การเงิน

เราควรมี “ เงินสำรองฉุกเฉิน ” เท่าไหร่ดี ?

เงินสำรองฉุกเฉิน

เงินสำรองฉุกเฉิน คือ เงินที่เราทุกคนควรมีสำรองไว้ในกรณีฉุกเฉิน เงินก้อนนี้ควรเก็บไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง พร้อมเบิกถอนได้ตลอดเวลา เช่น เงินฝากออมทรัพย์ไม่ประจำ เงินฝากไม่ประจำดอกเบี้ยสูง กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น เราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันอยู่เสมอ

 

เราควรมีเงินสำรองฉุกเฉินเท่าไหร่ดี ?

 

เงินสำรองฉุกเฉินควรจะมีไว้ในปริมาณที่เหมาะสม หากมีน้อยไป เราอาจจะไม่สามารถใช้จ่ายได้อย่างเพียงพอในช่วงคับขันได้ แต่หากมีมากไป เงินสภาพคล่องสูง ผลตอบแทนต่ำนี้ จะไปลดภาพรวมของผลตอบแทนการลงทุนของเราได้ ยกตัวอย่าง เราควรจะนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น เช่น หุ้น กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ มากกว่านี้ แต่พอมากองไว้ในเงินฉุกเฉินหมด ผลตอบแทนของเราก็ลดลง

 

เราควรมีเงินสำรองฉุกเฉิน สำหรับใช้เพียงพอ 6 – 12 เดือน หากเราไม่มีรายได้กะทันหัน

 

เงินสำรองฉุกเฉินมักจะเก็บไว้ในกรณีที่ขาดรายได้กะทันหัน เช่น ตกงาน (พนักงานประจำ) งานลดลงอย่างมาก (พนักงานไม่ประจำ) ธุรกิจขาดสภาพคล่อง (เจ้าของธุรกิจ) โดยเงินก้อนนี้ ควรจะทำให้เรายังมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ อย่างน้อย 6 – 12 เดือน โดยคาดว่าในเวลาเท่านี้ เราจะสามารถหางานใหม่ได้ ก่อนที่จะต้องเริ่มถอนเงินเก็บก้อนอื่นมาใช้

 

เงิน 6 – 12 เดือน อาจจะตีจากรายได้ หรือรายจ่ายก็ได้

 

หากจะคิดแบบง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน เราอาจจะเลือกใช้ รายได้ปัจจุบันของเรา คูณ 6 – 12 เดือนให้เป็นจำนวนเงินได้เลย แต่ถ้าอยากคิดขึ้นให้ละเอียดหน่อย เราอาจจะคำนวณจะรายจ่ายที่คาดว่าจะต้องใช้โดยตรงของเราเลยก็ได้ การคำนวณจากรายจ่ายจะได้ตัวเลขที่ชัดเจนกว่า และน่าเชื่อถือมากกว่า

 

อย่ามองภาพที่ตัวเราคนเดียว

 

หลายครั้ง เงินของเราไม่ได้เลี้ยงดูแต่ตัวเราเองเท่านั้น หากเราเป็นเสาหลักของครอบครัว จำเป็นต้องส่งเงินให้คู่รัก ลูกหลาน หรือพ่อแม่ บุพการีด้วย เราอย่าลืมคำนวณค่าใช้จ่ายของคนอื่น ลงไปในเงินสำรองฉุกเฉินของเราด้วย ไม่เช่นนั้น หากเกิดปัญหาจริง เราอาจจะมีเงินไม่พอใช้ได้

 

เราจะเก็บกี่เดือนขึ้นกับความเสี่ยงของการตกงาน

 

ตัวเลข 6 – 12 เดือน ถือว่าค่อนข้างกว้าง เราจะเลือก 6 หรือเท่าไหร่ ไล่ไปจนถึง 12 ก็ขึ้นอยู่กับ ความเสี่ยงของการตกงานของเรา ถ้างานเรามั่นคงแน่นอนมาก เช่น งานราชการ งานองค์กรขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนมั่นคง เราอาจจะเลือกตัวเลข 6 หรือ 9 เดือน ก็สามารถทำได้ แต่หากงานเรามั่นคงน้อย เช่น ฟรีแลนซ์ งานขายที่มีรายได้จากค่าคอมมิชชั่นเป็นหลัก เราอาจเลือกใช้ตัวเลข 12 เดือนแทน เพื่อให้เหมาะสมกับความเสี่ยงของตนเองได้

 

สุดท้าย เงินสำรองฉุกเฉินเป็นเรื่องสำคัญมาก การไม่มีเงินเก็บพร้อมใช้เลยจะทำให้เราตกอยู่ในภาวะลำบากอย่างมาก เมื่อเจอเหตุไม่คาดฝัน และแน่นอนว่า เหตุไม่คาดฝันก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน