สงครามโลกครั้งที่ 2 และภาวะเงินเฟ้อที่หนักหน่วงที่สุดของไทย
ย้อนกลับไปในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปีพ.ศ. 2484 – 2488 ภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2484 – 2487) และนายควง อภัยวงศ์ (พ.ศ. 2487-2488) [1] สภาวะเศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในสภาพระส่ำระสายและประสบกับภาวะเงินเฟ้อครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีสาเหตุสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ปัญหาทางด้านงบประมาณที่รายจ่ายสูงกว่ารายได้ ปัญหาการลดค่าของเงินบาท และปัญหาการใช้จ่ายของกองทัพญี่ปุ่นในไทย และการค้าของญี่ปุ่นในไทย [2; น.280-295] ดังจะได้กล่าวถึงต่อไปนี้
ภาวะสงครามส่งผลให้ประเทศไทยมีงบประมาณรายจ่ายสูงกว่ารายได้ เนื่องจากไทยได้ตกลงร่วมรบกับญี่ปุ่น จึงต้องลงทุนใช้จ่ายทางการทหารมากกว่าภาวะปกติ นอกจากนี้ ไทยยังสูญเสียรายได้ในการขายสินค้าเกษตรกรรม ทั้งจากภาวะสงครามและมหาอุทกภัยในปีพ.ศ. 2485 [3] รายจ่ายในช่วงปีพ.ศ. 2484-2487 มีสูงกว่ารายได้เรียงตามลำดับ ได้แก่ ปีพ.ศ.2484 รายจ่ายสูงกว่ารายได้ 37,347,262 บาท ปีพ.ศ. 2485 56,556,949 บาท ปีพ.ศ.2486 72,322,192 บาท และปีพ.ศ.2487 สูงถึง 96,317,839 บาท [2; น.281]
รายจ่ายที่สูงกว่ารายได้ส่งผลให้รัฐบาลต้องแก้ปัญหาโดยการนำเงินคงคลังมาใช้จ่าย รวมถึงกู้เงินสาธารณะเพื่อใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้เพื่อชาติในพ.ศ. 2485 (พันธบัตรทองคำ) [4] หรือเงินกู้จากธนาคารแห่งประเทศไทยตามกฎหมายพระราชบัญญัติเงินตราในภาวะฉุกเฉิน พ.ศ. 2484 ซึ่งนับเป็นการพิมพ์ธนบัตรออกมาให้รัฐบาลใช้จ่าย การกู้เงินและพิมพ์ธนบัตรเพื่อใช้จ่ายไปเรื่อยๆ นับเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ค่าเงินตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง [2; น.281-282]
ต่อมา ปัญหาการลดค่าของเงินบาทเท่ากับเงินเยนเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ก่อนการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยได้ผูกค่าเงินบาทไว้กับค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงของสหราชอาณาจักรมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2475 แต่การผูกมิตรกับญี่ปุ่นในการสงครามส่งผลให้ไทยต้องเปลี่ยนมาผูกค่าเงินบาทไว้กับเงินเยน โดยผูกค่าเงินบาทให้เท่ากับเงินเยน ทั้งที่ในขณะนั้นเงินบาทไทยมีอัตราเปรียบเทียบเท่ากับ 100 บาทต่อ 155.70 เยน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ส่งผลให้ค่าเงินบาทไทยลดลงมากถึงร้อยละ 36 [5]
ประการสุดท้ายที่ก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อในไทย ได้แก่ การใช้จ่ายของกองทัพญี่ปุ่นในไทย และการค้าของญี่ปุ่นในไทย กองทัพญี่ปุ่นที่เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยได้ทำการเบิกค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อใช้ในการสงคราม ตัวอย่างเช่น ในเดือนมกราคม-มิถุนายน พ.ศ.2488 ญี่ปุ่นขอเบิกเงินจากรัฐบาลไทยมากถึง 420 ล้านบาท และเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม พ.ศ.2488 ญี่ปุ่นได้ขอเบิกเงินอีก 700 ล้านบาท [7]
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทให้เท่ากับเงินเยนยังส่งผลสืบเนื่องให้ธนาคารไทยต้องคอยจัดเตรียมเงินบาทเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินเยนของทางญี่ปุ่น ในขณะนั้น เมื่อเงินไทยถูกลงเท่ากับเงินญี่ปุ่น ส่งผลให้ญี่ปุ่นซื้อสินค้าจากไทยเป็นจำนวนมาก เท่ากับว่าเงินเยนที่หมุนเวียนในตลาดมีมาก แต่ในทางกลับกัน ไทยแทบจะไม่ได้ซื้อสินค้าจากญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นทุ่มเทผลิตอาวุธสำหรับการสงคราม และการขนส่งสินค้าจากญี่ปุ่นมาที่ไทยยังทำได้ยากลำบาก การค้าของญี่ปุ่นในสมัยนั้นมีส่วนอย่างมากที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องออกธนบัตรเพิ่ม ส่งผลให้ค่าเงินบาทลดลง [2; น.286-289]
จำนวนเงินบาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ปริมาณสินค้าในประเทศกลับลดน้อยลง เพราะต้องแบ่งจำหน่ายให้แก่กองทัพญี่ปุ่น ปัจจัยดังกล่าวนี้ส่งผลให้ค่าครองชีพและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปีพ.ศ. 2484 ดัชนีค่าครองชีพอยู่ที่ 139.90 แต่ในปีพ.ศ. 2488 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของสงคราม ดัชนีค่าครองชีพพุ่งสูงไปถึง 1,069.54 โดยในปีพ.ศ. 2488 นี้ ราคาน้ำตาลทรายขาวสูงกว่าปีพ.ศ. 2480-2483 มากถึง 39 เท่า และราคาผ้าฝ้ายเพิ่มสูงขึ้นถึง 29 เท่า [8]
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยเผชิญกับความยากลำบากในการบริหารเศรษฐกิจภายในประเทศ ภาวะสงครามส่งผลให้ประเทศไทยมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ทั้งยังบีบคั้นให้ไทยต้องเปลี่ยนแปลงสกุลเงิน นำไปสู่การแลกเปลี่ยนค่าเงินที่เสียเปรียบ และก่อให้เกิดการออกธนบัตรเพิ่มไม่หยุด ส่งผลให้ค่าครองชีพและค่าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็ว จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่านโยบายการคลังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ หากรัฐบาลออกนโยบายโดยขาดการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน อาจส่งผลให้ประเทศต้องประสบกับภาวะเงินเฟ้อ และต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจที่อาจลุกลามบานปลายที่ยากจะแก้ไขได้ในที่สุด
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
รายการอ้างอิง
[1] อรรถสิทธิ์ พานแก้ว. (2559). หลวงโกวิทอภัยวงศ์. สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=หลวงโกวิทอภัยวงศ์
[2] อุบล จิระสวัสดิ์. (2517). สภาวะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทย ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นจาก http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/19151
[3] MGR Online. (14 พฤศจิกายน 2554). พลิกประวัติศาสตร์น้ำท่วม 2485: ฉันเห็นอุทกภัย (ตอนที่ 1). สืบค้นจาก https://mgronline.com/onlinesection/detail/9540000144734
[4] ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2558). พันธบัตรเงินกู้ พ.ศ. 2485 (พันธบัตรทองคำ). สืบค้นจาก https://www.bot.or.th/Thai/DebtSecurities/Information/SamplePictures/Pages/GovtGoldBond2485.aspx
[5] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ. (3 กันยายน 2563). ภาวะเงินเฟ้อกับชีวิตคนไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/09/404
[6] ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2559). บันทึกเรื่องเงินค่าใช้จ่ายเพื่อการทหารญี่ปุ่น งวดมกราคม-มิถุนายน 2488. สืบค้นจาก https://www.botlc.or.th/item/archive_item/00000134720
[7] ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2559). เงินค่าใช้จ่ายเพื่อการทหารญี่ปุ่น งวดเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2488. สืบค้นจาก https://www.botlc.or.th/item/archive_item/00000134721
[8] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ. (4 สิงหาคม 2563). สงครามโลกครั้งที่ 2 กับสภาวะเงินเฟ้อ. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/08/367
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :