเทขายอย่างหนักออกมาจากทุกทิศทาง แต่ปู่เองกลับซื้อมันมากมายจนแทบจะกลายเป็นหุ้นเปลี่ยนชีวิต
หากวันนั้นปู่อยู่ในห้องประชุมผู้จัดการกองทุนเหมือนที่กองทุนอื่นอยู่กับ ปู่ก็น่าจะยากที่จะประสบความสำเร็จ เพราะต้องมีคนไม่เห็นด้วยแน่นอน
ใจคุณต้องโดดเดี่ยว เมื่อโดดเดี่ยวแล้วคุณจะเจ็บปวด เมื่อเจ็บปวดแล้วคุณจะเกิดการเรียนรู้
ย้ำอีกครั้งว่า ผมสนับสนุนการอ่านหนังสือและการเรียนรู้จากประสบการณ์ผู้อื่น ความรู้เหล่านั้นมันล้ำค่ามาก เพียงแต่อย่าให้ความคิดเห็นหรือแนวคิดของผู้อื่นมาทำให้เราไขว้เขวและไม่เป็นอิสระ
การตัดสินใจสุดท้ายนั้นเราต้องคิดเอง
หากถามว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าการที่เราถามคนอื่นนั้นมีผลต่อเราหรือไม่ ผมก็ยกตัวอย่างง่ายๆ แบบนี้
หากคุณสนใจจะลงทุนในหุ้นหนึ่งมาก เนื่องจากศึกษาอย่างรอบคอบแล้วว่ามันดี หลังจากนั้นคุณก็ได้ไปปรึกษารุ่นพี่หรืออาจารย์ด้านการลงทุนที่คุณเคารพมาก แต่เขากลับแนะนำให้ “strongly recommended sell” หรือ “แนะนำให้ขายอย่างยิ่งยวด” คำถามคือคุณกล้าซื้อหรือเปล่า?
ถ้ากล้า นั่นแปลว่าคุณเป็นอิสระแล้ว
แต่ถ้าคุณกำลังคิดในใจว่า อ้าว รุ่นพี่หรืออาจารย์ยังไม่แนะนำให้ซื้อ เราซื้อไปแล้วขาดทุนจะทำยังไง?
ผมจะตอบว่า ก็หัดขาดทุนซะสิ ขาดทุนแล้วจะได้เรียนรู้ว่าการที่เราศึกษารอบคอบมาเป็นอย่างดีแล้วนั้นมันผิดพลาดตรงไหน ครั้งต่อไปจะได้ไม่ผิดพลาดอีก
เกิดเป็นนักลงทุนหนะมันก็ต้องเจ็บปวดทุกคนนั่นแหละ
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :