เศรษฐศาสตร์ของการปั่นหุ้น : หุ้นตัวนี้จะขึ้น วงในเขาบอกมา!
ในช่วงตลาดขาลง มักมีข้อมูลข่าวสารที่ส่งมาบอกเราเสมอ ๆ ว่านี่คือจุดต่ำสุด นี่คือเวลาที่ควรซื้อ และนี่คือธุรกิจที่ควรลงทุน แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าสัญญาณที่ส่งมาแบบไหนเป็นสัญญาณที่ควรเชื่อและสัญญาณแบบไหนที่ต้องกรองทิ้งไปเพราะเป็นสัญญาณลวงที่ส่งมาเพราะต้องการขายของที่ไม่ดี เราจะประเมินได้อย่างไร คุณไว้ใจได้แค่ไหนกับสัญญาณที่บอกใบ้สั่งให้ซื้อ?
ทฤษฎีสัญญา หรือ contract theory เป็นทฤษฎีที่นำเสนอโดย โอลิเวอร์ ฮาร์ท (Oliver Hart) และ เบงก์ โฮม์มสตรอม (Bengt Holmstrom) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2016 โดยพูดถึงการทำสัญญาหรือการแลกเปลี่ยนกันของตัวแทนสองฝ่าย ในสถานการณ์ที่ตัวแทนเหล่านั้นมีข้อมูลที่ไม่เท่ากัน (asymmetric information) คือ รู้แต่ข้อมูลของตัวเองแต่ไม่รู้ข้อมูลของฝ่ายตรงข้าม ทำให้ฝ่ายที่รู้หรือมีข้อมูลมากกว่าจะเป็นผู้ได้เปรียบ นำไปสู่การเลือกผิด (adverse selection) จากการปกปิดข้อมูล (hidden information)
ได้ของไม่ตรงปก แลกเปลี่ยนกันไม่ตรงความต้องการ
เมื่อต่างฝ่ายต่างมีข้อมูลไม่เท่ากัน โดยรู้เพียงข้อมูลที่ฝ่ายตัวเองมีเพียงเท่านั้น เช่น ผู้บริหารก็จะรู้เพียงว่าธุรกิจเราในเวลานี้เป็นอย่างไร สภาวะภายใน และ อนาคตน่าจะเติบโตหรือกำลังขาลงและเสียหายไปแค่ไหน แต่ไม่รู้ข้อมูลจากฝั่งนักลงทุนว่ามีความสนใจมากน้อยอย่างไร คาดการณ์การเติบโตตลาดเป็นแบบไหน มีความต้องการซื้อไปเพื่ออะไร ระยะสั้นหรือระยะยาว ?
นี่คือเศรษฐศาสตร์ของการปั่นหุ้น การหลอกลวงด้วยข่าวสารที่ไม่เป็นจริง
ในกรณีนี้ผลที่ตามมาคือ หุ้นที่ดีและไม่ดีอาจขายอยูที่ราคาเดียวกันปะปนกัน เพราะนักลงทุนแยกความแตกต่างไม่ได้ ธุรกิจที่ดีก็อาจขายได้ราคาที่ไม่ดีเพราะถูกคู่แข่งทางธุรกิจอื่นที่คุณภาพต่ำกว่าทำให้ราคาในภาพรวมต่ำ และราคาไม่อาจสื่อสารหรือสะท้อนการเติบโตหรือความยั่งยืนทางธุรกิจนั้น ๆ ได้จริง
สัญญาณที่สะท้อนคุณภาพ
การจะแก้ไขการมีข้อมูลไม่เท่ากันนั้น ทางเลือกหนึ่งทำได้โดยการส่งสัญญาณ (signaling) ถ้าเป็นสินค้าหรือบริการที่ดีก็อาจจะส่งสัญญาณด้วยการมีการรับประกัน (warranty) ว่าสามารถซ่อมฟรีได้ หรือ ได้รับเงินชดเชยหากไม่พึงพอใจ เพราะในกรณีสินค้าคุณภาพต่ำจะไม่สามารถรับความเสี่ยงนี้ได้ หรือในกรณีของหุ้น IPO การที่เจ้าของธุรกิจแบ่งสัดส่วนหุ้นเพื่อถือไว้เองอย่างเหมาะสม มูลค่าการซื้อขายทางธุรกิจในช่วงก่อนหน้า สิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาที่ถือครอง กระทั่งสัดส่วนของหนี้ในรายงานทางการเงิน ข้อมูลที่แจ้งต่อสาธารณะชนในการแถลงข่าว สิ่งเหล่านี้ต่างสัญญาณที่ส่งเพื่อบอกนักลงทุนว่ากิจการนี้เป็นกิจการที่ดี น่าลงทุน
จะเชื่อสัญญาณอะไร ?
สัญญาณที่ดีนั้นจะต้องเป็นสัญญาณที่ตรวจสอบได้ว่าจริง มีหลักฐานที่เห็นได้ชัดเจน เป็นสิ่งที่กิจการที่ไม่ดีเลียนแบบได้ยาก เนื่องจากหากจะเลียนแบบต้องใช้เวลา ใช้เงินลงทุน หรือใช้ความพยายามและพลังงานสูงในการสร้างปลอมขึ้นมา
เชื่ออะไรจับต้องได้สำคัญสุด ส่วนพวกข่าววงในก็ให้ลืมไปได้เลย
ดังนั้นเมื่อมีสัญญาณส่งมาแล้วเราจูงใจอยากจะซื้อ (หรือขาย) ให้ตรวจสอบก่อนว่าสิ่งนั้นใกล้เคียงหรือตรงความเป็นจริงเพียงใด สัญญาณในลักษณะนี้ปั้นแต่งขึ้นมาได้ไหม ซื้อหรือจ้างให้ใครสร้างขึ้นมาได้หรือเปล่า และวิเคราะห์เสมอว่าสิ่งนี้จริงแค่ในช่วงเวลาเริ่มต้นระยะสั้นหรือจะเป็นจริงต่อไปในระยะยาวแค่ไหน นักลงทุนที่มีเครื่องรับสัญญาณที่ส่งมาได้ไว ตรวจสอบวิเคราะห์ได้เป็น และแปลความหมายของสัญญาณได้ดี จะมีชัยในการแลกเปลี่ยนซื้อขาย ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :