.
วินาทีนี้ไม่มีอะไรมาแรงไปกว่า BNK48 วงไอดอลน้องใหม่ของไทยอีกแล้ว
คำถามคือวงนักร้องผู้หญิงก็เคยเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งในไทย ทำไมวงนี้จึงโดดเด่นและโด่งดังขึ้นเป็นพลุแตก และวัฒนธรรมไอดอลคืออะไร ทำไมจึงได้รับความนิยมขึ้นมาในขณะนี้
วันนี้เราจะพาไปดูจุดด้อยและจุดเด่นของไอดอลเมื่อเทียบกับดารา อะไรคือความแตกต่างระหว่างกัน
1 ไอดอลเน้น “วง” & ดาราเน้น “คน”
หากเข้าไปดูรายละเอียดของวงไอดอลจะพบว่าสิ่งสำคัญมากกว่าไอดอลคือวงของไอดอล เพราะไอดอลแต่ละคนมีโอกาสเข้าและออกจากวง รวมไปถึงยังมีการออดิชันรุ่นใหม่เข้ามาอีกเรื่อยๆ ถ้าวงไอดอลไหนดังแล้วก็มีโอกาสที่จะอยู่สืบเนื่องไปนานกว่าเพราะไม่ยึดติดกับใครคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ต่างกับดารานักร้องที่แม้จะมีวงเหมือนกันแต่จะมุ่งเน้นไปที่ตัวดาราแต่ละคนมากกว่า ส่วนใหญ่ถ้าใครในวงลาออกก็มักจะจบลงด้วยการยุบวง ทำให้ความดังและชื่อเสียงของวงผูกติดอยู่กับตัวบุคคลค่อนข้างมาก
2 ไอดอลเน้น “พัฒนาการ” & ดาราเน้น “สำเร็จรูป”
การคัดเลือกไอดอลมาจะเน้นเด็กในวัยเรียนตั้งแต่ช่วง 13 – 23 ปี (โดยประมาณ) และไม่รับเด็กที่ทำศัลยกรรม ไอดอลส่วนใหญ่ก็จะพอมีความสามารถในการร้องและการเต้นมาบ้าง แต่ไม่ได้โดดเด่นถึงขั้นจะเป็นนักร้องหรือศิลปินเดี่ยว ตรงนี้เป็นจุดเด่นของไอดอลคือแฟนคลับจะได้เห็นพัฒนาการและการเติบโตของไอดอลไปด้วยกัน ต่างกับดาราที่เน้นความสำเร็จรูป คือเมื่อเข้าวงการแล้วต้องพร้อมทุกอย่าง ทั้งความสามารถ หน้าตา และการตลาด ลักษณะการติดตามจึงต่างกันเหมือนการรับประทานอาหารปรุงสุกกับการนั่งมองเชฟค่อยๆ ทำอาหาร ความผูกพันที่เกิดจึงมีรูปแบบที่แตกต่างกัน
3 ไอดอลเน้น “สนับสนุนคน” & ดาราเน้น “สนับสนุนผลงาน”
ระบบธุรกิจไอดอลมีจุดเด่นคือการขายสินค้าที่แสดงถึงการสนับสนุนตัวบุคคลอย่างชัดเจน เช่น อัลบั้มรูปภาพ บัตรจับมือ ของที่ระลึกของไอดอลรายคน ซึ่งวัฒนธรรมมาจากการที่ภายในวงต้องมีการแข่งขันกัน เพราะความนิยมของไอดอลแต่ละคนมีผลต่อผลงานและอนาคตของไอดอล เช่น การได้ออกซิงเกิ้ลใหม่ การได้ออกงาน ดังนั้นแฟนคลับจึงต้องพยายามสนับสนุนไอดอลที่ตัวเองชอบเพื่อให้ไอดอลของตนได้ไปต่อ และได้มีโอกาสพัฒนาหรือมีชื่อเสียงขึ้นไปอีก ต่างกับดารานักร้องที่มีความนิ่งในตัวบุคคลและวงดนตรีแล้ว การสนับสนุนของแฟนคลับจึงอยู่ในรูปแบบของการอุดหนุนเพลง การไปงานคอนเสิร์ต หรือไปงานอีเวนท์ต่างๆ หากมีการทำของที่ระลึกออกมาขายก็มักจะไม่ได้รับกระแสตอบรับมากเท่ากับไอดอล เพราะการสนับสนุนของที่ระลึกดารานักร้องไม่มีวัฒนธรรมเบื้องหลังอย่างวงไอดอล
4 ความรักของไอดอลเป็นของ “ทุกคน” & ความรักของดาราเป็นของ “ตัวเขาเอง”
ถึงแม้ว่าจะไม่มีกฎเกณฑ์ที่เขียนชัดเจนตายตัวว่าไอดอลห้ามมีแฟน แต่ก็เป็นธรรมเนียมที่รู้กันดีว่าไอดอลนั้นห้ามมีแฟน หรือถึงจะมีแฟนก็ต้องปิดให้มิดจนไม่มีใครรู้ เพราะสถานะของไอดอลเหมือนนางฟ้าที่ไม่มีเจ้าของ แฟนคลับจำนวนมากของไอดอลหญิงคือผู้ชาย เพราะแฟนคลับชายจำนวนมากรู้สึกว่าพร้อมจะทุ่มเทให้ไอดอลเหล่านี้เพราะอย่างน้อยไอดอลเหล่านี้ก็ไม่ใช่ของใคร เขาจะไม่ผิดหวังหรือรู้สึกถูกหักหลังจากการที่ไอดอลมีแฟนอยู่แล้ว การที่ไอดอลออกมามีข่าวเรื่องแฟนหรือความรักจึงเป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะนั่นคือการทำลายภาพของไอดอลอย่างรุนแรง แฟนคลับจำนวนมากยินดีจะเบือนหน้าหนีเพราะรู้สึกว่าทุ่มเทไปสูญเปล่า ไอดอลมีเจ้าของแล้ว ต่างกับดารานักร้องที่เรื่องความรักของบุคคลเหล่านี้ถือเป็นเรื่องส่วนตัว แฟนคลับส่วนมากจะไม่เข้าไปก้าวก่ายมากนัก และการที่ดารานักร้องจะมีแฟนถึงแม้อาจจะมีผลกระทบบ้างเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องปรกติ และแฟนคลับส่วนใหญ่ก็รับได้ ไม่มีผลกระทบรุนแรงเท่าไอดอล
5 ธุรกิจไอดอลหมุนรอบ “บริษัท” & ธุรกิจดาราหมุนรอบ “ศิลปิน”
อำนาจต่อรองแทบทั้งหมดของธุรกิจไอดอลอยู่ที่บริษัท เพราะถึงแม้ไอดอลจะดังแค่ไหน แต่บริษัทก็สามารถออดิชันหาคนอื่นมาปั้นแทนได้ และวัฒนธรรมนี้ก็ถือว่ารับได้ในกลุ่มแฟนคลับ ดังนั้น ไอดอลจึงมีการพยายามแข่งขันซึ่งกันและกัน บริษัทก็ถือว่ามีความสามารถในการต่อรองเหนือไอดอลค่อนข้างมาก ต่างกับดารานักร้องที่อำนาจต่อรองจำนวนมากเทไปทางศิลปิน เพราะผลงานที่ขายออกไปเป็นหลักคือความสามารถหรือหน้าตาของดาราที่แน่นอนว่าหาใครมาแทนได้ยาก หากบริษัทเสียดาราหรือนักร้องดังไป บริษัทก็อาจจะหาคนมาทดแทนได้ยาก เพราะความสามารถผูกไว้กับศิลปินเอง ไม่เหมือนกับไอดอลที่มีการเข้าออกเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว
มองเผินๆ ดารากับไอดอลอาจไม่ต่างอะไรกันเลย แต่ยิ่งมองให้ลึกและศึกษาถึงรูปแบบธุรกิจ กลับพบว่ามีความแตกต่างในรายละเอียดค่อนข้างมาก
กระแสไอดอลพลุแตกในไทยถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจกับวงการสื่อ จากแผ่นซีดีที่ดูเหมือนเป็นสินค้าที่ใกล้หมดยุคเต็มทน กลับสามารถมาขายได้อย่างถล่มทลายเมื่อแผ่นซีดีนั้นแถมบัตรจับมือกับไอดอลไปด้วย ของที่ระลึกอย่างอัลบั้มรูปที่หากดารานักร้องทำมาขายก็คงจะยอดขายไม่ดี แต่พอเป็นของไอดอลกลับขายได้ดี จนมีการนำไปซื้อขายกันต่อในตลาดรองจนราคาแพงลิบลิ่ว
ทุกธุรกิจคงต้องมีการปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ก็ปรับเปลี่ยนไปทุกวัน
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ปล. เครดิตรูปภาพ BNK48
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :