ธุรกิจ

สรุปข้อมูลบริษัท Tencent : เจ้าพ่อ Social Media แห่งประเทศจีน

สรุปข้อมูลบริษัท tencent

สรุปข้อมูลบริษัท Tencent : เจ้าพ่อ Social Media แห่งประเทศจีน

 

ถ้าพูดถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน หากกล่าวถึงแค่เพียง Alibaba ก็อาจดูไม่ครบองค์ประชุมสักเท่าไหร่ เพราะในจีนนั้นมีอยู่ถึงสามบริษัทด้วยกันที่คนตั้งชื่อเล่นๆ ให้ว่ากลุ่ม B.A.T.

 

B คือ Baidu
A คือ Alibaba
T คือ Tencent

 

ซึ่งทั้งสามบริษัทนี้คือตัวแทนของผู้นำด้านโลกไอทีในประเทศจีน Alibaba ผู้คนอาจคุ้นเคยกันอยู่แล้วในฐานะบริษัทอีคอมเมอร์ซที่มียอดขายหลักล้านล้าน ส่วน Baidu เราก็คุ้นเคยในฐานะโปรแกรมที่ผู้ใช้งานในไทยเกือบทุกคนพยายามถอนการติดตั้งมัน ต่างกับในจีนที่โปรแกรมของบริษัทนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย

 

แต่กับ Tencent เราอาจไม่คุ้นเคยกับชื่อนี้นัก แต่นี่คือบริษัทที่มีรายได้และกำไรสูงกว่าทั้งสองบริษัทแรกเสียอีก

 

 

 

Tencent ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 1998 โดยนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่นำโดย Ma Huateng หรืออีกชื่อคือ Pony Ma (ส่วน Alibaba นำโดย Jack Ma ทั้งสองคนนี้ใช้แซ่เดียวกันแต่ไม่ได้เป็นเครือญาติกัน)

 

ในยุคนั้น อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตกำลังบูมสุดขีดทั่วโลกรวมไปถึงในประเทศจีนที่กำลังมีผู้ใช้งานเติบโตขึ้น Pony Ma จึงได้สร้างโปรแกรมแชทตัวหนึ่งที่ชื่อ QQ เพื่อเกาะกระแสไปกับอินเทอร์เน็ตนี้ด้วย มันได้ผลในระดับหนึ่ง แต่บริษัทก็เกือบล้มละลายเพราะยังทำกำไรไม่ได้สักหยวน มีคนใช้งาน แต่ไม่มีโมเดลการทำเงินอะไรทั้งนั้น

 

จากนั้นไม่นานนัก ก็มีบริษัทเข้ามาร่วมทุนเพิ่มและปรับโมเดลธุรกิจให้เข้าที่เข้าทาง โดยผู้ใช้งาน QQ ยังสามารถใช้งานได้ฟรีเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือต้องขอแปะโฆษณาสักหน่อย จะว่าไปก็ไม่ต่างกับโมเดลของเว็บไซต์ในยุคนี้มากนัก และทำให้ Tencent เริ่มฟื้นตัวได้ พร้อมกับค่อยๆ พาตัวเองไปอยู่ในธุรกิจเกมด้วยการเข้าไปเป็นหุ้นส่วนกับเกมต่างๆ ที่ดังๆ ก็มีตั้งแต่ RoV, PUBG, Clash of Clan และอีกเพียบที่ล้วนเป็นเกมติดตลาด

 

รวมไปถึงการทำโปรแกรมแชทอีกตัวชื่อ WeChat ซึ่งดังเป็นพลุแตกไม่แพ้ QQ ด้วยจำนวนผู้ใช้งานที่ทะลุ 1,000 ล้านคนเข้าไปแล้ว นอกจากนั้น Tencent ยังถือหุ้นใน Garena, Sanook!, แอพฟังเพลง JOOX และ Shopee ที่พาคนหมดตัวไม่น้อยในช่วงเทศกาล 11.11

 

 

 

ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจหากรายได้ของ Tencent จะสูงหลักแสนล้านหยวน เพราะมีจำนวนบริษัทในเครืออยู่มากมายทั่วโลก

 

ปี 2016
รายได้ 151,938 ล้านหยวน
ค่าใช้จ่าย 110,843 ล้านหยวน
กำไรสุทธิ 41,095 ล้านหยวน

 

ปี 2017
รายได้ 237,760 ล้านหยวน
ค่าใช้จ่าย 166,250 ล้านหยวน
กำไรสุทธิ 71,510 ล้านหยวน

 

ปี 2018
รายได้ 312,694 ล้านหยวน
ค่าใช้จ่าย 233,975 ล้านหยวน
กำไรสุทธิ 78,719 ล้านหยวน

 

ดูแล้ว Tencent ก็เป็นธุรกิจชั้นยอดในแง่ที่ว่ารายได้และกำไรเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่หากไปดูที่โครงสร้างรายได้ของบริษัท สัดส่วนรายได้กว่า 64% นั้นมาจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกม อีก 14% มาจากธุรกิจโฆษณา และอีก 22% มาจากธุรกิจ cloud และบริการอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

ตัวรายได้ที่น่าห่วงคือก้อนที่ 1 และ 2

 

เหตุผลก็มาจากความมั่นคงแน่นอนของรายได้เหล่านั้น ความเสี่ยงของธุรกิจเกมคือมันมาเร็วและไปเร็วมาก หากยังจำได้มันมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ Pokemon Go เข้าสิงในโทรศัพท์แทบทุกเครื่องและทำให้คนเดินออกกำลังกายกันจนผอมเพรียว แต่แล้วกระแสมันก็ดับ (พร้อมกับหุ่นคนที่กลับมามีขนาดใหญ่เท่าเดิมเพราะไม่ได้เดินหาโปเกม่อนแล้ว) แม้จะติดตลาดแค่ไหนมันก็มีวันเสื่อมความนิยม นี่คือสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้กับทั้งเกม RoV , PUBG หรือ LOL อันโด่งดังของ Tencent ถ้าบริษัทหาเกมที่ติดตลาดมาใหม่เรื่อย ๆ ไม่ได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้กว่า 64% ของบริษัทอย่างไม่ต้องสงสัย

 

เรื่องน่าห่วงอีกด้านหนึ่งคือรายได้ในข้อ 2) ธุรกิจโฆษณา แม้ตอนนี้อาจไม่ใช่เงินรายได้หลักแต่ Tencent ก็ให้ความสำคัญไม่น้อยเนื่องจากมีแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานนับล้านคนต่อวัน แต่ตอนนี้ Tencent กำลังต่อสู้กับ TikTok แอพลิเคชั่นวิดีโอแบบสั้นที่มีผู้ใช้งานเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่ทุกคนรู้ว่าหัวใจของธุรกิจโฆษณาก็คือผู้ชม ถ้าโดนแอพ TikTok แย่งผู้ใช้งานไปจนหมด ธุรกิจโฆษณาของ Tencent ก็ยากที่จะเกิด

 

ต่อให้เป็นธุรกิจที่ดูเติบโคแต่ไหนหรือดูยิ่งใหญ่เพียงใด หน้าที่ของนักลงทุนย่อมต้องวิเคราะห์ความเสี่ยงให้รอบด้านเสมอ

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

เอกสารอ้างอิง

รู้จัก Tencent ยักษ์ไอทีจากเมืองจีน เจ้าของฉายา “ใหญ่กว่า Alibaba” : brandinside.asia
Tencent’s impressive financial growth leaves room for uncertainty : walkthechat.com
ยักษ์ชนยักษ์! Tencent รายรับพลาดเป้า ถูกบริษัทแม่ TikTok เจาะไข่แดงโฆษณาออนไลน์ ขนาด Facebook และ Instagram ยังสู้ไม่ได้ : positioningmag.com

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน