ทำไมเราถึงซื้อประกัน ? รู้จักกับ Loss aversion เมื่อผู้คนหลีกเลี่ยงการสูญเสีย
ทำไมเราถึงซื้อประกัน ? ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต หรือ ประกันภัยประเภทอื่น ๆ ก็ตามที สิ่งนี้อยู่ภายใต้หลักอคติทางจิตวิทยาที่เรียกกันว่า Loss aversion โดยพื้นฐานแล้วนั้น มนุษย์มักเกลียดชังการสูญเสียมากกว่าการได้รับเสียอีก ระหว่างการได้รับกับการสูญเสีย สามารถสร้างผลกระทบต่อจิตใจต่างกัน หากอธิบายให้เข้าใจได้โดยง่ายคือการไม่สูญเสีย 1,000 บาทยังดีกว่าการได้รับ 1,000 บาท นั่นเป็นเพราะความเจ็บปวดจากการสูญเสียส่งผลต่อจิตใจมากกว่าความสุขที่ได้รับถึงสองเท่า
ในสหรัฐอเมริกา การประกันภัยจากภัยพิบัติอย่างพายุทอร์นาโด และน้ำท่วมนั้นได้รับความนิยม เป็นเพราะผู้คนมีประสบการณ์จากอดีต ถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น จากเหตุการณ์ภัยทางธรรมชาติ สมองของเราจึงประเมินถึงแนวโน้มของความสูญเสีย ที่อาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติอย่างเดียวกันนี้อีกในอนาคต
ในขณะที่อินเดีย มีการประกันภัยที่เรียกว่า rainfall index insurance หรือ การประกันภัยดัชนีน้ำฝน ซึ่งมาจากการที่อินเดียมีพื้นที่เกษตรกรรมมากกว่า 50% และประชากรอินเดียกว่า 60% นั้นประกอบอาอาชีพในภาคเกษตรกรรม ที่ต้องอาศัยน้ำฝนในการเพาะปลูก แต่มรสุมในประเทศอินเดียนั้น เป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ จึงมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนน้ำและเกิดภัยแล้ง
ความเกลียดชังการสูญเสีย หรือ Loss aversion เป็นแนวคิดทางจิตวิทยา ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของมนุษย์ เพราะเราทุกคนมีสัญชาตญาณตามธรรมชาติ ที่จะหลีกเลี่ยงการสูญเสีย เพื่อป้องกันความเจ็บปวด นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้คนต้องทำการตัดสินใจทางการเงิน ดังนั้นหากเราตัดสินใจโดยไร้หลักการและความรอบคอบ ก็อาจสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างกับชีวิตของเราในมุมอื่น ๆ ได้อีกด้วย
Loss aversion ในมุมของการลงทุนนั้น ส่งผลต่อนักลงทุนเป็นอย่างมาก อย่างที่รู้กันว่า การลงทุนนอกจากจะเกี่ยวข้องกับข้อมูลทางการเงินแล้วนั้น ยังเป็นตลาดที่เล่นกับอารมณ์ของผู้คน นักลงทุนมักมุ่งเน้นไปที่การพยายามหลีกเลี่ยงการสูญเสีย มากกว่าการทำกำไร โดยจะชั่งน้ำหนักถึงต้นทุน และความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้น มากกว่าผลประโยชน์และผลตอบแทนที่จะได้รับ
ซึ่งบางครั้งส่งผลกระทบเชิงลบต่อนักลงทุน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เมื่อหุ้นบางตัวที่คุณซื้อเริ่มราคาตก และมูลค่าพอร์ตของคุณลดลง การที่คุณยังไม่ขายหุ้นตัวนั้นออก หรือทำการ cut loss นั้น เป็นเพราะคุณกลัวว่าจะขาดทุนหรือสูญเสียเงิน ประกอบกับยังมีความคาดหวังว่ามูลค่าหุ้นอาจกลับคืนมา เมื่อคุณเอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง จึงอาจทำให้ลืมวิเคราะห์ถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้การถือครองสินทรัพย์นั้น ๆ ที่นานเกินไปอาจจบลงด้วยการขาดทุนที่มากกว่าที่จำเป็น
ดังนั้น การฝึกเรียนรู้ให้เท่าทันอคติ Loss aversion จึงเปรียบเสมือนการสร้างแนวทางและกฎเกณฑ์ที่จะช่วยปกป้องคุณจากความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
https://www.schwabassetmanagement.com/content/loss-aversion-bias
https://thedecisionlab.com/biases/loss-aversion
https://personal.lse.ac.uk/stein/STEIN_JMP.pdf
https://corporatefinanceinstitute.com/resources/career-map/sell-side/capital-markets/loss-aversion/
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :