หุ้น RS หรือ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) อดีตบริษัทค่ายเพลงยักษ์ใหญ่แห่งประเทศไทย ซึ่งตอนนี้หันมาจับธุรกิจอื่นอย่าง ทีวีดิจิตัล และเครื่องสำอางเป็นรายได้หลักของบริษัทแทน รายได้ของเพลงของอาร์เอส มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ ธุรกิจเพลงที่ดูจะอยู่ในภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรง กลับสร้างผลกำไรให้กับบริษัท ทั้งที่อุตสาหกรรมเพลงในตอนนี้ มีแนวโน้มจะขาดทุน
ทำไม RS ถึงสร้างกำไรจากธุรกิจเพลงได้ ทั้งที่อุตสาหกรรมเพลงอยู่ในภาวะยากลำบาก
1 ผ่านช่วงการลงทุนหนักสุดของธุรกิจเพลงไปแล้ว
ธุรกิจเพลงของอาร์เอสตอนนี้ ไม่ได้เน้นการทำเพลง และขยายธุรกิจเหมือนช่วงก่อน แต่กลับมาเน้นการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากทรัพย์สินทางปัญญา ที่เคยสร้างไว้ในอดีตมากกว่า เมื่อเพลงที่สร้างใหม่เกิดขึ้นในอัตราที่น้อยลงเมื่อเทียบกับเพลงเก่า จึงทำให้รายได้ที่ได้จากเพลงเก่าสูงกว่า ทั้งที่ต้นทุนในการผลิตน้อย หรือไม่เหลือแล้ว ต้นทุนการได้มาซึ่งรายได้จึงน้อยมาก เพราะมีต้นทุนการผลิตเพลงใหม่อยู่ในสัดส่วนที่น้อยนั่นเอง
2 ลดการขายสินค้าลิขสิทธิ์ที่มีต้นทุนคงที่สูง หันมาเน้นการแบ่งรายได้จากคนกลาง
ปัจจุบัน ช่องทางหลักในการกระจายเพลงของอาร์เอส คือ ช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ทั้งแอปพลิเคชันเพลงอย่าง JOOX และ Spotify หรือ ช่องทางฉายมิวสิควีดีโออย่าง Youtube และ Line TV ซึ่งช่องทางเหล่านี้ อาร์เอสไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างช่องทางเอง เพียงแต่นำเพลง และเอ็มวีไปลง และรอรับส่วนแบ่งรายได้โฆษณา ต้นทุนในการสร้างช่องทาง หรือสินค้าจึงลดต่ำไปมาก เมื่อเทียบกับยุคขายเทป หรือซีดี
3 ลดจำนวนศิลปินและเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ
อาร์เอสลดศิลปินในสังกัดจากร้อยกว่าชีวิตเหลือประมาณสามสิบเท่านั้น การมีศิลปินลดลงทำให้ธุรกิจกลับมาอยู่ในขนาดที่สามารถทำกำไรได้ เพราะจะมุ่งเน้นไปยังศิลปินที่มีศักยภาพและน่าจะสร้างผลงานออกมาเป็นที่นิยมเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องสร้างผลงานให้กับศิลปินจำนวนมากซึ่งจะต้นทุนการผลิตที่สูง ในส่วนของศิลปินใหม่ที่อยากทำเพลง อาร์เอสก็มีโมเดลที่จะให้ศิลปินร่วมลงทุนซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการที่จะไม่ทำเงินลงไปได้มาก
4 เพิ่มโมเดลการโฆษณาและพรีเซนเตอร์ควบคู่กับธุรกิจเพลง
นักร้องของอาร์เอสซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นค่ายเพลงอาร์สยาม (RSIAM) และเป็นค่ายเพลงเดียวในเครืออาร์เอส จะไม่ได้เป็นแค่นักร้องอีกต่อไป แต่จะรับงานด้านพรีเซนเตอร์ให้สินค้าด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาร์สยามถือว่ามีกลุ่มลูกค้าหรือคนฟังที่ค่อนข้างชัดเจนทำให้สามารถรับงานโฆษณาจากสินค้าได้อย่างแตกต่าง หากสังเกตในมิวสิควีดีโอต่างๆ ในค่ายอาร์เอส ปัจจุบันก็จะมีการโฆษณาหรือ tie-in สินค้าต่างๆ เข้าไปด้วย ทำให้มีรายได้มาเสริมจากการขายเพลงหรือลิขสิทธิ์เพียงอย่างเดียว ซึ่งโมเดลการขายโฆษณาดังกล่าวถือว่ามีรายได้ที่สูงมากหากเทียบกับต้นทุนการผลิต
ธุรกิจเพลงของอาร์เอสถือเป็นตัวอย่างการปรับตัวของบริษัทในยุคที่โลกหมุนไวได้อย่างดี
มุมมองผู้บริหารด้านการปรับลดขนาดธุรกิจลงแต่ต้องทำกำไรได้ถือเป็นภาพที่เราไม่ค่อยเห็นกันบ่อยนักในการทำธุรกิจ แต่มุมมองดังกล่าวก็ถือว่าเป็นแนวคิดที่ดียิ่งในชีวิตธุรกิจจริง กิจการที่เล็กแต่มีกำไรย่อมดีกว่ากิจการที่ใหญ่แต่ขาดทุน ซึ่งอาร์เอสก็มีความสามารถในแง่ของการหาธุรกิจใหม่และรายได้ก้อนใหม่มาชดเชยให้ธุรกิจในภาพองค์กรยังดำเนินต่อไป
ธุรกิจเพลงของอาร์เอสถือเป็นตัวอย่างทางการบริหารธุรกิจที่น่าสนใจมากทีเดียว
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :