ธุรกิจ

ธนาคารปิดสาขา จะเกิดผลอะไร

ธนาคารปิดสาขา

ธนาคารปิดสาขา จะเกิดผลอะไร

 

การปิดสาขาของธนาคารถือเป็นอีกเทรนด์หนึ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นค่อนข้างชัดในประเทศไทย ถึงแม้ว่าหลายธนาคารจะทยอยปิดสาขามาเรื่อยๆ ตลอด แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นไปแบบเงียบๆ ไม่ได้ชูเรื่องออกมากับสื่อมากนัก จนกระทั่งธนาคารใหญ่ระดับประเทศธนาคารหนึ่งออกมาแถลงภาพธุรกิจว่าจะมีการเร่งปิดสาขาและทำการกลายร่างไปอยู่บนดิจิตัลมากขึ้น เท่านั้นกระแสของการปิดสาขาธนาคารก็ถูกพัดโหมขึ้นอีกครั้ง คำถามที่น่าสนใจคือธนาคารปิดสาขาแล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

 

การลดสาขาช่วยลดค่าใช้จ่ายของธนาคารได้โดยตรง

 

การมีสาขาของธนาคารถือเป็นค่าใช้จ่ายโดยตรงของบริษัท ทั้งในแง่ของค่าอาคารสถานที่ ค่าแรงพนักงาน ค่าเช่าสถานที่ ค่าสาธารณูปโภค รวมไปถึงค่าใช้จ่ายจิปาถะอีกมากมาย ซึ่งแน่นอนว่าการจะคงสาขาไว้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด สาขานั้นจะต้องสามารถสร้างรายได้ให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายของตัวสาขาเอง ในธุรกิจของธนาคาร ตัวชี้วัดอาจจะอยู่ที่จำนวนยอดเงินฝาก จำนวนยอดสินเชื่อ รวมไปถึงรายได้ค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่สาขาหาได้ อย่างค่าธรรมเนียมการขายประกัน ค่าธรรมเนียมการขายกองทุนรวม เป็นต้น

 

1 ค่าใช้จ่ายมีแนวโน้มลดลง

 

สิ่งแรกที่จะเห็นหลังจากปิดสาขาของธนาคารคือการลดลงของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร แต่ตัวเลขบรรทัดนี้ในบัญชีงบการเงินจะลดลงได้ก็ต่อเมื่อค่าใช้จ่ายที่หายไปจากการลดลงของสาขามากกว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการวางระบบออนไลน์ให้ธนาคาร ระบบไอทีหลังบ้านของธนาคารที่ต้องรองรับธุรกรรมวันละเป็นล้านธุรกรรมก็ถือเป็นการลงทุนที่มากมายมหาศาลไม่ต่างกัน เพียงแต่ค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีลักษณะเป็นต้นทุนคงที่มากกว่า ธนาคารจึงต้องเร่งให้ลูกค้ามาทางแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้นเพื่อสร้างความประหยัดจากขนาดจากการใช้ระบบออนไลน์และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นที่เกิดจากสาขาลง

 

2 รายได้ค่าธรรมเนียมมีแนวโน้มลดลง

 

ถึงแม้ว่าธนาคารจะมีรายได้หลักมาจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่าย แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าค่าธรรมเนียมที่เคยเป็นรายได้อื่นของธนาคารเพิ่มสัดส่วนขึ้นสูงมากจนบางธนาคารมีรายได้ตรงนี้แทบจะเป็นรายได้หลักอยู่แล้ว แน่นอนว่าการย้ายลูกค้ามาอยู่บนออนไลน์มีแนวโน้มส่งผลให้ค่าธรรมเนียมที่เก็บได้ลดลง เพราะธุรกรรมจำนวนมากที่ทำบนออนไลน์มักจะ “ฟรี” หรือ “ถูกลงกว่าทำผ่านสาขา” อย่างล่าสุด การโอนเงินต่างธนาคารผ่านแอพพลิเคชันคิดรายการละ 35 บาท แต่ถ้าไปสาขาจะคิดรายการละ 50 บาท หรืออย่างการโอนเงินจำนวนหลายรายการผ่านธนาคารจะต้องมีค่าธรรมเนียม แต่สำหรับแอพพลิเคชัน โอน 20 รายการค่าธรรมเนียมก็ยังฟรีอยู่ ถึงแม้ว่าเรื่องเหล่านี้จะดูเล็กน้อย แต่ในอนาคต ธนาคารจะถูกบีบทางอ้อมให้เก็บค่าธรรมเนียมลดลงเรื่อยๆ เพราะลูกค้าเป็นผู้ทำธุรกรรมเอง รายได้ตรงนี้ก็มีแนวโน้มค่อยๆ ลดลง

 

3 เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น

 

การที่ลูกค้าเป็นผู้ใช้แอพพลิเคชันออนไลน์กับธนาคารถือเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้โดยตรงและรวดเร็ว ข้อมูลที่ได้ผ่านออนไลน์จำนวนมหาศาลจะสามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลและสื่อสารกับผู้บริโภคได้อย่างตรงประเด็นมากขึ้น ในแง่ของการตลาด การสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ของทางบริษัทย่อมส่งต่อสารได้ตรงประเด็นมากกว่าการสื่อสารผ่านคนที่สาขาอยู่แล้ว การดึงคนมาอยู่ในระบบของธนาคารนานขึ้นย่อมสร้างประสบการณ์และการสื่อสารระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการใช้ดาต้าเพื่อวิเคราะห์รายบุคคล

 

4 รายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นอาจน้อยลง

 

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งเลยว่าสาขาธนาคารถือเป็นช่องทางในการเร่งยอดขายผลิตภัณฑ์อื่นของกิจการธนาคารมาเป็นเวลานาน ทั้งกองทุนรวม ประกัน บัตรเครดิต บัตรเดบิต สินเชื่อ เพราะการกระตุ้นผ่านสาขาทำได้ง่ายโดยสาขาใหญ่ให้เป้าหมายและ KPI กับสาขามา พนักงานสาขาก็ต้องเร่งปิดยอดเพื่อสร้างผลงานและค่าคอมมิชชัน แต่ถ้าทุกคนไปออนไลน์หมด ความสามารถในการเร่งยอดขายตรงก็จะน้อยลงตามสภาพ ถึงแม้ว่าจะอยากขายแต่ธนาคารก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะการขายผ่านออนไลน์จะทำลายสิ่งแวดล้อมดีๆ ที่ธนาคารพยายามดึงคนมาใช้ แนวโน้มการขายสินค้าแบบฟอซเซลล์ก็จะลดลง เปลี่ยนมาเป็นการแนะนำสินค้าแบบเฉพาะบุคคลมากขึ้น ซึ่งก็จะดีกับสิ่งแวดล้อมในการใช้บริการของผู้บริโภคเอง

 

5 ต้นทุนในการย้ายธนาคารจะลดลง

 

สมัยยังไม่มีออนไลน์ สาขาธนาคารถือเป็นข้อได้เปรียบมหาศาลของธนาคาร เพราะประชาชนจำเป็นต้องเบิกถอนเงินสดจากธนาคารเป็นประจำ ในยุคที่ระบบการโอนเงิน การใช้ธนาคารออนไลน์ยังไม่แพร่หลายมาก ผู้บริโภคจำเป็นต้องเลือกใช้บริการหลักจากธนาคารที่มีสาขาใกล้บ้านเพื่อความสะดวกในการทำธุรกรรม หากย้อนกลับไปถามเจ้าของธุรกิจเมื่อยี่สิบสามสิบปีที่แล้วว่าทำไมถึงตัดสินใจเลือกใช้ธนาคารที่ตนใช้อยู่เป็นธนาคารหลัก คำตอบส่วนใหญ่ที่ได้มักเป็นเรื่องทำเลและความสะดวกในการทำธุรกรรมเป็นหลัก แต่ถ้าในอนาคตสาขากลายเป็นเรื่องไม่จำเป็นแล้ว ธนาคารเองก็มีแนวโน้มที่จะแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น เพราะผู้บริโภคสามารถย้ายสังกัดได้อย่างเสรี เดี๋ยวนี้มีแม้กระทั่งการเปิดบัญชีธนาคารออนไลน์ หรือการกดเงินออกจากตู้โดยไม่ต้องใช้บัตรเอทีเอ็ม ระบบออนไลน์จะทำให้ธนาคารที่ปรับตัวช้าค่อยๆ ถูกทิ้งไว้ข้างหลังจากความล้าหลังของเทคโนโลยีซึ่งนำมาสู่ประสบการณ์ที่ย่ำแย่ในการใช้บริการธนาคารออนไลน์

 

การมาของออนไลน์สร้างประโยชน์โดยตรงต่อผู้บริโภค

 

การที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลบริการของแต่ละธนาคารได้ง่ายและย้ายสังกัดได้อย่างสะดวกเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองที่สูงขึ้นตามลำดับ ธนาคารจำเป็นต้องตัดค่าใช้จ่ายที่ไร้ประโยชน์ เพิ่มโปรโมชันและสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้าเพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้าเอาไว้

 

ส่วนตัวผมมองว่าการมาของธนาคารออนไลน์ก็เหมือนการเกิดขึ้นของค้าปลีกออนไลน์ที่จะค่อยๆ ทำลายค้าปลีกออฟไลน์ไปเรื่อยๆ เพียงแต่ธนาคารออนไลน์กับออฟไลน์เป็นบริษัทเดียวกัน ผู้บริโภคจึงไม่ค่อยรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงนัก ทั้งที่ในความเป็นจริง โครงสร้างของการใช้ธุรกรรมการเงินของผู้บริโภคในประเทศไทยนั้นเปลี่ยนแปลงไปไกลมากแล้ว

 

ธนาคารไหนปรับตัวไม่ได้ก็คือปลาที่ว่ายทวนน้ำไม่เป็นนั่นเอง

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน