เศรษฐกิจ

ประวัติศาสตร์การซื้ออลาสกาจากรัสเซียของสหรัฐอเมริกา

ประวัติศาสตร์การซื้ออลาสกาจากรัสเซียของสหรัฐอเมริกา

ประวัติศาสตร์การซื้ออลาสกาจากรัสเซียของสหรัฐอเมริกา

 

สหรัฐอเมริกาได้ซื้ออลาสกามาจากรัสเซียในปีค.ศ.1867 โดยอลาสกาเป็นพื้นที่บริเวณปลายสุดด้านตะวันตกเฉียงเหนือของฝั่งอเมริกาเหนือ มีขนาดกว้างถึง 1,518,800 ตารางกิโลเมตร [1] ใหญ่กว่ารัฐเท็กซัสถึง 2 เท่า [2] แต่พื้นที่ดังกล่าวกลับถูกมองว่าไร้ประโยชน์ การซื้อขายดินแดนถูกโจมตีอย่างหนัก แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะซื้ออลาสกามาจากรัสเซียด้วยราคาเพียง 7.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเท่ากับว่าที่ดินดังกล่าวมีราคาเพียงเอเคอร์ละ 2 เซนต์  [3] อย่างไรก็ตาม การค้นพบทองที่ยูคอนในปีค.ศ. 1896 ได้เปลี่ยนให้อลาสกากลายเป็นปากทางไปสู่การขุดทอง [4] และกลายเป็นดินแดนแห่งความรุ่งเรืองที่สร้างรายได้มหาศาลให้แก่สหรัฐอเมริกาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน [5]

 

ดินแดนอลาสกาถูกค้นพบโดยนักเดินทางชาวรัสเซียในปีค.ศ.1741 และเริ่มถูกครอบครองโดยรัสเซียตั้งแต่ปีค.ศ.1784 [6] โดยในขณะนั้น รัสเซียมีความต้องการล่าอาณานิคมในดินแดนฝั่งตะวันออก ทั้งเพื่อจุดประสงค์ทางการค้าขายและการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายรัสเซียนออร์โธดอกซ์ รวมถึงการเรียกเก็บภาษีและทรัพยากรจากประเทศที่ตกเป็นอาณานิคม [7] การครอบครองอลาสกาของรัสเซียเป็นไปเพื่อการทำธุรกิจมากกว่าการตั้งถิ่นฐาน โดยเริ่มมีการจัดตั้งการค้าขนสัตว์ในปีค.ศ.1781 และมีการจัดตั้งบริษัท Russian American Company ในปีค.ศ. 1799 [8]

 

อย่างไรก็ตาม การควบคุมอลาสกาซึ่งเป็นดินแดนใต้อาณานิคมนั้นมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งระยะห่างระหว่างเมืองหลวงของรัสเซียและอลาสกาที่ทำให้การสื่อสารระหว่างกันเป็นไปด้วยความยากลำบาก จำนวนชาวรัสเซียที่อยู่อาศัยในอลาสกามีไม่ถึง 800 คน และสภาพภูมิอากาศหนาวเย็นติดลบที่เป็นอุปสรรคต่อการเพาะปลูก จากสถานการณ์ในขณะนั้น นอกจากอลาสกาจะกลายเป็นดินแดนที่ไม่ทำกำไรให้รัสเซียอีกต่อไปแล้ว ยังเสี่ยงต่อการถูกรุกรานจากประเทศอังกฤษ ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้รัสเซียเริ่มทบทวนถึงความคุ้มค่าในการครอบครองอลาสกาต่อไป ในขณะที่กำลังประสบปัญหาทางการเงินจากการพ่ายแพ้ในสงครามไครเมีย [7]

 

ในที่สุด รัสเซียตัดสินใจเสนอขายอลาสกาให้แก่สหรัฐอเมริกาในปีค.ศ. 1859 แต่การเจรจาซื้อขายถูกชะลอไปเนื่องจากสงครามเย็น [4] จนกระทั่งวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1867 วิลเลียม เอช. ซูเวิร์ด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ได้ตกลงซื้ออลาสกามาจากรัสเซีย [9] การซื้อขายครั้งนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนัก สื่อในอเมริกาลงข่าวเสียดสีว่าอลาสกาเป็นความโง่เขลาของซูเวิร์ด และเป็นสวนหมีขั้วโลกของจอห์นสัน [2] ในขณะเดียวกัน ชาวรัสเซียต่างไม่พอใจที่อลาสกาถูกขายไป เนื่องด้วยรัสเซียได้ทุ่มเทพัฒนาอลาสกามาอย่างยาวนาน และยังมีการขุดพบเหมืองทองที่อลาสกาแล้ว [10]

 

และในที่สุด การค้นพบทองที่แม่น้ำคลอนไดค์ในรัฐยูคอน แคนาดาในปีค.ศ.1896  ก็กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ภาพลักษณ์ของอลาสกาในสายตาชาวอเมริกันเปลี่ยนไป [2] ผู้คนมากมายเดินทางมาที่อลาสกาเพื่อเริ่มต้นขุดทอง อลาสกาเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1959 อลาสกาได้รับการประกาศให้เป็นรัฐที่ 49 ของสหรัฐอเมริกา และเป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา [6]

 

ปัจจุบันนี้ อลาสกามีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา โดยอาหารทะเลร้อยละ 50 และน้ำมันดิบร้อยละ 25 ของสหรัฐอเมริกามีที่มาจากอลาสกา [2] ข้อมูลในปีค.ศ.2020 ชี้ให้เห็นว่า อลาสกาสร้างมูลค่าการส่งออกให้สหรัฐมากถึง 2.40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงภาษีการค้ามากถึง 1.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ [5] นับเป็นการพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า การตัดสินใจซื้ออลาสกามาจากรัสเซียไม่ใช่การกระทำที่โง่เขลา แต่เป็นการซื้อขายดินแดนที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

รายการอ้างอิง

[1] Encyclopaedia Britannica. (October 24, 2019). Alaska Purchase. Retrieved from https://www.britannica.com/event/Alaska-Purchase

[2] HISTORY. (October 16, 2020). U.S. takes possession of Alaska. Retrieved from https://www.history.com/this-day-in-history/u-s-takes-possession-of-alaska

[3] Greenspan, J. (March 24, 2020). Why the Purchase of Alaska Was Far From ‘Folly’. Retrieved from https://www.history.com/news/why-the-purchase-of-alaska-was-far-from-folly

[4] Office of the Historian, Foreign Service Institute United States Department of State. (April 8, 2018). Purchase of Alaska, 1867: MILESTONES: 1866–1898. Retrieved from https://history.state.gov/milestones/1866-1898/alaska-purchase

[5] Feeding the Economy . (2020). 2020- Fact Sheet- Feeding the Economy, 2019. Retrieved from https://goodstone.guerrillaeconomics.net/reports/219edb83-c46b-4c82-b542-716f06c31ae9

[6] HISTORY. (January 2, 2020). Alaska admitted into Union. Retrieved from https://www.history.com/this-day-in-history/alaska-admitted-into-union

[7] William L. Iggiagruk Hensley. (March 29, 2017). There Are Two Versions of the Story of How the U.S. Purchased Alaska From Russia. Retrieved from https://www.smithsonianmag.com/history/why-russia-gave-alaska-americas-gateway-arctic-180962714/

[8] Encyclopædia Britannica. (February 09, 2018). Russian-American Company. Retrieved from https://www.britannica.com/topic/Russian-American-Company

[9] HISTORY. (May 13, 2020). U.S. purchase of Alaska ridiculed as “Seward’s Folly”.  Retrieved from https://www.history.com/this-day-in-history/sewards-folly

[10] Manaev, G. (April 21, 2014). Why did Russia sell Alaska to the United States?. Retrieved from www.rbth.com/arts/2014/04/20/why_did_russia_sell_alaska_to_the_united_states_36061. html

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน