การลงทุน

ทำอย่างไรเมื่อวิธี VI ไม่ได้ผล

ทำอย่างไรเมื่อวิธี VI ไม่ได้ผล

ปี 2018 อาจจะถือได้ว่าเป็นปีที่ยากลำบากมากสำหรับนักลงทุนหลายคน โดยเฉพาะนักลงทุนแนวพื้นฐานที่เน้นหุ้นขนาดเล็กถึงกลางที่ในช่วงปี 2018 ให้ผลตอบแทนไม่ค่อยสวยงามเลย จนหลายคนออกมาบ่นบ้าง ปรามาสบ้าง ด่าทอบ้างว่าวิธี VI นั้นสิ้นหวังแล้ว คำถามคือแล้วเราต้อง… ทำอย่างไรเมื่อวิธี VI ไม่ได้ผล ?

 

ก่อนอื่นต้องมาคุยประเด็นเรื่องแนวคิดของ VI หรือ Value Investing ก่อนว่าหมายถึงอะไร VI หรือการลงทุนแนวเน้นคุณค่า หมายถึง การซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน และนี่คือหัวใจหลักเพียงหนึ่งเดียวของการเป็นวีไอ

 

ทำอย่างไรเมื่อวิธี VI ไม่ได้ผล ?

 

1 ทบทวนการวัดผลการลงทุน

 

ลองกลับมานั่งดูพอร์ตและผลงานของตัวเองอย่างจริงจังว่าวิธีการวัดผลของเรายุติธรรมแล้วหรือยัง สมเหตุสมผลแล้วหรือยัง เช่น คำนวณ NAV อย่างถูกต้องตามหลักการ , ใช้ช่วงเวลาที่ยาวนานพอในการวัดผล เช่น ใช้ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนระยะ 3 – 5 ปี ไม่ใช้ผลตอบแทนเพียงปีเดียวที่สั้นเกินไป , เทียบกับตัวชี้วัดอย่างสมเหตุสมผล เช่น เปรียบเทียบกับผลตอบแทนตลาด ผลตอบแทนกองทุนดัชนี ไม่ได้ตั้งเป้าหมายแบบเลื่อนลอย เช่น อยากได้ผลตอบแทน 20% ทุกปี (ซึ่งอาจจะยากเกินไป)

 

2 ทบทวนวินัยการลงทุน

 

หากวัดผลแล้วว่าผลตอบแทนแย่จริง ลงทุนแบบวีไอมา 3 – 5 ปี แต่ยังแพ้ตลาดแบบต่อเนื่อง คำถามต่อไปคือ เรามีวินัยในการลงทุนแบบวีไอจริงหรือเปล่า? หลายคนบอกว่าตัวเองเป็นวีไอ แต่ไม่เคยประเมินมูลค่ามาก่อนเลย ไม่เคยมองภาพกิจการ ไม่เคยวิเคราะห์งบการเงินจริงจัง ไม่เคยวิเคราะห์การเติบโตของกำไรในอนาคตเลย แค่เห็นว่าตัวไหนแนวโน้มธุรกิจน่าจะดี กำไรโตดีก็ซัดเลย แบบนี้ต้องปรับที่วินัยด้านการลงทุนก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประเมินมูลค่าหุ้นก่อนลงทุน ที่ถือเป็นหัวใจของวีไอเลย

 

3 ทบทวนความรู้ด้านการลงทุน

 

หากวินัยการลงทุนครบถ้วน คำถามต่อไปที่ต้องคิดคือ ความรู้ในการลงทุนของเรามากพอหรือเปล่า ถึงแม้ว่าแนวคิดจะถูก วิธีการจะถูก แต่ถ้าองค์ความรู้ในสมองผิด ข้อมูลที่ใส่เข้าไปเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ก็อาจจะผิดก็ได้ ตรงนี้ต้องกลับมาย้อนดูพื้นฐานตนเองแล้วว่า เข้าใจการประเมินมูลค่าจริงไหม วิเคราะห์ธุรกิจเป็นไหม ตีความงบการเงินออกจริงไหม ตรงนี้คิดย้อนอดีตได้เลยว่าหุ้นที่เราเคยวิเคราะห์ให้ผลลัพธ์ตามที่เราคิดหรือไม่ ที่ผ่านมาเราคิดวิเคราะห์วางแผนแล้วผลออกมาตรงหรือเปล่า

 

4 ทบทวนกรอบระยะเวลาการลงทุน

 

หากทุกอย่างถูกต้องหมด คำถามที่ต้องคิดต่อไปคือเราให้เวลากับการลงทุนน้อยหรือเปล่า อย่างที่ชาลี มังเกอร์เคยกล่าวไว้ว่า เงินก้อนใหญ่จากการลงทุน ไม่ได้มาจากการซื้อขาย แต่มาจากการรอคอย หากสนใจอยากลงทุนแบบวีไอจริง เราได้ให้เวลาหลักการวิธีการพิสูจน์ตนเองได้เพียงพอหรือเปล่า หลายคนบอกหุ้นพื้นฐานดี ราคาถูก แต่ซื้อมา 3 เดือน ราคาไม่ขึ้นก็บ่นเสียแล้ว ทั้งที่ความจริง ตลาดหุ้นอาจจะต้องการเวลาในการสะท้อนมูลค่ามากกว่านั้นมาก

 

5 ทบทวนปรัชญาการลงทุนที่แท้จริงของตนเอง

 

ผมพูดเสมอว่าโดยแท้แล้ว เราอาจจะไม่ใช่คนเลือกปรัชญาการลงทุน แต่ตัวตนของเรามีปรัชญาการลงทุนที่เหมาะสมตั้งแต่ต้นแล้วต่างหาก หลายคนอาจจะไม่เชื่อถือในมุมมองของวีไอเลย ไม่ศรัทธาว่าหุ้นมีมูลค่าพื้นฐานอยู่จริง แบบนี้อาจจะเดินทางในเส้นทางนี้ยาก ถ้าทำทุกอย่างดีแล้วสมบูรณ์แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ผลลัพธ์ที่เหมาะสม เราก็อาจจะไม่เหมาะกับเส้นทางสายนี้จริงๆ แบบนี้ก็อาจจะลองมองหาปรัชญาการลงทุนแบบอื่น

 

ยึดติดกับหลักการตามตำราให้น้อย แต่ปรับตัวเรียนรู้จากประสบการณ์และการทดลองจริงให้มาก โลกหมุนไปทุกวัน คงไม่มีตำราวีไอเล่มไหนสมบูรณ์แบบและใช้ได้ตลอด สิ่งสำคัญที่สุดคือเข้าใจแก่นแท้ของวีไอ ส่วนที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องสร้างตำราของเราขึ้นมาในหัวของเราเอง

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน