ธุรกิจ

เรียนรู้จากความล้มเหลวกับนวัตกรรมที่ไม่ได้ไปต่อของ Amazon

เรียนรู้จากความล้มเหลวกับนวัตกรรมที่ไม่ได้ไปต่อของ Amazon

เรียนรู้จากความล้มเหลวกับนวัตกรรมที่ไม่ได้ไปต่อของ Amazon

 

เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ประสบความสำเร็จระดับโลก ที่จะต้องพบเจอกับความล้มเหลวมาก่อน Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon ก็เช่นกัน โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไทม์ว่าช่วงเริ่มต้น Amazon นั้น เขาให้โอกาสตัวเอง 30% ที่ จะประสบความสำเร็จ ซึ่งเมื่อวิเคราะห์คำพูดนี้จะเห็นว่า Jeff มีระบบความคิดที่เปิดกว้างมาก และเขาเองคงมองว่า ความล้มเหลวคือเรื่องธรรมดาสามัญที่ต้องเผชิญ

 

เขาเคยกล่าวในจดหมายถึงผู้ถือหุ้น เมื่อปี ค.ศ. 2015 ว่า “สิ่งหนึ่งที่ฉันคิดว่าเราโดดเด่นเป็นพิเศษคือความล้มเหลว”  โดยถึงแม้ Amazon จะเริ่มต้นจากการเป็นร้านหนังสือออนไลน์ แต่บริษัทได้พยายามพัฒนารูปแบบธุรกิจอื่น ๆ อีกมากมาย บทความนี้ จะยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมของ Amazon ที่ท้ายที่สุดแล้วต้องล้มเลิกไปจากหลาย ๆ ปัจจัย

 

ในเดือนธันวาคม 2010 Amazon ลงทุน 175 ล้านดอลลาร์ใน LivingSocial ซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจการขายตั๋วเข้าร่วมกิจกรรมท้องถิ่นต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีการจัดงาน event เป็นของตัวเอง หลังการลงทุนดูเหมือนว่า LivingSocial จะไปได้ดีกว่าที่บริษัทคาดคิด เพราะธุรกิจเติบโตดีมาก บริษัทมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น โดยขยายไปยังต่างประเทศ ด้วยพนักงานภายใต้บริษัทกว่าพันคน แต่แล้วในไตรมาศที่สามของปี 2012 บริษัทกลับประกาศขาดทุนเป็นจำนวนเงินสูงถึง 169 ล้านดอลลาร์ และในท้ายที่สุดก็ต้องยอมตัดใจขายกิจการให้กับ Groupon มีการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญว่าการเติบโตของ LivingSocial นั้นอาจเร็วเกินไปจนทำให้ amazon รับมือไม่ทัน

 

คุณอาจจะยังไม่เคยได้ยินว่า Amazon นั้นก็เคยผลิตโทรศัพท์มาก่อน บริษัทเปิดตัว Fire Phone ในเดือนกรกฎาคม ปี 2014 ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นคู่แข่งสำคัญกับเจ้าเก่าในตลาด อย่าง Apple และ Samsung ผ่านการวางตำแหน่งบริษัทให้เป็นสมาร์ตโฟนที่สร้างสรรค์ แทนที่โทรศัพท์ราคาถูกหรือสะดวก Fire Phone เปิดตัวด้วยราคาที่สูงลิ่ว พร้อมฟังก์ชันที่ดูฉูดฉาดทันสมัย พร้อมกับข่าวกระแสที่พยายามประกาศถึงความเจ๋งของโทรศัพท์

 

แต่กลับกลายเป็นว่าระบบการทำงานนั้น คือสิ่งที่ทำให้ผู้คนเบือนหน้าหนี เมื่อระบบปฏิบัติการ Fire OS ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการ Android ของ Amazon ที่สร้างแยกออกมาเป็นของตัวเอง ดันเข้ากันไม่ได้กับแอปพลิเคชันยอดนิยมบางตัว เช่น Google Maps ทำให้สองเดือนหลังจากการเปิดตัว Fire Phone ขายไปได้ไม่ถึง 35,000 เครื่อง จนทำให้ Amazon ต้องยอมลดราคาจาก 650 ดอลลาร์เหลือเพียง 99 เซนต์

 

และในท้ายที่สุด บริษัทก็ยอมยกธงขาวตัดขาดทุนจากการลงทุนในโทรศัพท์นี้ ไปราว 170 ล้านดอลลาร์ในระยะเวลาเพียงสั้น ๆ ไม่กี่เดือน สิ่งที่เราเรียนรู้ได้ในกรณีนี้ คือไอเดียของนวัตกรรมใหม่ ๆ ควรสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งานจริง ผ่านการทำวิจัยที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลไม่ใช่สมมุติฐานของเราเอง

 

หากเจาะลึกรายละเอียดลงไปจะพบว่า มีอีกหลายโครงการที่ Amazon ล้มเหลว โดยบริษัทสามารถทดลองโครงการต่าง ๆ ได้ทุกประเภทและหลากหลายรูปแบบ ถึงแม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จในท้ายที่สุดก็ตามที โดยพวกเขามองว่า เม็ดเงินที่สูญเสียไปในแต่ละโครงการนั้น มันคุ้มค่าที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ นั่นอาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งมาจากวิสัยทัศน์ของผู้นำอย่าง Jeff Bezos ที่มองว่าความล้มเหลวเป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้และเติบโตในธุรกิจ ดังที่เขากล่าวไว้ในการประชุม Ignition ของ Business Insider ประจำปี 2014 ว่า “ฉันทำเงินหลายพันล้านดอลลาร์จากความล้มเหลวที่ Amazon”

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

https://maestrolearning.com/blogs/amazon-fire-phone/
https://www.businessinsider.com/amazon-announces-loss-on-livingsocial-2012-10
https://www.thestreet.com/investing/stocks/here-are-10-of-amazon-s-biggest-failures-13364106
https://www.gobankingrates.com/money/business/jeff-bezos-worst-business-failures/

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน