ธุรกิจ

ส่องกฎหมายต้านผูกขาดของต่างประเทศ เข้มแข็งแค่ไหน บังคับจริงอย่างไร ใครได้ประโยชน์

ส่องกฎหมายต้านผูกขาดของต่างประเทศ เข้มแข็งแค่ไหน บังคับจริงอย่างไร ใครได้ประโยชน์

ส่องกฎหมายต้านผูกขาดของต่างประเทศ เข้มแข็งแค่ไหน บังคับจริงอย่างไร ใครได้ประโยชน์

 

ในระยะหลังมานี้ การผูกขาดทางการค้าเป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงในสังคมไทยมากขึ้น นับตั้งแต่กระแสการรณรงค์งดเข้าเซเว่นในช่วงปีพ.ศ. 2558 [1] การควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัทซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ในปีพ.ศ. 2563 [2] และข่าวการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ดีแทค) ในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 นี้ [3]

 

จากประเด็นต่างๆ เหล่านี้ เมื่อพิจารณาถึงกฎหมายด้านการต้านการค้าผูกขาดในประเทศไทยแล้ว พบว่า ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2542 แต่ยังไม่เคยมีธุรกิจใดถูกดำเนินคดีด้านการค้าผูกขาดเลยแม้แต่รายเดียว [4] ในที่นี้ ลงทุนศาสตร์จึงขอพาท่านผู้อ่านไปสำรวจกฎหมายต้านผูกขาดของประเทศอื่นๆ ว่ามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างไร

ตัวอย่างแรกได้แก่ กฎหมายต่อต้านการผูกขาด (Antitrust laws) ของสหรัฐอเมริกา ที่มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1890 กฎหมายนี้มีจุดประสงค์เพื่อรักษากระบวนการแข่งขันทางการค้าเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค เพื่อให้แน่ใจว่าแต่ละบริษัทมีแรงจูงใจที่จะดำเนินการต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อควบคุมทั้งราคาและคุณภาพของสินค้า [5]

 

กฎหมายต่อต้านการผูกขาดของสหรัฐฯ บังคับใช้ทั้งในรัฐบาลกลางและระดับรัฐ โดยเมื่อพบการผูกขาด ประชาชนสามารถแจ้งไปที่หน่วยงานรัฐ ได้แก่ คณะกรรมการการค้า (The Federal Trade Commission) และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ (U.S. Department of Justice) โดยรัฐบาลและเอกชนเป็นโจทก์ยื่นฟ้องร่วมกันได้ [6]

การฟ้องร้องด้วยกฎหมายต่อต้านการผูกขาดที่เป็นที่กล่าวถึงมากที่สุดครั้งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ การฟ้องร้องบริษัทไมโครซอฟท์ ในฐานะที่เป็นผู้ผูกขาดตลาดคอมพิวเตอร์ โดยผูกขาดด้วยซอฟท์แวร์ที่ติดตั้งมาพร้อมกับตัวอุปกรณ์ พร้อมกับการแจกเบราว์เซอร์ Internet Explorer มาพร้อมกับตัวเครื่อง ส่งผลให้คู่แข่งผู้ผลิตเบราว์เซอร์อย่าง Netscape พ่ายแพ้อย่างราบคาบ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐจึงได้เป็นตัวแทนฟ้องบริษัทไมโครซอฟท์ แม้ทางบริษัทพยายามสู้คดี แต่สุดท้ายก็แพ้ไป [7]

 

กฎหมายต่อต้านการผูกขาดทางการค้ายังมีชื่อเรียกต่างไปในประเทศอื่น เช่น จีนและรัสเซียใช้คำว่า Anti-Monopoly Law [6] แต่การบังคับใช้กฎหมายนั้นเป็นไปเพื่อการต่อต้านการค้าผูกขาดเช่นกัน เห็นได้จากกรณีที่รัฐบาลจีนฟ้องบริษัท Alibaba ซึ่งเป็นบริษัท e-commerce ที่ยิ่งใหญ่ทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก เพื่อป้องกันไม่ให้ทางบริษัทควบรวมพื้นที่การขายสินค้าออนไลน์อยู่เพียงบริษัทเดียว โดยสั่งปรับเป็นเงิน 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ [8]

ทางฝั่งยุโรป กฎดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า European Union competition law และกฎนี้ก็ถูกบังคับใช้อย่างเคร่งครัด โดยในปีค.ศ. 2005 ในขณะที่บริษัทโคคาโคลามีส่วนแบ่งในตลาดเครื่องดื่ม soft drink ของยุโรปมากถึงร้อยละ 50 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้ประกาศให้บริษัทโคคาโคลาต้องแบ่งพื้นที่การขายในตู้แช่ของโคคาโคลาที่ปรากฏอยู่ตามร้านอาหารหรือคาเฟ่ให้แก่บริษัทคู่แข่งอื่น ๆ ด้วยอย่างน้อยร้อยละ 20 [9]

 

การค้าผูกขาดไม่เพียงแต่ไม่เป็นธรรมต่อบริษัทอื่นที่ทำการค้า แต่ยังจำกัดโอกาสและทางเลือกของผู้บริโภค เอื้อให้บริษัทที่ผูกขาดไม่ต้องพัฒนาสินค้าและบริการให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้ผู้บริโภคอุดหนุน เพราะผู้บริโภคถูกบีบบังคับให้ต้องใช้บริการบริษัทที่ผูกขาดเพียงแห่งเดียว กฎหมายควบคุมการค้าผูกขาดจึงนับเป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยให้ตลาดดำเนินไปตามกลไกเช่นที่ควรเป็น เราคงได้แต่จับตาดูต่อไปว่า กฎหมายการค้าผูกขาดในประเทศไทยนั้น จะได้รับการบังคับใช้อย่างจริงจังหรือไม่ อย่างไร และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของใคร

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อ้างอิง

[1]  MGR Online. (5 พฤษภาคม 2558). จับตา! พลังโซเชียลฯ สั่งสอนเจ้าสัว รณรงค์ไม่เข้าเซเว่น งดใช้สินค้าซีพี. สืบค้นจาก https://mgronline.com/live/detail/9580000051301

[2] วิษณุ วงศ์สินศิริกุล. (5 ธันวาคม 2563). ผูกขาดตลาด VS อำนาจเหนือตลาด …เหมือนหรือต่าง?. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/911117

[3] ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล. (19 พฤศจิกายน 2564). “ดีแทค-ทรู” เตรียมแถลงข่าว 22 พ.ย.ร่วมธุรกิจเป็น “อีโค พาร์ทเนอร์ชิพ”. สืบค้นจาก https://www.thansettakij.com/economy/503897

http://thaitribune.org/contents/detail/330?content_id=10909

[4] สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ. (2558). กฎหมายการแข่งขันทางการค้ากับการค้าที่เป็นธรรม. สืบค้นจาก https://www.swinethailand.com/15488029/กฎหมายการแข่งขันทางการค้ากับการค้าที่เป็นธรรม

[5] FEDERAL TRADE COMMISSION. (n.d.). The Antitrust Laws. Retrieved from https://www.ftc.gov/tips-advice/competition-guidance/guide-antitrust-laws/antitrust-laws

[6] Thaitribune. (13 พฤษภาคม 2558). กฎหมายต่อต้านการผูกขาด : รัฐจะยื่นฟ้องผู้ประกอบการแทนประชาชน. สืบค้นจาก http://thaitribune.org/contents/detail/330?content_id=10909

[7] Beattie, A. (October 25, 2021). Why Did Microsoft Face Antitrust Charges in 1998?. Retrieved from https://www.investopedia.com/ask/answers/08/microsoft-antitrust.asp

[8] Moore, E. (April 10, 2021). China Fines Alibaba $2.8 Billion For Breaking Anti-Monopoly Law. Retrieved from https://www.npr.org/2021/04/10/986112628/china-fines-alibaba-2-8-billion-for-breaking-anti-monopoly-law

[9] WARC. (June 23, 2005). EU Regulators Force Coke to Let Rivals into Sales Fridges. Retrieved from https://www.warc.com/newsandopinion/news/eu-regulators-force-coke-to-let-rivals-into-sales-fridges/17736

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน