คุณยินดีหรือไม่เมื่อเห็นใครล้มลง ? เคล็ดลับ 4 ประการสำหรับรับมือกับ Schadenfreude
ความรู้สึกยินดีเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ แต่ความรู้สึกยินดีเมื่อใครสักคนทำผิดพลาดเป็นความรู้สึกที่อาจทำให้รู้สึกผิดขึ้นมาเล็กน้อย ความรู้สึกยินดีในความโชคร้ายของผู้อื่น ในทางจิตวิทยา เรียกว่า Schadenfreude
ความรู้สึกนี้มีที่มาจากสาเหตุ 3 ประการ ได้แก่ 1) ความรู้สึกแข่งขัน ผู้คนมักมีความรู้สึกแข่งขันกัน เมื่อมีใครล้มลง ก็อาจรู้สึกดีใจที่ตนกำลังอยู่เหนือกว่า 2) การแบ่งกลุ่ม เป็นธรรมดาที่คนเรามักแบ่งแยกเป็นพวกเขาและพวกเรา เมื่อคนที่ไม่ใช่กลุ่มของตัวเองทำพลาด ก็อาจก่อให้เกิดความรู้สึกพอใจได้ และ 3) ความยุติธรรม หากคนที่ประสบโชคร้ายเป็นคนที่เราไม่ชอบ ความรู้สึกยินดีย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกว่าโชคร้ายที่ใครคนนั้นได้รับก็ถือว่าสมควรแล้ว [1]
อย่างไรก็ตาม ความยินดีเมื่อมีคนโชคร้ายอาจก่อให้เกิดความรู้สึกลบในตัวเองขึ้นได้เช่นกัน เพราะการสะใจในความผิดพลาดของผู้อื่นดูเป็นความรู้สึกที่ไม่เหมาะสม และในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครรู้สึกดีเมื่อมีใครบางคนสะใจในวันร้าย ๆ ของเราเช่นกัน ในที่นี้ ลงทุนศาสตร์ขอนำเสนอเคล็ดลับ 4 ประการในการรับมือกับ Schadenfreude ดังนี้ [2, 3]
ข้อแรก ยอมรับก่อนว่าอารมณ์ยินดีที่ใครผิดพลาดเป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์ แม้ความรู้สึกนี้จะดูไม่ค่อยดี แต่ Schadenfreude ยังมีข้อดีที่ทำให้เราเห็นถึงความไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์ ความขบถในใจ และด้านร้ายเล็กๆ ในตัวเองที่ก็เป็นเพียงแต่ความรู้สึกในใจ ไม่ได้ทำร้ายให้ใครเจ็บปวด หากรู้สึกควบคุมการแสดงออกอย่างเหมาะสม
ข้อต่อมา อย่าให้ Schadenfreude กลายเป็นคำจำกัดความตัวตนที่เราเป็น ความรู้สึกสะใจในความโชคร้ายของใครสักคนอาจไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคนทุกครั้งไป ดังสาเหตุของการเกิดความรู้สึกนี้ที่ได้กล่าวมาแล้วว่า เราอาจเลือกสะใจแค่คนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน คนที่กำลังแข่งขันกัน หรือคนที่ทำผิดจนสมควรแก่การสะใจแล้วก็ได้
ข้อที่สาม เรียนรู้จากความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพื่อเจาะลึกลงไปในใจตัวเอง เมื่อมีความรู้สึกสะใจที่ใครสักคนทำผิด อย่าเพิ่งคิดลบมองตัวเองในแง่ร้าย ขอให้ลองขุดลึกลงไปในนั้นว่าความรู้สึกสะใจในสถานการณ์เช่นนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมเราถึงเลือกสะใจกับคน ๆ นี้ เพราะอะไรเราถึงสะใจแทนที่จะสงสาร ไม่ว่าจะขุดเจอคำตอบแบบไหน ทั้งหมดนั้นล้วนสะท้อนสิ่งที่ตัวเราเป็น และอาจเปิดโอกาสให้เราได้ทำความเข้าใจกับตัวเองดีขึ้นก็ได้
ข้อสุดท้าย และเป็นข้อที่สำคัญยิ่ง คือการลองคิดถึงใจเขาใจเรา ไม่มีใครชอบที่จะถูกคนอื่นสะใจในวันที่ทำพลาด ตัวเราเองก็อาจเคยโกรธคนที่ยินดีในวันที่ตัวเองทำผิด อย่างไรก็ตาม หากในตัวเราก็มีความยินดีเมื่อคนอื่นโชคร้าย ก็ขอให้เรียนรู้ว่าความรู้สึก Schadenfreude นั้นเป็นเรื่องปกติสามัญที่เกิดขึ้นได้ หากใครยินดีในวันที่เราล้มลง ก็อย่าได้ถือโทษโกรธกันให้นานนัก และอย่ารู้สึกผิดกับตัวเองมากไปในวันที่รู้สึกสะใจในความผิดพลาดของผู้อื่นเช่นกัน
มนุษย์นั้นมีทั้งด้านที่ดีและร้ายในตัวเอง ไม่จำเป็นต้องกล่อมเกลาตนเองให้เป็นแต่คนที่ขาวสะอาดอยู่เสมอ แต่ขอให้โอบกอดตัวเองไว้ ทำความรู้จักตัวเองในทุกด้าน และพัฒนาไปเป็นคนในแบบที่ตัวเองต้องการจะเป็นให้ได้ดีที่สุด ในแบบที่ทำร้ายตัวเองและผู้อื่นน้อยที่สุดก็พอ
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
อ้างอิง
[1] Mark Travers. (November 16, 2023). A Psychologist’s Guide To Dealing With ‘Schadenfreude Shame’. Retrieved from https://www.forbes.com/sites/traversmark/2023/11/16/a-psychologists-guide-to-dealing-with-schadenfreude-shame/?fbclid=IwAR3u_FqBoGKXPSvzYh0J7p3-1kMFPCkRmBaJpAJp1I56dJoOtnS1P_bYzoY&sh=d03ee0b3a64b
[2] Tiffany Watt Smith. (November 29, 2018). Do you secretly feel good when others stumble? 5 ways to make peace with this very human emotion. Retrieved from https://ideas.ted.com/do-you-secretly-feel-good-when-others-stumble-5-ways-to-make-peace-with-this-very-human-emotion/?fbclid=IwAR3WiIsbWDxSOyQ0E4v7bwnejs5_sd3cWnw7pzNOWIoTJ11YJajfRcPq2wg
[3] กฤตพล สุธีภัทรกุล. (26 ตุลาคม 2566). เช็กอาการตัวเอง! ‘Schadenfreude’ สะใจเวลาเห็นคนอื่นพลาด เข้าข่ายไหม?. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1095693
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :