EV/EBITDA หรือ Enterprise Multiple (Enterprise Value Per EBITDA) เป็นตัวเลขที่แสดงถึงมูลค่าความถูกแพงของกิจการ โดย Enterprise Multiple จัดเป็นการประเมินมูลค่าแบบสัมพัทธ์ (relative valuation) หมายถึงตัวเลขที่ได้เป็นตัวเลขเชิงเปรียบเทียบ อัตราส่วนนี้สามารถใช้เปรียบเทียบคร่าวๆ กับหุ้นตัวอื่นว่าหุ้นตัวใดถูกกว่ากัน
สูตรการประเมินมูลค่าหุ้นด้วย Enterprise Multiple
Enterprise Multiple = (Market Capitalization + Debt)/(Earning Before Interest and Tax + Depreciation + Amortization)
ยกตัวอย่างเช่น หุ้น PUNN มีหุ้นจดทะเบียนที่ชำระแล้วจำนวนทั้งหมด 200,000,000 หุ้น ราคาหุ้นปัจจุบันอยู่ที่ 8 บาท กิจการมีหนี้สินทั้งหมด 20 ล้านบาท กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี 50 ล้าน ค่าเสื่อมราคา 70 ล้าน ค่าตัดจำหน่าย 30 ล้านบาท
คำนวณประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธี Enterprise Multiple
คำนวณ Market Capitalization = หุ้นจดทะเบียนที่ชำระแล้ว x ราคาหุ้น = 200,000,000 x 8 = 1,600,000,000 บาท
คำนวณ Enterprise Value = Market Capitalization + Debt = 1,600m + 20m = 1,620 ล้านบาท
(สูตรการคำนวณ Enterprise Value มีหลากหลาย ระดับเบื้องต้นใช้สูตรดังแสดงข้างบน)
คำนวณ EBITDA = EBIT + Depreciation + Amortization = 50 + 70 + 30 = 150 ล้านบาท
Enterprise Multiple = Enterprise Value/EBITDA = 1,620/150 = 10.8 เท่า
ตัวเลขของ Enterprise Multiple ที่ได้มาจะนำมาใช้เชิงเปรียบเทียบ เช่น Enterprise Multiple 10 เท่า แพงกว่า Enterprise Multiple 2 เท่า แต่ถูกกว่า Enterprise Multiple 15 เท่า แต่ตัวเลข Enterprise Multiple ที่เหมาะสมจะเป็นเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
โดยทั่วไป Enterprise Multiple ควรจะมีค่าใกล้เคียงกว่าอุตสาหกรรม
Enterprise Multiple มีลักษณะคล้าย PE แต่มีการปรับปรุงรายการให้ Earning หรือกำไรสุทธิ ไปเป็น EBITDA หรือกำไรจากการดำเนินงานบวกกลับด้วยค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Enterprise Multiple ถูกนำมาใช้คือการต้องการประเมินมูลค่าหุ้นที่ยังมีผลขาดทุน แต่ EBITDA เป็นบวก และในอีกกรณีหนึ่งคืออุตสาหกรรมที่ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายมีผลต่อกำไรมาก โดยเฉพาะการเปรียบเทียบกับกิจการที่ต่างประเทศซึ่งมักจะมีนโยบายทางบัญชีที่มีการคิดค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายแตกต่างกัน
วิธี Enterprise Multiple เหมาะกับหุ้นที่สัดส่วนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อกำไรหรือค่าใช้จ่ายรวมค่อนข้างเยอะ ยกตัวอย่างเช่น หุ้นกลุ่มที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรจำนวนมาก เช่น หุ้นโทรคมนาคม หุ้นโรงแรม หุ้นโรงพยาบาล หุ้นท่าอากาศยาน เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น หุ้นโทรคมนาคม ADVANC มีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อค่าใช้จ่ายรวมสูงถึง 25% หุ้นค้าปลีก CPALL มีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อค่าใช้จ่ายรวมอยู่ในสัดส่วนแค่เพียง 2.5% เท่านั้น ดังนั้น หุ้นอย่าง ADVANC จึงเหมาะกับการประเมินมูลค่าด้วยวิธี Enterprise Multiple มากกว่า CPALL
ยกตัวอย่างหุ้น ERW ในปี 2557
ข้อมูลพื้นฐาน EBITDA เท่ากับ 940 ล้านบาท และค่าเฉลี่ย EV/EBITDA ของธุรกิจโรงแรมโลกอยู่ที่ 12 เท่า
คำนวณมูลค่ากิจการ = Enterprise Multiple เฉลี่ย x EBITDA = 11,280 ล้านบาท
ณ สิ้นปี 2557 หุ้น ERW มีมูลค่ากิจการตามราคาตลาดอยู่ที่ 11,501 ล้านบาท ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับมูลค่าพื้นฐานของกิจการที่คำนวณได้จากวิธี Enterprise Multiple
***ตัวอย่างข้างต้นนี้เป็นการแสดงตัวอย่างในการคำนวณการประเมินมูลค่าเบื้องต้นเท่านั้น ไม่สามารถใช้ในการแนะนำการซื้อถือขายได้ การคำนวณดังกล่าวใช้เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษา และใช้ข้อมูลที่เกิดขึ้นในอดีตแล้วเท่านั้น***
EV/EBITDA เป็นวิธีที่อาจจะไม่ใช่วิธีทีแรกที่นักลงทุนนึกถึงเมื่อประเมินมูลค่า เพราะวิธี PE มักจะเป็นที่นิยมมากกว่า แต่วิธีนี้จะมีประโยชน์เมื่อค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเข้ามามีผลต่อกิจการและกำไรค่อนข้างมาก ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีมากสำหรับการประเมินมูลค่ากิจการที่กำลังอยู่ใกล้ช่วงจุดคุ้มทุนหรือ Breakeven Point
รวมบทความชุดสอนมือใหม่ประเมินมูลค่าหุ้น
2 Price per Booked Value ratio