การลงทุน

หุ้นนี้ควร PE เท่าไหร่

หุ้นนี้ควร PE เท่าไหร่

หุ้นนี้ควร PE เท่าไหร่

 

วิธีการประเมินมูลค่าหุ้นที่เรียบง่ายที่สุด คือ PE หรือ Price per Earning Ratio หลักการ คือ หาค่า PE ที่เหมาะสมมาคูณเข้ากับกำไรสุทธิ เราก็จะได้มูลค่าของกิจการที่เหมาะสมแล้ว สิ่งที่ยากกลับกลายมาเป็นตัวแปรที่เหลือเพียงแค่ 2 ตัว โดยเฉพาะ PE ว่า หุ้นแบบนี้ควรมี PE เท่าไหร่กันแน่ โดยเฉพาะมือใหม่ที่มักจะตั้งคำถามว่า เราจะไปหาค่า PE ที่เหมาะสมมาได้จากที่ไหนกัน

 

ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่า วิธีการหา PE ที่เหมาะสมมีหลากหลายมาก ตั้งแต่พิจารณาจาก Earning Gap พิสูจน์มาจาก DDM ใช้วิธี Earning Power Value แต่วิธีที่จะมาบอกเล่าในบทความนี้จะเป็นสิ่งที่ใช้ได้ง่ายในตลาดหุ้นจริง แต่อาจจะต้องฝึกฝีมือสักหน่อย

 

PE ของหุ้นขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัย

 

1 อุตสาหกรรม

 

PE ของอุตสาหกรรมมักจะเป็นตัวตั้งต้นของ PE ของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง โดยทั่วไป PE ของหุ้นจะไม่แตกต่างจาก PE ของอุตสาหกรรมมาก นักลงทุนทั่ว ๆ ไป มักจะเริ่มต้นตั้งค่า PE ของอุตสาหกรรมมาก่อน แล้วค่อยปรับเพิ่มบวกลบให้เหมาะสมกับหุ้นแต่ละตัว ที่ PE ของหุ้น ควรใกล้เคียงกับ PE ของอุตสาหกรรมก็เพราะว่า ธุรกิจที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ควรมีมูลค่าเชิงเปรียบเทียบใกล้เคียงกัน ระวังว่า หลายครั้งค่าเฉลี่ย PE ของอุตสาหกรรมเองก็อาจจะผิดปรกติก็ได้ เราสามารถแก้ไขได้โดยย้อนกลับไปดูข้อมูลในอดีต เลือกช่วงที่ PE ของอุตสาหกรรมค่อนข้างนิ่งและสมเหตุสมผล หรือไม่ก็เทียบเคียงจากอุตสาหกรรมลักษณะใกล้เคียงกันจากตลาดหุ้นต่างประเทศ

 

2 คุณภาพบริษัท

 

คุณภาพบริษัทเป็นตัวกำหนดว่า PE ของหุ้นควรจะมีค่ามากกว่า เท่ากับ หรือน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม  เช่น ถ้าหุ้นแข็งแกร่งมาก เราอาจยอมซื้อที่แพงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมได้ โดยความแข็งแกร่งของหุ้นก็ต้องไปดูที่พื้นฐานกิจการ ทั้งในเชิงคุณภาพ ปริมาณ และผู้บริหาร แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระวัง คือ ค่าเฉลี่ย PE ของอุตสาหกรรมมักจะเอนเอียงไปทางหุ้นแข็งแกร่งอยู่แล้ว เพราะหุ้นแข็งแกร่งมักมีขนาดใหญ่ ถ่วงน้ำหนักในค่าเฉลี่ย PE มาก ดังนั้น หากบริษัทแข็งแกร่งกว่าผู้นำตลาดจริง อาจเพิ่ม PE ให้ได้ไม่มาก แต่ถ้าแย่กว่าผู้นำตลาด ควรปรับลด PE ได้ค่อนข้างเยอะ

 

3 การเติบโตของบริษัท

 

การเติบโตในที่นี้หมายถึงการเติบโตของกำไรสุทธิในช่วง 3 – 5 ปีข้างหน้า จุดนี้มีความสำคัญสูงมาก ๆ เพราะจะสามารถเปลี่ยนแปลง Trailing PE ให้สูงหรือต่ำผิดปรกติได้มาก ๆ หลักการพื้นฐานอาจจะนำ PEG มาใช้ โดยซื้อขายหุ้นที่ PE ไม่เกินอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิในช่วง 3 – 5 ปีข้างหน้า เช่น ถ้าหุ้นจะเติบโต 15% ไป 5 ปี แบบนี้ PE ที่เหมาะสมจะประมาณ 15 เท่า แต่อย่างไรก็ตาม หากหุ้นอยู่ในอุตสาหกรรมที่ดีมาก เราอาจจะยอมซื้อหุ้นที่ PEG > 1 เท่าก็ได้ แต่โดยทั่วไปแล้วไม่ควรเกินค่าเฉลี่ยของ PE อุตสาหกรรม / 10 เช่น ค่าเฉลี่ย PE อุตสาหกรรมอยู่ที่ 20 เท่า เราไม่ควรเกินซื้อหุ้นที่เกิน 2 PEG

 

4 PE ในอดีตของหุ้นเอง

 

ในกรณีที่บริษัทเป็นบริษัทที่มีลักษณะโดดเด่นมาก หาจุดเทียบเคียงยาก นักลงทุนจำนวนมากนิยมเอา PE ของหุ้นในอดีตมาเป็นบรรทัดฐาน วิธีนี้ก็สามารถทำได้ แต่จะเหมาะสมกับหุ้นที่ผ่านช่วงเติบโตมาแล้ว เพราะอย่างที่บอกไปข้างต้น การเติบโตของกำไรในอนาคตจะทำให้ตัวเลข PE เพี้ยนได้ การมองหาค่า PE ในอดีตจึงอาจจะเพี้ยนไป เพราะก็ถูกตัวแปรด้านการเติบโตมามีผลร่วมด้วยเช่นกัน ดังนั้น แนะนำให้ใช้ PE ในอดีตสำหรับหุ้นที่เติบโตค่อนข้างน้อยหรือปานกลางมานานแล้ว

 

สุดท้ายนี้การคิด PE ไม่มีสูตรสำเร็จว่า ต้องแทนค่าเท่าโน้นเท่านี้แล้วจะได้ PE ที่เหมาะสม (ความจริงก็หาสูตรแบบนั้นมาให้ได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วมันไม่มีประโยชน์) สุดท้ายการประเมินมูลค่าด้วย PE ค่อนข้างใช้ศิลปะและประสบการณ์สูง แต่ก็เป็นวิธีที่หาเงินได้ง่าย หากเทียบกับวิธีการประเมินมูลค่าแบบอื่น ๆ

 

วิธีที่แนะนำที่สุด คือ ตั้งจากการเติบโตของบริษัท หาจุดที่ PEG = 1 เท่าก่อน หลังจากนั้นค่อยมาพิจารณาสภาพอุตสาหกรรม แล้วตัดสินใจว่าจะยอมซื้อที่กี่เท่าของ PEG ต่อไป

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน