ถือว่าเป็นที่ฮือฮาพอสมควรที่โคคาโคล่า หรือโค้ก เจ้าตลาดน้ำอัดลมโลก และเจ้าตลาดน้ำอัดลมไทยลุกมาเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ครั้งใหญ่ในปี 2017 โดยเริ่มต้นจาก Coke Zero ( โค้กซีโร่ ) เป็นอันดับแรกที่แปลงกลายเป็น Coke Zero Sugar สูตรรักสุขภาพ และปรับโฉมกระเป๋าใหม่จากสีดำล้วน กลายเป็นดำคาดแดง พร้อมแปะสัญลักษณ์ Nutrition Choice
เหตุผลมีแค่ต้องการปรับภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์จริงหรือ?
สำหรับคนทั่วไป การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจจะไม่น่าสนใจเท่าไหร่นัก เพราะโค้กเองก็ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์อยู่บ่อยครั้ง แต่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ การเปลี่ยนแปลงนี้ถือว่าน่าสนใจมากๆ ทีเดียว
เหตุเกิดมาจากกระแสต่อต้านแอสปาร์แตม (Aspartame) สารให้ความหวานในช่วงต้นปี 2017
ในช่วงต้นปี 2017 Canadian Medical Association Journal ได้ตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ชื่อว่า Nonnutritive sweeteners and cardiometabolic health: a systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials and prospective cohort studies ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถกดค้นหาชื่อดังกล่าวในกูเกิ้ลและงานวิจัยฉบับเต็มเผยแพร่ให้ได้อ่านฟรี
งานวิจัยดังกล่าวพูดถึงคุณและโทษของสารให้ความหวานที่ชื่อว่า Aspartame ว่ามีผลต่อการควบคุมน้ำหนักและโรคที่เกี่ยวข้องจริงหรือไม่
สารให้ความหวานแทนน้ำตาล คือ สารที่ให้รสชาติคล้ายน้ำตาล แต่ไม่ให้พลังงานเหมือนน้ำตาล สารดังกล่าวจึงถูกนำมาใช้ในการผสมลงในอาหารและเครื่องดื่มเพื่อช่วยลดการบริโภคน้ำตาลมานานมากแล้ว ซึ่งแอสปาร์แตมก็ถือว่าเป็นสารที่ดังมากในกลุ่มดังกล่าว เพราะมีการใช้อย่างแพร่หลายไปทั่วโลก ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีงานวิจัยออกมาบอกถึงโทษของแอสปาร์แตมอยู่บ้าง แต่ก็มักจะเป็นงานวิจัยที่มีหลักฐานรองรับได้ไม่แข็งแรงมากนัก ผู้คนในวงการการแพทย์จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกันเท่าไหร่ในการนำมาพิจารณาใช้
แต่งานวิจัยฉบับนี้ต่างออกไป
เพราะงานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาดังกล่าวเกิดจากการรวบรวมผลงานวิจัยจำนวนมากมาวิเคราะห์และสรุปผลต่ออีกขั้น ซึ่งงานวิจัยรูปแบบดังกล่าวถือว่ามีความน่าเชื่อถือมากในแง่ของการวิจัย โดยงานวิจัยดังกล่าวบ่งชี้ว่า นอกจากแอสปาร์แตมจะไม่ช่วยควบคุมน้ำหนักและดัชนีมวลกายแล้ว ในบางงานวิจัยพบว่ายังเพิ่มความเสี่ยงในโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าคนปรกติ 1.12 เท่า เพิ่มความเสี่ยงโรคเส้นเลือดในสมองมากกว่าคนปรกติ 1.14 เท่า และเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าคนปรกติ 1.32 เท่าเลยทีเดียว
เมื่องานวิจัยนี้ตีพิมพ์ออกมา ถือเป็นเรื่องฮือฮาพอสมควร
เพราะงานวิจัยนี้มีจำนวนตัวอย่างค่อนข้างมากกว่า 400,000 คนและทำการติดตามผลงานวิจัยร่วม 10 ปี แน่นอนว่าจึงเกิดกระแสคำถามขึ้นว่า เรายังควรกินแอสปาร์แตมกันต่อไปไหม? โค้กซีโร่ดีไหม? โค้กซีโร่อันตรายต่อสุขภาพไหม? โค้กซีโร่มีข้อเสียหรือเปล่า?
ถึงแม้ว่างานวิจัยนี้จะมีความบกพร่องอยู่หลายจุด โดยเฉพาะงานวิจัยหลายชิ้นที่อยู่ในการศึกษาไม่ได้ศึกษาแบบแยก exposure กับ outcome หรืออธิบายง่ายๆ ว่าไม่ได้ออกแบบการทดลองให้พิจารณาได้ว่าผู้เข้าร่วมวิจัยมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดมาก่อนกินสารให้ความหวาน หรือกินสารให้ความหวานมาก่อนแล้วค่อยมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือด
แต่เรื่องนี้ก็กระทบ โค้กซีโร่ ไปเต็มๆ
เพราะโค้กซีโร่ของบริษัทมีส่วนผสมของแอสปาร์แตมและโค้กเองก็โดนโจมตีเรื่องความไม่แน่ใจในความปลอดภัยของแอสปาร์แตมมานานแล้ว ถึงแม้ว่าแต่ก่อนจะมีงานวิจัยเรื่องแอสปาร์แตมอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นกระแสรุนแรงมากจนคนลุกกันขึ้นมาตั้งคำถาม จนกระทั่งมาเจองานวิจัยนี้ นี่ถือเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร
หลังจากงานวิจัยนี้ตีพิมพ์ไม่นาน โค้กก็ปรับโฉมผลิตภัณฑ์ใหม่
ในขณะที่หลายคนสนใจว่าโค้กเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์อย่างไร ลดปริมาณโซเดียมลงอย่างไร แต่สิ่งที่ผมสังเกตเห็นคือ ชื่อของแอสปาร์แตมเจ้าปัญหาได้หายไปจากรายชื่อส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์โค้กโฉมใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว
งานวิจัยฉบับนี้กับการหายไปของแอสปาร์แตมอาจจะเป็นคำตอบของเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของโค้กทั้งหมดในปีนี้
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็เป็นเพียงแค่สมมติฐานจากผู้บริโภคคนหนึ่งเท่านั้น
แต่มันก็น่าตั้งคำถาม จริงไหม?
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :