ธุรกิจ

สรุปข้อมูลบริษัท Starbucks : Starbucks กำลังถูก disrupt

สรุปข้อมูลบริษัท Starbucks

สรุปข้อมูลบริษัท Starbucks : Starbucks กำลังถูก disrupt

 

ถ้ายังจำกันได้ จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ธุรกิจ “ร้านกาแฟ” กลายเป็นธุรกิจที่บูมจนมีร้านผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เพราะหลายคนเชื่อว่ามันทำง่าย ใคร ๆ ก็ต้องกิน และที่สำคัญคือกำไรดีมาก ต้นทุนแก้วละไม่กี่บาทก็สามารถขายในราคาเฉียดร้อยได้ ไม่ให้รวยวันนี้แล้วจะรวยวันไหน

 

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า เราเห็นโมเดลธุรกิจจากร้านกาแฟ Starbucks ที่ขายกาแฟจนรวยและกลายเป็นร้านกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

เมื่อเวลาผ่านไป ร้านกาแฟของนักธุรกิจใหม่ไฟแรงหลายๆ ร้านต่างก็เจ๊งไปตามระเบียบ มีเพียงแต่ Starbucks ที่ยังอยู่รอดพร้อมกับทำกำไรที่สูงขึ้นได้ปีแล้วปีเล่า พร้อมกับราคาหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นปีแล้วปีเล่า

 

แต่เชื่อหรือไม่ แม้แต่ Starbucks ก็ต้องถึงวันที่ถดถอยเหมือนกัน

 

 

 

ส่วนใหญ่เราอาจคุ้นเคยว่า Starbucks นั้นก่อตั้งโดย Howard Schultz ที่มักปรากฏตัวตามสื่อต่าง ๆ และยังเป็นคนเขียนหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจของ Starbucks แต่แท้จริงแล้ว ผู้ก่อตั้งคือกลุ่มเพื่อนสนิทสามคนที่ประกอบด้วย Jerry Baldwin ซึ่งเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ, Zev Siegl คุณครูสอนประวัติศาสตร์ และ Gordon Bowker เป็นนักเขียน

 

ทั้งสามคนเป็นเพียงกลุ่มคนชื่นชอบกาแฟที่อยากทำธุรกิจด้วยกันเท่านั้น ส่วน Howard Schultz คือลูกค้าที่ได้มีโอกาสมาดื่มกาแฟของร้านและติดใจในรสชาติซะจนอยากบริหารเอง จนแล้วจนรอดก็ได้มีส่วนในการบริหารดั่งที่ตั้งใจไว้ ก่อนที่จะมีโอกาสได้ซื้อร้านกาแฟทั้งหมดจากผู้ก่อตั้งเดิมในราคา 4 ล้านเหรียญเมื่อปี 1986

 

ผู้ก่อตั้งทั้งสามคนอาจนั่งจิบกาแฟด้วยความดีใจอยู่หลายเดือนที่ขายกาแฟเก่งจนมีคนมาซื้อต่อในราคา 4 ล้านเหรียญ แต่เชื่อเถอะว่าความสุขนี้ไม่ได้ยืนยาวเท่าไหร่ เพราะที่สุดแล้ว Howard Schultz ก็พาเงือกเขียวจนนี้ไปเฉิดฉายจนเข้าตลาดหุ้นได้ในปี 1992 นั่นอาจเป็นการสำลักกาแฟในรอบแรก และพวกเขาคงอาจต้องสำลักกาแฟอีกรอบหากรู้ว่าตอนนี้ Starbucks มีมูลค่ากิจการประมาณ 1 แสนล้านเหรียญเข้าไปแล้ว พร้อมกับรายได้ในปีล่าสุดถึง 26,509 ล้านเหรียญ

 

งบการเงิน Starbucks

 

ปี 2017
รายได้ 22,387 ล้านเหรียญ
ค่าใช้จ่าย 19,502 ล้านเหรียญ
กำไรสุทธิ 2,885 ล้านเหรียญ

 

ปี 2018
รายได้ 24,720 ล้านเหรียญ
ค่าใช้จ่าย 20,202 ล้านเหรียญ
กำไรสุทธิ 4,518 ล้านเหรียญ

 

ปี 2019
รายได้ 26,509 ล้านเหรียญ
ค่าใช้จ่าย 22,910 ล้านเหรียญ
กำไรสุทธิ 3,599 ล้านเหรียญ

 

 

ดูแล้ว Starbucks เป็นธุรกิจที่น่าลงทุนไม่น้อย เพราะทุกวันนี้เราก็เห็นกันว่าร้าน Starbucks แต่ละสาขานั้นมีคนเข้าใช้บริการอย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะสาขาตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ ที่บางช่วงเวลาอาจมีคนต่อคิวซื้อมากมายราวกับแจกฟรี แต่สังเกตเห็นอะไรในงบการเงินไหม ? ในงบปีล่าสุดนั้นบริษัทมีกำไรลดลงกว่า 1 พันล้านเหรียญ จาก 4,518 ล้านเหรียญในปีก่อน มาอยู่ที่ 3,599 ล้านเหรียญในปีล่าสุด

 

ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า บริษัทกำลังเผชิญโจทย์ที่ท้าทายสองอย่าง นั่นคือ คนไม่ค่อยออกจากบ้านมาซื้ออะไรกิน และข้อสอง ประเทศจีน

 

สำหรับข้อแรก ไม่ใช่ว่าคนเราจะหยุดกินกาแฟไปเสียเฉย ๆ แต่หมายถึงเทรนด์ผู้บริโภคตอนนี้มักจะเน้นสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่มาส่งถึงบ้านมากกว่า ร้าน Starbucks ซึ่งวางตัวเป็นบ้านหลังที่สามให้กับเหล่านักดื่มจึงได้รับผลกระทบ เพราะถ้าคนไม่ออกมาข้างนอก ร้านกาแฟที่เน้นขายบรรยากาศภายในร้านก็ขายกาแฟไม่ได้ จนอาจส่งผลให้บางสาขาขาดทุนในที่สุด ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็เกิดขึ้นแล้วกับ Starbucks ในประเทศอังกฤษ ที่ปีล่าสุดนั้นขาดทุนไปราว ๆ 22 ล้านเหรียญเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

 

กับเรื่องท้าทายอีกอย่างคือ ประเทศจีน ภาพที่เรามอง Starbucks อาจจะมองว่านี่คือการแฟที่สามารถขายได้ทั่วโลกและใคร ๆ ก็ต้องกิน แต่สำหรับประเทศจีน คู่แข่งสำคัญที่สุดคือ Luckin Coffee ที่ตั้งเป้าชัดเจนว่าจะไล่จับเงือกเขียวตนนี้เอาไปขายที่ตลาดปลาในมหาชัยให้ได้ ด้วยกลยุทธ์ที่เน้นขายกาแฟให้กับนักดื่มแบบซื้อแล้วไปกินที่อื่น พร้อมด้วยราคาที่ถูกกว่า แต่ได้รสชาติและคุณภาพที่ใกล้เคียงกับแบรนด์ฟากฝั่งอเมริกา งานนี้ถ้า Starbucks ไม่สามารถต่อกรกับ Luckin Coffee ได้ ก็จะสูญเสียกลุ่มลูกค้ากว่า 1 พันล้านคนในประเทศจีนไปอย่างน่าเสียดาย

 

และไม่ใช่แต่กับในประเทศจีน ก่อนหน้านี้ Starbucks ก็เคยล้มเหลวจากการเข้าไปเจาะตลาดในประเทศออสเตรเลียมาแล้วเนื่องจากไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นได้ หรือแม้แต่ประเทศไทยเองก็มีคู่แข่งอย่างนกแก้วแก้วอเมซอนที่ราคาถูกกว่า เห็นได้ชัดว่าบริษัทกาแฟขนาดแสนล้านเหรียญก็ยังมีเรื่องให้กังวล

 

หากจะเรียกว่า Starbucks กำลังถูก disrupt ก็คงไม่ผิดนัก

 

การวางตัวเป็นบ้านหลังที่สามของร้านกาแฟ กำลังถูกท้าทายจากโลกสั่งของออนไลน์และเดลิเวอรี่ที่โตอย่างก้าวกระโดดในทุกวัน ๆ ลองคิดถึงวันเสาร์ที่แสนน่าเบื่อ ปรกติคุณต้องออกจากบ้านไปหาข้าวกิน เดินเล่นเรื่อยเปื่อย และอาจจะจบที่ร้านกาแฟสักร้าน แต่ปัจจุบันไม่ใช่ มีร้านอาหารทุกร้านรอให้คุณสั่งมาส่งเพื่อกินในบ้านอยู่ทั่วกรุง คนที่สั่งกาแฟให้ส่งเดลิเวอรี่มากินที่บ้านก็คงมีบ้าง แต่เชื่อว่าก็คงจะไม่มากเท่าเดิม

 

ธุรกิจกาแฟอาจเป็นธุรกิจที่ดูไม่ยาก แต่ความจริงแล้วก็ยากไม่น้อยเลย

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

SOURCE:
ประวัติ Howard Schultz จากเด็กยากจนสู่มหาเศรษฐีที่สร้างฐานะขึ้นมาได้ด้วยตนเอง เจ้าของ Starbucks ร้านกาแฟของดาวโลก : blueoclock.com
หรือนี่คือสัญญาณ? เมื่อ Starbucks อังกฤษรายงานผลประกอบการ ขาดทุนไป 600 กว่าล้านในปีที่ผ่านมา : brandinside.asia
“สตาร์บัคส์”แบรนด์กาแฟที่ตีตลาดได้ทั่วโลกยกเว้นออสเตรเลีย : ch3thailand.com
งบการเงิน Starbucks : jitta.com

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน