กองทุนและคำเตือนที่ไม่ได้เตือน
ในการพิจารณาการลงทุนในกองทุนต่าง ๆ ข้อมูลหลักที่ใช้ในพิจารณามาจากหนังสือชี้ชวนการลงทุน โดยท่ามกลางข้อมูลที่จัดเตรียมไว้ มีคำเตือนแทรกไว้อยู่ตามจุดต่าง ๆ งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมได้สังเกตอิทธิพลของข้อความที่ปรากฏบนคำเตือน คำเตือนที่แตกต่างไปให้ผลต่างกันอย่างไร คำเตือนการเลือกกองทุนแบบไหนที่กระตุ้นให้คุณฉุกคิด
หากนักลงทุนได้อ่านหนังสือชี้ชวนการลงทุนของกองทุนต่าง ๆ ผ่านตามาจำนวนหนึ่งคงจะเริ่มคุ้นเคยกับคำเตือน เช่น *ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต *ค่าธรรมเนียมมีผลกระทบต่อผลตอบแทนที่คุณจะได้รับดังนั้น คุณควรพิจารณาการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวก่อนการลงทุนประเภทต่าง ๆ ข้อความเตือนเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกลงทุนของเราอย่างไร
งานวิจัยหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ได้ทำการทดลองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของคำเตือนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในการลงทุนในกองทุน เนื่องจากในประเทศสหรัฐอเมริกา ประชาชนกว่าครึ่งหนึ่งลงทุนในกองทุนรวมโดยจากสถิติจ่ายค่าธรรมเนียมในการบริหารกองทุนอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.55 ของมูลค่าสินทรัพย์ต่อปี คิดเป็นกว่าแสนล้านเหรียญสหรัฐ
ผลตอบแทนในอดีตดี Vs ค่าธรรมเนียมต่ำ
แม้ว่าจะมีคำเตือนว่า “ผลตอบแทนในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันผลตอบแทนในอนาคต” แต่จากการวิจัยก็พบว่านักลงทุนเลือกกองทุนจากผลตอบแทนในอดีต โดยคาดการณ์ว่าจะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งจากการวิจัยติดตามผลในระยะยาวพบว่ากองทุนรวมไม่สามารถจะตอบแทนอย่างต่อเนื่องในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนที่เคยเป็นมาได้ ผลตอบแทนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยจะเกิดขึ้นเพียงครั้งคราวบนความน่าจะเป็นที่ต่ำ ดังนั้นแล้วหากนักลงทุนเลือกกองทุนจากกองทุนที่มีค่าธรรมเนียมต่ำกว่าจะเป็นทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าและแน่นอนกว่าเพราะเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แต่ต้น
การทดลองนี้ทำในกลุ่มตัวอย่าง 996 คน แบ่งเป็นนักลงทุนที่มีประสบการณ์ กับ นักลงทุนที่ยังไม่มีประสบการณ์ ให้ตัดสินใจลงทุนในช่วงระยะเวลา 60 รอบ โดยให้เลือกลงทุนโดยอาศัยข้อมูลที่ให้และข้อความคำเตือนที่แตกต่างกัน 2 รูปแบบ ได้แก่
รูปแบบที่ 1 “ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นการยืนยันผลที่จะได้รับในอนาคต”
(“Past performance does not guarantee future results.”)
รูปแบบที่ 2 “คนจำนวนหนึ่งเลือกลงทุนจากผลการดำเนินงานในอดีต แต่กองทุนที่มีค่าธรรมเนียมต่ำกว่าจะให้ผลตอบแทนในอนาคตที่สูงกว่า” (“Some people invest based on past performance, but funds with low fees have the highest future results.”)
ผลการวิจัยพบว่า การให้ข้อมูลแบบมีอิทธิพลของกลุ่มคนหรือสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง (รูปแบบ 2) มีผลต่อการตัดสินใจเลือกกองทุนที่มีค่าธรรมเนียมถูกกว่า โดยในกลุ่มนักลงทุนที่มีประสบการณ์ การให้ข้อมูลว่า “ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นการยืนยันผลที่จะได้รับในอนาคต” (รูปแบบ 1) ไม่มีผลทำให้เลือกลงทุนในกองทุนที่มีค่าธรรมเนียมต่ำ โดยตัวแปรเรื่องการมีความรู้ทางการเงินมีส่วนสำคัญที่ทำให้เลือกกองทุนที่มีค่าธรรมเนียมต่ำ
จากการทดลองดังกล่าวทำให้สรุปได้ว่าข้อความคำเตือนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอาจไม่ได้มีผล “เตือน” อย่างที่ตั้งใจ ไม่สามารถช่วยสะกิดให้คนทั่วไปฉุกคิดถึงเรื่องค่าตอบแทนได้ การปรับเปลี่ยนข้อความโดยใช้อิทธิพลของสังคมเข้ามาประกอบด้วย จะช่วยทำให้กระตุ้นให้เกิดการคำนึงถึงเรื่องค่าธรรมเนียมประกอบการตัดสินใจมากขึ้น
สุดท้ายแล้วบทความนี้คงไม่ได้ต้องการจะชี้นำหรือบอกว่าต้องเลือกลงทุนในผู้ให้บริการไหนหรืออย่างไร แต่อยากชี้ให้เห็นว่าข้อความที่ปรากฏ และ ข้อมูลที่เตรียมไว้ให้อาจมีอิทธิผลและมีผลลวงกระตุ้นเราให้ตัดสินใจไปในทางใดทางหนึ่งได้ การเป็นคนที่หาความรู้ทางการเงิน การมีประสบการณ์ในการลงทุนสะสมมากพอ จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีและมีเหตุมีผล ขอให้ลงทุนโดยสวัสดิภาพ
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :