การเงิน

ไขประเด็น ตอน ทำไมผู้หญิงจึงมีรายได้น้อยกว่า (Netflix)

ไขประเด็น ตอน ทำไมผู้หญิงจึงมีรายได้น้อยกว่า (Netflix)

ไขประเด็น ตอน ทำไมผู้หญิงจึงมีรายได้น้อยกว่า (Netflix)

 

ช่องว่างระหว่างรายได้ของผู้หญิงและผู้ชาย เป็นเรื่องที่ชวนให้ถกเถียง หาคำตอบ และหาหนทางแก้ไขกันมาอย่างยาวนาน แต่เพราะสาเหตุใดกัน เพศ จึงกลายมาเป็นสาเหตุหลักของช่องว่างระหว่างรายได้ของคนๆหนึ่ง สารคดีเรื่องนี้จะพาเรามาไขคำตอบของเรื่องนี้กัน

 

ในโปแลนด์ผู้หญิงได้ค่าจ้าง 91 เซ็นต์ อิสราเอล 81 เซ็นต์ เกาหลีใต้ 65 เซ็นต์ ในงานที่ผู้ชายได้ค่าจ้าง 1 ดอลลาร์ โดยรวมแล้ว ช่องว่างระหว่างรายได้ของผู้หญิงกับผู้ชายอยู่ที่ราว 60% ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ปัจจัยเหล่านี้เกิดจากหลากหลายสาเหตุ ย้อนกลับไปในอดีต ผู้หญิงไม่ค่อยได้รับการศึกษาที่ดีเมื่อเทียบกับผู้ชาย อัตราการศึกษาของผู้หญิงจึงต่ำกว่า, ปริมาณผู้หญิงที่เลือกทำงานนอกบ้านนั้นมีน้อยกว่าผู้ชาย, การจำกัดกลุ่มประเภทงานของผู้หญิง, การเลือกปฏิบัตินั้นเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ทำให้ผู้ว่าจ้างสามารถเสนองานให้กับผู้ชายเท่านั้นได้ ยังไม่นับรวมถึงบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมจำนวนมากที่เกี่ยวกับบทบาทและความถนัดของแต่ละเพศ แต่หลังจากนั้นไม่กี่ทศวรรษ อะไรๆก็เปลี่ยนไป เกิดการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงในหลายๆประเทศ ผู้หญิงเริ่มได้รับโอกาสในการศึกษามากขึ้น ได้ทำงานในตำแหน่งสำคัญมากกว่าเดิม ได้ทำงานในสายงานที่ไม่เคยให้โอกาสผู้หญิงได้ทำ และได้ก้าวออกมาสู่แนวหน้าของแต่ละสายงานมากขึ้น ปัจจัยต่างๆส่งผลให้ช่องว่างระหว่างรายได้ลดลง แต่สิ่งเดียวที่ยังทำให้ผู้หญิงนั้นยังไม่ได้รับโอกาสและค่าแรงเท่ากับผู้ชายนั้นก็คือ…พวกเธอต้องให้กำเนิดลูก

 

ผู้หญิงถูกตีกรอบให้เป็นผู้ดูแลหลักเมื่อเธอมีลูก แม้ผู้หญิงจะได้เป็นแพทย์ ทนายความ นักบินอวกาศ หรือแม้กระทั่งผู้นำประเทศแล้ว แต่ความคาดหวังของสังคมที่มีต่อบทบาทหน้าที่ความเป็นแม่ของผู้หญิงก็ยังมีอยู่ ความคิดที่ว่าเมื่อคุณเป็นแม่คนคุณก็ไม่ควรอยู่ในที่ทำงานเกิดขึ้นแทบในทุกประเทศทั่วโลก และแม้ผู้หญิงจะทำงานนอกบ้านเต็มเวลาขนาดไหน เมื่อกลับถึงบ้าน งานบ้านต่างๆและการดูแลลูกก็ยังเป็นหน้าที่ของพวกเธออยู่ดี ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถทุ่มเทให้กับทุกโอกาสในการทำงานได้เหมือนกับผู้ชาย เหตุใดการเป็นแม่จึงทำให้พวกเธอสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัว? พอจะมีหนทางใดที่จะแก้ไขเรื่องราวเหล่านี้ได้ไหม?

 

มีสองประเทศที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ประเทศแรกคือรวันดา ก่อนหน้านี้ไม่กี่สิบปีผู้หญิงถูกปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานบางอย่าง ผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้พูดในที่สาธารณะ ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วไม่สามารถเปิดบัญชีธนาคารได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากสามี แต่หลังจากการสังหารหมู่เมื่อปี 1994 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป หลังเหตุการณ์รุนแรง ประชากรทั้งหมดของรวันดาที่เหลืออยู่เป็นผู้หญิง 60-70% เหตุการณ์นี้ได้ทำลายโครงสร้างทางสังคมเดิมทั้งหมด การขาดแคลนผู้ชายทำให้ผู้หญิงได้ก้าวเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก แทบทุกสายอาชีพที่ก่อนหน้านั้นเพียงปีเดียวไม่เคยมีผู้หญิงทำ มีการแก้นโยบายใหม่จำนวนมากที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีอำนาจมากขึ้นทัดเทียมกับผู้ชาย ปัจจุบันรวันดาเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะทำงานนอกบ้านเท่ากับผู้ชาย การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมเรื่องเพศนี้เริ่มต้นจากความพยายามอยู่รอดหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่เพราะนโยบายที่จริงจังรวันดาจึงสามารถอุดช่องว่างได้อย่างยั่งยืน

 

อีกประเทศที่สามารถทำได้สำเร็จคือไอซ์แลนด์ จุดเปลี่ยนแรกเกิดจากการชุมนุมครั้งใหญ่เพื่อต่อต้านช่องว่างรายได้ระหว่างเพศเมื่อปี 1975 ห้าปีหลังการประท้วง ไอซ์แลนด์เลือกตั้งได้ประธานาธิบดีหญิงจากระบอบประชาธิปไตยคนแรกของโลก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายในหลายๆปีต่อมา และพวกเขาก็ทำสิ่งที่ค้านกับบรรทัดฐานทางเพศในอดีตอย่างสุดโต่ง คือการให้สิทธิลาคลอดกับคนเป็นพ่อด้วย สิ่งนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของผู้ชายในไอซ์แลนด์ไปอย่าสิ้นเชิง การเลี้ยงลูกไม่ใช่หน้าที่ของคนเป็นแม่อย่างเดียวอีกต่อไป และทำให้นายจ้างรู้ว่าไม่ว่าจะจ้างแรงงานเพศใดพวกเขาก็มีสิทธิที่จะลาคลอด ทำให้ช่องว่างรายได้ระหว่างเพศในไอซ์แลนด์ลดลงจนเกือบจะเท่ากันในปัจจุบัน

 

ดังนั้นนี่จึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เราได้รู้ว่าการลดช่องว่างระหว่างรายได้นั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นแค่ฝันหรือไกลเกินเอื้อม แต่อาจจะต้องอาศัยการผลักดันกฎหมายที่เข้มแข็ง การวางแผนของภาครัฐในเชิงนโยบาย และการเปลี่ยนแปลงทัศนคติทางเพศในระดับสังคม รวมไปถึงการไม่ตีกรอบหน้าที่ของบุคคลในครอบครัว ให้โอกาสทุกเพศได้เลือกหน้าที่ของตนอย่างเท่าเทียม

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน