ทัศนคติ

วิทยาศาสตร์ของคำว่า “รู้งี้”

Hindsight Bias

รู้งี้ทำแบบนี้ดีกว่า , คิดไว้แล้วไม่มีผิด , ว่าแล้วว่าต้องเป็นแบบนี้ วลีทั้งหลายทั้งแหล่เหล่านี้ถือเป็นอคติทางจิตวิทยาประเภทหนึ่งที่เรียกว่า อุปาทานหลังเกิดเหตุ หรือ Hindsight Bias ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มนุษย์มักคิดว่าตนเองรู้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเกิดขึ้น เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว

 

อคติประเภทนี้เกิดจากความมั่นใจในตัวเองมากเกินไป และไม่ใช้เหตุผลในการวิเคราะห์ข้อมูลหรือเหตุการณ์อย่างละเอียดถี่ถ้วน

 

ยกตัวอย่างเช่น หุ้น xxx ที่เราถือในพอร์ตราคาขึ้นแรง เราก็พูดว่า “ว่าแล้วว่าราคาต้องขึ้นแรงมาก รู้งี้ซื้อเพิ่มไว้เยอะๆ ดีกว่า”

 

เราจะคิดแบบนี้แน่นอน ถ้าเราไม่กลับไปวิเคราะห์หาต้นเหตุที่เราซื้อหุ้นไว้น้อย (กว่าที่คิดหลังเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว) หากเรากลับไปย้อนคิด เราอาจจะพบว่าจริงๆ ที่เราซื้อไม่มาก เพราะตอนนั้นเรากังวลเรื่องปัจจัยลบ ความเสี่ยง หรืออะไรต่างๆ มากมายของหุ้นตัวนั้นไว้ ซึ่งตามความเป็นจริง เราก็มักจะซื้อหุ้นที่ระดับความเสี่ยงที่เรารับได้โดยธรรมชาติอยู่แล้ว เพียงแต่พอเรามองย้อนกลับไป เรากลับมองข้ามความเสี่ยง (ที่ไม่ได้เกิดขึ้น) และมองแต่ผลตอบแทน (ที่เกิดขึ้นแล้ว) จนเกิดเป็นอคติว่าความจริงเราคาดเดาอนาคตได้ดีกว่าปรกติ ทั้งที่ความจริงเราก็รู้เท่าที่เราเคยรู้ในอดีตนั่นแหละ (ไม่งั้นเราก็คงซื้อมากกว่านี้ไปแล้ว)

 

ไม่ใช่แค่เรื่องลงทุน แต่เราก็มีอุปาทานหลังเกิดเหตุในเรื่องทั่วไปด้วยเช่นกัน

 

งานวิจัยที่ชื่อว่า The “Saw-it-All-Along” Effect: Demonstrations of Visual Hindsight Bias ของอาจารย์ Erin M. Harley แห่ง University of California, Los Angeles และ Keri A. Carlsen and Geoffrey R. Loftus แห่ง University of Washington ได้ศึกษาเรื่องอุปาทานหลังเกิดเหตุไว้อย่างน่าสนใจมาก

 

การทดลองทำง่ายๆ โดยให้ผู้เข้าร่วมทดลองดูรูปภาพคนดังที่ถูกทำให้เบลอที่ค่อยๆ ปรับภาพกลับมาคมชัดเรื่อยๆ พอผู้เข้าร่วมการทดลองตอบได้เมื่อไหร่ว่าเป็นภาพของใครก็ให้กดแจ้ง และภาพก็จะกลับเป็นภาพที่ชัดต่อไปในที่สุด

 

Hindsight Bias

 

ความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่ผู้เข้าร่วมการทดลองวิเคราะห์ภาพได้เร็วแค่ไหน แต่อยู่ที่หลังภาพคมชัด 100% ผู้ทดลองจะแจกแบบสอบถามว่าให้ผู้เข้าร่วมการทดลองประเมินว่าตนเองตอบได้ว่าภาพนั้นคือใครที่ระดับความชัดเท่าไหร่ (ใช้ตัวเลขของ resolution รูปภาพในการเทียบวัด)

 

ผลการทดลองก็ออกมาตามชื่องานวิจัย

 

คนจำนวน 37 คนจาก 42 คนหรือเทียบเท่ากับ 88% ของผู้เข้าร่วมวิจัยประเมินความสามารถตัวเองไว้สูงกว่าที่ทำได้จริงหลังจากเห็นภาพเฉลยแล้ว (ว่าแล้วว่าต้องเป็นคนนี้ ฉันรู้มาตลอดแหละ!) โดยงานวิจัยชี้ว่ายิ่งการวิเคราะห์ยากขึ้นเท่าไหร่ ระดับอคติหรือ Hindsight Ratio (ค่าที่คิดว่าตนทำได้/ค่าที่ทำได้จริง) ยิ่งสูงตามความยากของการวิเคราะห์

 

Hindsight Bias

 

การลงทุนก็น่าจะจัดได้ว่าเป็นเรื่องที่ยากมากอีกเรื่องหนึ่ง

 

อคติประเภทนี้จึงเป็นคำอธิบายได้ดีว่าทำไมเวลาเรากลับไปอ่านเหตุการณ์วิกฤตตลาดหุ้นย้อนหลัง เราถึงรู้สึกว่าทำไมคนในตลาดตอนนั้นถึงไม่รู้ ทำไมถึงไม่ขายออกมาก่อน แต่ถ้าเป็นเรานะ เราจะรีบขายออกมาตั้งแต่เห็นสัญญาณต่างๆ นู้นนี่แล้ว

 

มองย้อนกลับไป วิกฤตตลาดหุ้นนั้นหลีกหนีได้ง่ายมาก แต่เมื่อเกิดขึ้นในชีวิตจริง กลับมีคนรอดตายมาแค่หยิบมือเดียว

 

ระวังอคติประเภทนี้จะมาทำให้ความระแวดระวังภัยของเราตกต่ำลง เพราะเราคิดว่าตัวเองเก่ง และคาดเดาเหตุการณ์ได้ถูกไปเสียหมดเลย

 

อ้อ

 

ถ้าคุณอ่านถึงตรงนี้แล้วคิดว่าก็รู้หมดอยู่แล้วหนิ ว่าแล้วว่าบทความต้องเขียนแบบนี้ อยากให้ลองย้อนกลับไปทบทวนว่าตอนจะเริ่มอ่าน คุณรู้จริงๆ ไหม หรือคุณแค่คิดไปเองว่าคุณรู้

 

เพราะไม่แน่

 

คุณอาจจะกำลังโดน Hindsight Bias เล่นงานอยู่ก็ได้นะ!

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดี กดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน