ธุรกิจ

สรุปข้อมูลบริษัท TravelSky : ผูกขาดแล้วดีจริงหรือ?

สรุปข้อมูลบริษัท TravelSky

สรุปข้อมูลบริษัท TravelSky : ผูกขาดแล้วดีจริงหรือ?

 

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บริษัทสักแห่งมีความแข็งแกร่งกว่าผู้อื่น คือเรื่องของความผูกขาด หมายถึงอะไรสักอย่างที่ทำให้ลูกค้าต้องพึ่งพาบริการของเราเพียงรายเดียวเท่านั้น ไม่สามารถไปหาสินค้าหรือบริการแบบเดียวกันจากคู่แข่งรายอื่นได้

 

ยิ่งบริษัทใดมีความผูกขาดที่แข็งแกร่งมากพอ ก็ย่อมหมายถึงรายได้และผลกำไรที่เติบโตได้ดีกว่าบริษัทอื่นๆ หรืออาจถึงขั้นไม่มีใครมาแข่งขันได้

 

แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง การผูกขาดนี้มันอาจส่งผลเสียกว่าที่คิดเมื่อบริษัทต้องเผชิญกับเหตุไม่คาดฝันในระดับอุตสาหกรรมโดยรวม เหมือนที่เกิดขึ้นกับบริษัท TravelSky

 

 

 

TravelSky คือบริษัทรับจองตั๋วเครื่องบินยักษ์ใหญ่สัญชาติจีน ที่มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจไม่น้อย

 

เพราะบริษัทใหญ่ระดับโลกส่วนมาก มักจะเป็นบริษัทจากภาคเอกชน เต็มไปด้วยผู้ก่อตั้งซึ่งสร้างแรงบันดาลใจมากมาย อย่าง Apple ที่มี Steve Jobs เป็นผู้นำ หรือ Tesla ที่มี Elon Musk เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรม

 

แต่สำหรับ TravelSky นั้นเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่คือองค์กรของรัฐบาล แต่ก็ยังสามารถแข่งขันจนกลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของโลกได้

 

จุดเริ่มต้มของ TravelSky เกิดขึ้นจากหน่วยงานการบินของรัฐบาลจีนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ในช่วงที่อุตสาหกรรมการบินของจีนกำลังเติบโต

 

อย่างที่ทุกคนรู้ ประเทศจีนเป็นดินแดนที่กว้างใหญ่ไพศาล การเดินทางที่รวดเร็วและสะดวกที่สุดก็คงหนีไม่พ้นการเดินทางด้วยเครื่องบิน ระบบการจองตั๋วเครื่องบินของ TravelSky จึงเป็นการเชื่อมระหว่างสายการบินและลูกค้าให้เดินทางได้สะดวกมากขึ้น

 

จนถึงจุดหนึ่ง TravelSky ก็ผันตัวเองเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2001 พอถึงปี 2010 บริษัทก็ได้จัดการจองตั๋วเครื่องบินให้กับลูกค้าไปแล้วถึง 137 ล้านที่นั่งภายในปีเดียว

 

และล่าสุด TravelSky ได้กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ากิจการกว่า 40,000 ล้านหยวน หรือคิดเป็นเงินไทยเกือบ 2 แสนล้านบาท พร้อมกับจำนวนที่นั่งที่บริษัทได้จัดการจองตั๋วเครื่องบินให้กับลูกค้าเกือบ 700 ล้านที่นั่งเลยทีเดียว

 

 

 

งบการเงิน TravelSky

 

ปี 2017
รายได้ 6,734 ล้านหยวน
ค่าใช้จ่าย 4,485 ล้านหยวน
กำไรสุทธิ 2,249 ล้านหยวน

 

ปี 2018
รายได้ 7,472 ล้านหยวน
ค่าใช้จ่าย 5,147 ล้านหยวน
กำไรสุทธิ 2,325 ล้านหยวน

 

ปี 2019
รายได้ 8,122 ล้านหยวน
ค่าใช้จ่าย 5,579 ล้านหยวน
กำไรสุทธิ 2,543 ล้านหยวน

 

 

จะเรียกว่า TravelSky เป็นผู้ผูกขาดในอุตสาหกรรมการจองตั๋วเครื่องบินในประเทศจีนก็ว่าได้ เพราะเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจนี้ก่อนใคร เป็นรายใหญ่ ทำให้มีคู่แข่งเข้ามาได้ยากมาก

 

ซึ่งราคาหุ้นก็ดูจะรับรู้ข้อได้เปรียบนี้ ด้วยการที่ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นสม่ำเสมอนับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2001 ราคาหุ้นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1 ดอลลาร์ฮ่องกง (ไม่ใช่สกุลเงินหยวน เพราะจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง) ไปทำจุดสูงสุดที่เกือบ 25 ดอลลาร์ฮ่องกงเมื่อปี 2018

 

แต่เพราะขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นนี้เอง ทำให้บริษัทเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอกับการเติบโตที่ช้าลง จนราคาหุ้นเริ่มจะชะลอตัวลงในช่วงหนึ่งถึงสองปีล่าสุด

 

และอีกสาเหตุหนึ่งก็คือ รายได้ส่วนใหญ่ของ TravelSky มาจากธุรกิจสายการบินในประเทศ จากจำนวนที่นั่งกว่า 700 ล้านที่นั่งที่บริษัทจัดการจองตั๋วเครื่องบินให้เมื่อปี 2019 มีกว่า 80% ทีเดียวที่เป็นเที่ยวบินภายในประเทศ

 

ในขณะที่เที่ยวบินไปต่างประเทศ บริษัทยังไม่สามารถทำได้ดีนัก

 

และความผูกขาดในอุตสาหกรรมการบินจีนก็ใช่ว่าจะไม่มีวันเจอกับอุปสรรค เพราะจากสถานกาณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา หลายคนก็ได้เห็นแล้วว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบินต้องล้มหายตายจากไปเป็นแถบๆ แน่นอนว่า TravelSky ก็ออกมายอมรับว่าได้รับผลกระทบ เพียงแต่ว่าจะกระทบต่อรายได้และผลกำไรมากน้อยแค่ไหน นี่คือสิ่งที่เราต้องติดตามต่อ

 

ความผูกขาด อาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้บริษัทเติบโตและแข็งแกร่งกว่าคู่แข่ง

 

แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ความผูกขาดนี้อาจหมายถึงบริษัทพึ่งพิงความได้เปรียบเพียงอย่างเดียวที่บริษัทมีอยู่ก็ได้

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

รายการอ้างอิง
Chinese ‘Big Three’ warn again of first-half earnings hit, despite traffic recovery : flightglobal.com
2019 Annual Result : media.travelskyir.com
งบการเงิน TravelSky : finance.yahoo.com

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน