ทัศนคติ

MAYA เก่าแต่ใหม่ เปลี่ยนอย่างไรให้ไม่เจ๊ง

MAYA เก่าแต่ใหม่ เปลี่ยนอย่างไรให้ไม่เจ๊ง

MAYA เก่าแต่ใหม่ เปลี่ยนอย่างไรให้ไม่เจ๊ง

 

การเป็นคนรุ่นใหม่มีแนวความคิดอะไรใหม่ ๆ บางครั้งอาจถูกมองจากคนธรรมดาทั่วไปว่าเป็นคนที่ประหลาด ความประหลาดนี้อาจเป็นความแตกต่างที่นำยุคสมัย ไม่มีอะไรที่เหมือนเก่าหรือที่เคยเป็นมา ทำให้คนอื่น ๆ ไม่เข้าใจว่าคืออะไรและบางครั้งเมื่อไม่เข้าใจก็ง่ายมากที่จะปฏิเสธ ทำอย่างไรจึงจะเกิดการยอมรับได้ จงแสดงออกให้ดูคล้ายเก่าแต่ล้ำสมัย แปลกใหม่แต่ยังคุ้นเคย

 

ใหม่เกินไป

 

ความแปลกใหม่เกินไป ทำให้คนรู้สึกไม่มั่นใจและกลายเป็นความกลัว โดยในความคิดและความเชื่อของแต่ละคนมีขอบเขตในการยอมรับสิ่งแปลกใหม่ที่แตกต่างกัน คนที่มีประสบการณ์เห็นอะไรมาเยอะก็อาจจะมีชิ้นส่วนที่จะเอามาประกอบเพื่อทำความเข้าใจสิ่งใหม่นี้ได้ง่าย หรือคนที่เปิดรับความท้าทายและกล้าเสี่ยงก็อาจจะยอมรับสิ่งใหม่ให้ความใหม่พาไปพบสิ่งอื่น ๆ ต่อไปได้มากกว่า

 

ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นแบบนั้น

 

ในโลกของการออกแบบก็เจอปัญหานี้เช่นกัน งานออกแบบผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีในสินค้า ปัจจุบันมีการพัฒนาเติบโตแบบก้าวกระโดด ว่ากันว่าเทคโนโลยีที่แท้จริงพัฒนาล้ำหน้าไปไกลกว่าผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดหลายเท่าตัว อาจสังเกตได้จากสิทธิบัตรที่บริษัทต่าง ๆ ขอขึ้นทะเบียน กับ ผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ท้องตลาดมักจะตามหลังอยู่ในระยะ 1-3 ปี อาจจะด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่ชิ้นส่วน อุปกรณ์ ต้นทุนยังไม่อยู่ในระดับที่วางขายในวงกว้างด้วยราคาที่ลูกค้าจะควักกระเป๋าได้

 

แต่บางครั้งก็มาจากเหตุผลเรื่องความล้ำสมัยเกินไป

 

เรย์มอนด์ ลูอี้ (Raymond Loewy) บิดาแห่งการออกแบบเชิงอุตสาหกรรมผู้ออกแบบและเป็นที่ปรึกษาให้กับโลโก้และผลิตภัณฑ์กว่า 200 ชิ้นในยุคเฟื่องฟูของการพัฒนาอุตสาหกรรม ช่วงปี 1940 เป็นต้นมา ผลงานของเขาอาทิ เช่น โลโก้บริษัทชื่อดังต่าง ๆ ขวดโค้ก รถยนต์ รถไฟ ไปจนยานอวกาศ โดยผลงานออกแบบของลูอี้มักจะเต็มเปี่ยมไปด้วย ”ความคิดสร้างสรรค์” แต่ยังเข้าใจง่าย จับต้องได้ และที่สำคัญ คือ “ขายได้”

 

ใหม่แต่ยังรู้สึกคุ้นเคย

 

ลูอี้กล่าวไว้ว่าจิตวิทยาในการออกแบบคล้ายกับการแกว่งลูกตุ้ม เราจะต้องหาจุดที่ไกลที่สุดที่ลูกตุ้มยังคงแกว่งถึงไม่เกินไปกว่านั้น จุดนี้คือจุดที่กำลังดีที่จะสร้างความประหลาดใจ แต่ยังคงให้ความรู้สึกคุ้นเคยและเข้าใจได้ หรือ MAYA: Most Advanced. Yet Acceptable ให้ก้าวหน้าไปมากที่สุด แต่ยังยอมรับได้

 

ทำอย่างไร?

 

ส่งมอบความล้ำสมัยแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยยังอิงหรือผสมผสานกับสิ่งที่ผู้ใช้งานคุ้นเคยอยู่เดิม แต่ยังต้องคำนึงถึงความประหลาดใจจากสิ่งที่ผู้ใช้คิดไว้ว่าจะธรรมดาแต่มันไม่ธรรมดา ดูคล้ายเก่าแต่ล้ำสมัย สรุปเป็นคำแนะนำ 3 ข้อ ได้แก่

 

  1. ไม่เปลี่ยนแปลงไปแบบก้าวกระโดด

 

ทำความเข้าใจบริบทการใช้งานของลูกค้าที่ลูกค้าคุ้นเคย พยายามแยกสิ่งที่ “ดีนะถ้ามี” (nice to have) กับ “ไม่มีไม่ได้” (need to have) ออกจากกัน แล้วเลือกเติมเลือกเก็บสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไว้ในระดับที่สมดุล

 

  1. ใส่บางส่วนของรูปลักษณ์หรือใช้รูปแบบที่คุ้นเคยอยู่ในชีวิตเข้าไป ทำให้รู้สึกว่าเห็นแล้วไม่ใช่สิ่งประหลาด แต่เข้าใจได้ว่าคืออะไร

 

  1. ไม่ยากเกินที่จะใช้ จุดที่ใช้วัดคือถ้าหากต้องถึงขั้นเปิดคู่มือเพื่อดูว่าใช้งานอย่างไร หรือ ต้องมีคนอธิบาย แสดงว่าอาจจะซับซ้อนหรือก้าวหน้าเกินไป

 

การแนะนำตัวเองแบบอ้างอิงกับสิ่งที่คุ้นเคย

 

  • Spotify แนะนำ Reommended Playlist โดยการใส่เพลงใหม่ที่อยากแนะนำประจำวัน เข้าไปปนอยู่กับเพลงเก่าที่เราเคยฟังมาก่อน ทำให้คนไม่ค่อย skip เพลงใหม่ที่นำเสนอและรู้สึกชอบระบบการแนะนำเพลงของ Spotify
  • Airbnb ครั้งหนึ่งเคยอธิบายตัวเองว่า คือ “eBay แต่สินค้าคือบ้าน”
  • Uber แนะนำตัวเองว่า คือ “Airbnb แต่เปลี่ยนจากบ้านเป็นรถ”

 

ความแปลกใหม่ ความก้าวหน้า หรือ ทันสมัยของตัวเราอาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องหักห้ามหรือบังคับตัวเองให้เลิกและหยุดที่จะก้าวหน้า เพียงแต่หันมาลองปรับการนำเสนอ จังหวะเวลาที่จะแสดงออก และความพอดีของสิ่งที่จะแสดงออก ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนยอมรับและอยู่รอดได้แบบที่ไม่สร้างความตระหนกให้ใคร สิ่งนี้ก็สำคัญต่อนักลงทุนการประเมินได้ว่าอะไรที่ใหม่เกินไปคนอาจจะยังไม่ยอมรับ และต้องปรับลงมาระดับไหนจึงจะเหมาะสม จะทำให้เราเลือกลงทุนได้ดี ถูกที่ ถูกเวลา

 

ค่อยเป็นค่อยไป แปลกใหม่แต่คุ้นเคย

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน