ธุรกิจ

วิธีการตั้งราคาสินค้า 5 ชั้น : กลยุทธ์ที่พ่อค้าแม่ค้าไม่ควรพลาด!

วิธีการตั้งราคาสินค้า

วิธีการตั้งราคาสินค้า 5 ชั้น : กลยุทธ์ที่พ่อค้าแม่ค้าไม่ควรพลาด!

 

กลยุทธ์การตั้งราคาสินค้าแบบ 5 ชั้น เป็นการต่อยอดความรู้ด้านบัญชีการเงิน และบัญชีบริหาร มาใช้ในชีวิตการทำธุรกิจจริง ถึงแม้จะฟังดูยากและซับซ้อน แต่ก็ถือว่าวิธีการทำไม่ยากเลย ในบทความนี้ ลงทุนศาสตร์จะมาสอนตั้งราคาสินค้าโดยละเอียด แบบที่ว่าอ่านจบก็สามารถนำไปตั้งราคาสินค้าของตัวเองได้เลย

 

เริ่มต้นด้วยการแบ่งต้นทุนออกเป็น ต้นทุนผันแปร และ ต้นทุนคงที่

 

ต้นทุนผันแปร คือ ต้นทุนที่เปลี่ยนไปตามจำนวนสินค้า หรือบริการที่ขาย เช่น ราคาวัตถุดิบ ราคาสินค้าที่รับซื้อมา ราคาค่าบรรจุภัณฑ์ ราคาค่าจัดส่ง ค่าคอมมิชชัน เป็นต้น

 

ต้นทุนคงที่ คือ ต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปน้อยตามจำนวนสินค้า เรียกสมมติง่าย ๆ ว่า ขายดีหรือไม่ดีก็ต้องจ่ายเท่าเดิม เช่น ค่าแรงงาน ค่าลิขสิทธิ์ ค่าเช่าที่ ค่าเสื่อมราคาอาคาร ค่าเสื่อมราคาอุปกรณ์ ค่าตัดจำหน่าย ค่าโฆษณาสินค้า เป็นต้น

 

ยกตัวอย่าง ร้านสินค้าออนไลน์แห่งหนึ่ง มีค่าใช้จ่ายดังนี้

 

ค่าเสื้อตัวละ 100 บาท
ค่าบรรจุภัณฑ์ 20 บาท / เสื้อ 1 ตัว
ค่าจัดส่ง 30 บาท / เสื้อ 1 ตัว
ค่าแรงงานรวม 30,000 บาท / เดือน
ค่าเช่าสำนักงาน 10,000 บาท / เดือน
ค่าเสื่อมอุปกรณ์ 5,000 บาท / เดือน
ค่าโฆษณาประชามสัมพันธ์ 15,000 บาท / เดือน

 

จากตัวอย่าง เราจะสามารแบ่งได้ คือ ต้นทุนผันแปร 150 บาท / เสื้อ 1 ตัว และต้นทุนคงที่ 60,000 บาท / เดือน

 

ขั้นต่อไป คือ ตั้งเป้าหมายว่าจะขายสินค้าให้ได้เท่าไหร่ต่อเดือน เป้าหมายตรงนี้ควรจะเป็นเป้าหมายที่เราคาดว่าจะทำได้จริง และสมเหตุสมผล ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไป

 

สมมติในตัวอย่าง ให้กำหนดเป้าหมายว่าจะขายได้เดือนละ 600 ตัว

 

ต้นทุนคงที่ 60,000 บาท / เดือน จะถูกกระจายออกมาในต้นทุนสินค้าตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้ เช่นในกรณีนี้ เสื้อจะมีต้นทุนคงที่อีกตัวละ 100 บาท

 

สรุป ต้นทุนผันแปร 150 บาท และ ต้นทุนคงที่ 100 บาท ในกรณีที่ขายได้ตามเป้าหมาย 600 ตัวต่อเดือน และกำหนดว่า เราต้องการกำไรจากการขายเสื้ออีกตัวละ 50 บาท

 

1 ราคาก่อนหักโปรโมชัน

 

ราคาก่อนหักโปรโมชัน คือ ต้นทุนผันแปร + ต้นทุนคงที่ + กำไรที่ต้องการ + ส่วนรอหักโปรโมชัน

 

สมมติ เราคิดว่าจะออกโปรโมชันสูงสุดเป็นส่วนลดไม่เกิน 20% เราก็สามารถตั้งราคาได้ดังนี้

 

ราคาก่อนหักโปรโมชัน = 150 + 100 + 50 + 75 = 375 บาท

 

ราคานี้มีไว้บอกเป็นราคาแรก ราคาสูงสุด ลดแล้วก็ยังได้กำไรตามที่ต้องการ

 

2 ราคาขายที่แท้จริง

 

ราคาขายที่แท้จริง = ต้นทุนผันแปร + ต้นทุนคงที่ + กำไรที่ต้องการ

 

ราคาขายที่แท้จริง = 150 + 100 + 50 = 300 บาท

 

ราคานี้มีไว้ขายหลังหักส่วนลดทุกอย่างแล้ว หากเราขายได้ในราคานี้ แปลว่าเราจะยังได้กำไรที่ต้องการ เราควรควบคุมราคาขายไม่ได้ต่ำกว่าราคานี้

 

3 ราคาขายที่ได้กำไรน้อย

 

ราคาขายที่ได้กำไรน้อย = ต้นทุนผันแปร + ต้นทุนคงที่ + กำไรที่ต้องการแต่ปรับลดลง

 

ราคาขายที่ได้กำไรน้อย = 150 + 100 + 25 = 275 บาท

 

ราคานี้มีไว้ขายในกรณีเราเห็นยอดขายว่าอาจจะทำไม่ได้ตามเป้า ซึ่งอาจจะทำให้ต้นทุนคงที่ที่วางไว้กินเนื้อได้เพราะขายไม่ถึงเป้า (ในเชิงกระแสเงินสด) เราจึงอาจต้องยอมลดราคาลง เพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยยินยอมที่จะได้กำไรลดลง

 

4 ราคาทุน

 

ราคาทุน = ต้นทุนผันแปร + ต้นทุนคงที่

 

ราคาขายที่ได้กำไรน้อย = 150 + 100 = 250 บาท

 

ราคานี้คือราคาต้นทุนที่แท้จริง ในกรณีที่จำเป็นต้องขาย การขายราคานี้จะทำให้เราทราบว่าไม่ขาดทุนแน่ เช่น เราขายเบเกอรี่แล้วใกล้หมดอายุ เราอาจจะลดมาขายเหลือราคาทุน คือไม่เอากำไรเลย แต่ก็ยังไม่กินเนื้อ

 

5 ราคาทุน หลังขายได้ถึงเป้าแล้ว

 

ราคาทุน = ต้นทุนผันแปร

 

ราคาขายที่ได้กำไรน้อย = 150 บาท

 

ในกรณีที่ยอดขายทำได้ตามเป้าแล้ว เปรียบเสมือนต้นทุนคงที่ถูกกระจายออกไปชดเชยหมดแล้ว ยอดขายส่วนเพิ่มในเดือนนั้นจึงเปรียบเสมือนมีแต่ต้นทุนผันแปร ราคานี้จะทำให้เราทำโปรโมชันได้ในช่วงที่ขายได้เยอะมาก ๆ รวมไปถึงทำให้คำนวณกำไรที่ถูกต้องได้แม่นยำขึ้นด้วย

 

วิธีตั้งราคาสินค้าแบบ 5 ขั้น ถือว่าเป็นประโยชน์มาก เพราะสามารถปรับราคาได้กับหลายสถานการณ์ ในเป็นพ่อค้าแม่ค้า อย่าลืมนำไปประยุกต์ใช้กันดู

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน