KONAMI อุตสาหกรรมเปลี่ยนไว ปรับตัวอย่างไรให้รอด
[อดีตอันแสนหวานของเหล่าเกมเมอร์ สู่รุ่งอรุณของการขยับมาธุรกิจตู้เกมปาจิงโกะและเกมมือถือที่ต้องปรับเพื่ออยู่รอด]
KONAMI นับเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตคอนเทนต์เกมที่มีชื่อเสียงของทางฟากฝั่งประเทศญี่ปุ่นและวงการเกมระดับโลก ที่ได้ฝากผลงานเกมไว้ให้แก่ชาวเกมเมอร์ทั้งวัยเด็กและผู้ใหญ่มากมาย
โดยค่ายเกม KONAMI เอง ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เกมที่มีชื่อเสียงดังๆ อย่างเกมวางระเบิดอย่าง Bomberman ,เกมยิงดึงจออย่าง Contra , เกมฟุตบอล Pro Evolution Soccer (PES) หรือที่เรารู้จักกันอย่างดีในชื่อของเกมวินนิ่ง (Winning Eleven) , เกมการ์ด และอนิเมะอย่าง Yu-Gi-Oh , เกม RPG อย่าง Castlevania , เกมจีบสาวอย่าง Love Plus , เกมสยองสุดลึกลับอย่าง Silent Hill , Metal Gear เกมสายลับลอบเร้นในตำนาน อันเป็นผลงานแจ้งเกิดแก่ตำนานนักพัฒนาเกมของโลกผู้ผนวกเรื่องศาสตร์และศิลป์การเล่าเรื่องอันแยบคายและการคุมโทนอารมณ์โทนเกมอย่างน่าประทับใจจนถูกขนานนามว่าเป็นมหาเทพนักออกแบบเกม อย่างคุณ ฮิเดโอะ โคจิม่า
โดยช่วงเวลาในยุค 1990 ถึงช่วง 2000 นับว่าเป็นปีที่ธุรกิจเกมของทาง KONAMI ดังเป็นพลุแตกมาก ส่วนหนึ่งเพราะมีการออกจำหน่ายเกมในเครื่องเล่นคอนโซลและเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วย แม้ภายในยุคนั้นเองจะเผชิญกับเรื่องปัญหาเกมเถื่อนแพร่ระบายอย่างหนักมาก โดยบริษัท KONAMI เองก็สามารถยืนหยัดได้จนถึงปัจจุบัน
แต่กระนั้นแล้วจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดสำหรับลูกค้าสายเกมเมอร์เดนตายของบริษัท KONAMI เอง ก็ได้เริ่มต้นขึ้นตอนช่วงราวทศวรรษ 2010 เป็นต้นมา ที่เกมหลายเกมที่อยู่ยั่งยืนยงกับทาง KONAMI เริ่มไม่ได้รับการพัฒนาต่อ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เลย ว่าตัวเกมบางเกมอาจไม่ก่อให้เกิดรายได้และผลประกอบการที่น่าประทับใจได้เพียงพอ ซึ่งในงบกำไรขาดทุนของบริษัทนอกจากจะมีรายได้จากการดำเนินงานแยกตาม Business Segment แล้ว ก็ได้มีรายได้กับรายจ่ายหมวดหนึ่งเพิ่มเข้ามาด้วยนั่นคือ หมวด Elimination อันเกิดจากการขายทอดหรือยุบแผนกที่ไม่ทำเงินออกไปนั่นเอง แม้ในมุมมองของเกมเมอร์เรื่องแบบนี้จะเป็นเรื่องที่น่าเศร้า แต่สิ่งเหล่านี้เองกลับเป็นปกติวิสัยของโลกแห่งทุนนิยมที่เราทั้งหลายคงต้องยอมรับโดยดุษฎีครับ
KONAMI มีงบการเงินย้อนหลังดังนี้ครับ
ปี 2016
รายได้ : 249.9 พันล้านเยน
กำไรจากการดำเนินงาน : 24.7 พันล้านเยน (Operating Margin : 9.88%)
กำไรสุทธิ : 10.5 พันล้านเยน (Net Profit Margin : 4.20%)
ปี 2017
รายได้ : 229.9 พันล้านเยน
กำไรจากการดำเนินงาน : 36.7 พันล้านเยน (Operating Margin : 15.83%)
กำไรสุทธิ : 26.0 พันล้านเยน (Net Profit Margin : 11.31%)
ปี 2018
รายได้ : 238.5 พันล้านเยน
กำไรจากการดำเนินงาน : 45.2 พันล้านเยน (Operating Margin : 18.87%)
กำไรสุทธิ : 30.5 พันล้านเยน (Net Profit Margin : 12.73%)
ปี 2019
รายได้ : 262.5 พันล้านเยน
กำไรจากการดำเนินงาน : 50.5 พันล้านเยน (Operating Margin : 19.24%)
กำไรสุทธิ : 34.2 พันล้านเยน (Net Profit Margin : 13.03%)
ปี 2020
รายได้ : 262.8 พันล้านเยน
กำไรจากการดำเนินงาน : 31.0 พันล้านเยน (Operating Margin : 11.80%)
กำไรสุทธิ : 19.9 พันล้านเยน (Net Profit Margin : 7.57%)
นอกจากธุรกิจหมวดเกม (Digital Entertainment) แล้ว KONAMI เองก็มีหมวดธุรกิจอื่นในเครือด้วย ได้แก่ ธุรกิจบริการสันทนาการ (Amusement) , ธุรกิจให้การดูแลระบบเกม (Gaming & Systems) , ธุรกิจการกีฬา (Sports)
ต่อไปนี้เรามาลงลึกเกี่ยวกับ Business Segment เพื่อความเข้าใจกันดีกว่าครับ
ธุรกิจหมวดเกม (Digital Entertainment) : เป็นการจำหน่ายซอฟแวร์เกมดิจิทอลทั้งในคอมพิวเตอร์ มือถือ และเครื่องเกมต่างๆ รวมถึงธุรกิจการ์ดเกมด้วย โดยธุรกิจนี้มี Operating Margin เฉลี่ยอยู่ที่ 25-30 %
[คิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 51% ของรายได้รวม]
ธุรกิจการกีฬา (Sports) : ให้บริการสถานที่ออกกำลังกาย และคอร์สออกกำลังกายแก่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและบำรุงร่างกายอีกด้วย เป็นธุรกิจที่ออกมาสอดรับ Aging Society ของทางฟากฝั่งประเทศญี่ปุ่น รวมถึงสอดรับการให้ประสบการณ์นอกจากการเล่นเกม ธุรกิจนี้มี Operating Margin เฉลี่ยอยู่ที่ 3.5-6.1 %
[คิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 26% ของรายได้รวม]
ธุรกิจบริการสันทนาการ (Amusement) : เป็นการจัดจำหน่ายเครื่องเกมตู้ปาจิงโกะ และเครื่องเกมหยอดเหรียญอื่นๆ ธุรกิจนี้มี Operating Margin เฉลี่ยอยู่ที่ 23-24 %
[คิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 10.6% ของรายได้รวม]
ธุรกิจให้การดูแลระบบเกม (Gaming & Systems) : เป็นธุรกิจที่ให้รายได้แบบสม่ำเสมอ หรือมี Recurring Income จากการให้การบำรุงดูแลระบบหลังบ้านของเครื่องเล่นคาสิโนรวมถึงเรื่องข้อมูล DATA ต่างๆ อันเป็นไขสันหลังของคาสิโน โดยให้บริการครอบคลุมในภูมิภาคแถบยุโรปและอเมริกา ธุรกิจนี้มี Operating Margin เฉลี่ยอยู่ที่ 13-16 %
[คิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 12.4% ของรายได้รวม]
แม้ช่วงปี 2020 ไวรัส COVID19 จะได้ทำให้ธุรกิจหลายธุรกิจต้องปรับตัวขนานใหญ่แล้ว แต่ด้วยสายตาของผมในฐานะนักลงทุนและเป็นเกมเมอร์ด้วย ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะของบริษัทตั้งแต่ช่วงปี 2016 เป็นต้นมาแล้วครับ จากการที่ทางค่ายเองเริ่มไม่ได้พัฒนาเกมที่เป็นเรือธงแบบจัดเต็มเหมือนเมื่อก่อน และประสบกับวิกฤติพนักงานที่เป็นมันสมองของบริษัทลาออกอันเป็นที่ถกเถียงกันในเรื่องบรรษัทภิบาลอีกด้วย
แต่กระนั้นแล้วภายหลังจากเมฆหมอกแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ทางค่ายก็ได้ปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจหมวด Digital Entertainment โดยเน้นเกมที่อาศัยไม่หนักมากอย่างเกม PES , YU-GI-OH รวมถึงเกม Casual เข้าถึงง่ายหลากเกม โดยอาศัยการใช้ Microtransaction หรือระบบเติมเงินซื้อของในเกมมากขึ้น แทนการผลิตเกมใหญ่ๆ เกมหนึ่งมาแล้วซื้อราคาเต็มนั่นเอง
การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2016 นี้ส่งผลให้กำไรสุทธิของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยจะเห็นได้จากการมีอัตราการทำกำไรสุทธิขยับเพิ่มจากหลักเดียวเป็นสองหลัก รวมถึงตัวเลขกำไรสุทธิที่โตเพิ่มขึ้นเท่าตัว ถึงจะไร้เกมเรือธงแล้วแต่การขยับมาได้ถึงขนาดนี้นับว่าบริษัทสามารถปรับแผนที่ดีครับ ดีจนแม้จะพบกับปีที่มี COVID บริษัทเองก็สามารถทำผลตอบแทนได้มากกว่าเมื่อครั้นสมัยปี 2016 อันเป็นยุคก่อนด้วย
โดยจากที่ผมได้กล่าวมาข้างต้นนี้ มีทั้งเรื่องที่น่าเศร้าของทางฟากฝั่งของเกมเมอร์ และความน่ายินดีของนักลงทุนที่เชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่มองเห็นความเป็นไปได้และตลาดที่มีศักยภาพ หากมองจากช่วงเวลาอันเป็นปัจจุบันนี้ คงต้องสารภาพอย่างตรงไปตรงมาว่า ทุกสิ่งที่บริษัทได้ทำเป็นทรัพยากรณ์อันทรงคุณค่าที่ประเมินค่ามิได้ของทาง KONAMI ที่ได้ให้กำเนิดและฟูมฟักอาณาจักรเกมของเขาให้มายิ่งใหญ่มา
แม้จะผ่านการศูนย์เสียบางสิ่งมาบ้างในแง่ความรู้สึกของแฟนเก่า แต่กระนั้นแล้ว หากเรามองคุณค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์การเงินแล้ว อาจคุ้มค่าก็ได้อย่างน้อยก็ในมุมมองของบริษัทที่ต้องทำงานสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น รวมถึงการเสิร์ฟผลงานในการสร้างประสบการณ์ดีๆ ให้แก่ผู้เล่นหน้าใหม่(และหน้าเก่าที่ยอมเปิดใจ) ด้วยนั่นเองครับ
ยาวหน่อย แต่ถ้าคุณชอบ ผมก็ดีใจครับ
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
แหล่งข้อมูล
Financial Highlights – KONAMI HOLDINGS CORPORATION
Financial Results Presentation Materials – KONAMI HOLDINGS CORPORATION
Company Profile – KONAMI HOLDINGS CORPORATION
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :