ทัศนคติ

ทำไมผลงานชิ้นหลัง มักไม่ปังเหมือนชิ้นแรก

ทำไมผลงานชิ้นหลัง มักไม่ปังเหมือนชิ้นแรก

ทำไมผลงานชิ้นหลัง มักไม่ปังเหมือนชิ้นแรก

 

เวลาที่ดูหนัง หรือติดตามผลงานของผู้บริหารบริษัทที่สนใจ ผลงานชิ้นแรกที่เปิดตัวทำให้ได้รู้จักเขามักจะประทับอยู่ในใจและได้รับการตอบรับดี แต่เมื่อผลงานชิ้นต่อมาปล่อยออกมา เช่น หนังภาคต่อ หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ กลับมักจะไม่ได้เปรี้ยงปร้างขนาดนั้น คำถาม คือ ทำไมผลงานชิ้นหลัง มักไม่ปังเหมือนชิ้นแรก

 

คำถามชวนคิด คือ ผลงานชิ้นแรกเปรี้ยงเกินไป หรือผลงานชิ้นต่อไปที่แป้กเกินเหตุ

 

เราอาจอธิบายปรากฏการณ์นี้ด้วยหลักทางคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า “Regression to the Mean” นั่นคือ สิ่งที่ผิดไปจากปกติ จะกลับสู่ปกติเมื่อเวลาผ่านไป มีขึ้นก็ต้องมีลง และมีลงก็ต้องมีขึ้น มีมากสุดโต่งก็ต้องมีน้อยสุดโต่ง (What’s going up must come down, What’s going down must come up) ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ค่าเฉลี่ยตามธรรมชาติที่มันเป็น เมื่อทำการสุ่มด้วยจำนวนครั้งที่มากขึ้น ตามกฎว่าด้วยจำนวนมาก (Law of Large Number)

 

หรือจะเป็นผลงานชิ้นแรกต่างหากที่ไม่ธรรมดา

 

การที่จะมีหนังภาคต่อได้ เกิดจากภาคแรกประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม หรือการที่เราจะได้รู้จักผู้บริหารสักคนที่โด่งดังขึ้นมาก็เพราะผลงานที่เขาทำชิ้นแรกนั้นประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายจนโดดเด่น เปรียบทั้งสองกรณีเหมือนการปรากฏของค่าที่สูงแปลกประหลาด (Outlier) เช่นนั้นแล้วสิ่งที่ตามต่อ ๆ มาเป็นธรรมดาที่จะค่อย ๆ ลดลงเข้าใกล้ค่าเฉลี่ย

 

การที่เราเห็นผลงานเพียงชิ้นเดียว หรือ ดูหนังเรื่องแรกเพียงเรื่องเดียว ไม่สามารถใช้เป็นตัวแทนที่จะบอกคุณภาพของสิ่งนั้นได้ การที่ใครสักคนบอกว่าราคาหุ้นนี้ที่สูงขึ้นชั่วข้ามคืนจะสูงต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ตก ย่อมเชื่อได้ยาก เพราะมูลค่าที่สูงขึ้นมานั้นในระยะยาวก็จะกลับเข้าสู่ค่าเฉลี่ย

 

แต่จงอย่าทำลายตัวเองด้วยเหตุผลนี้

 

สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ บางคนถูกทำให้เสียความมั่นใจจากปรากฎการณ์นี้ ยกตัวอย่างเช่น คำสาปของนักกีฬาที่ได้ขึ้นปกนิตยสาร The Sport Illustrated (The Sports Illustrated Cover Jinx) ที่คนเชื่อกันว่าหากใครได้ขึ้นปกนิตยสารฉบับนี้แล้วจะเจอกับโชคร้ายในอาชีพนักกีฬาหลังจากนั้น แต่นั่นก็เป็นเพราะนักกีฬาที่จะได้รับเลือกให้ขึ้นปก จะต้องเพิ่งสามารถทุบสถิติได้หรือแสดงความสามารถที่อัศจรรย์ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่หลังจากได้ขึ้นปกแล้วจะทำได้ไม่ดีเท่าเก่า เพราะเขาเพิ่งผ่านจุดที่สูงสุดโต่งไป

 

ยึดเส้นค่าเฉลี่ยไว้แล้วจะเข้าใจ

 

ในวันที่เราพบกับเหตุการณ์ที่รู้สึกเหมือนจุดสูงสุด เราอาจจะนับมันว่าเป็นความสำเร็จ แต่ก็ให้ระลึกไว้เสมอว่าเราจะต้องร่วงลงกลับไปสู่ค่าเฉลี่ย ในบางคราวที่เราต้องเจอกับสถานการณ์ที่ตกต่ำย่ำแย่อย่างที่สุดแบบที่ไม่คาดฝันก็ให้เชื่อว่ามีต่ำที่สุดก็จะมีวันที่เราขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ มองสิ่งต่าง ๆ ในระยะยาว และคิดถึงค่าเฉลี่ย

 

อย่าเสียกำลังใจว่าเราล้มเหลว หรือ หลงระเริงกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว การไม่เชื่อในเหตุการณ์ที่แปลกประหลาดที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่พิจารณาถึงปัจจัยในระยะยาวและวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยเป็นสำคัญ คือ หนทางสู่การเป็นนักธุรกิจและนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน