ส่องเศรษฐกิจกัมพูชาหลังยุคเขมรแดง และความยากลำบากในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศของแต่ละประเทศ มักจะเกิดตามหลังจากที่ภายในประเทศที่ต้องประสบพบเจอกับสถานการณ์อันเลวร้าย จนนำไปสู่ความล้มเหลว และหนึ่งในผลกระทบที่เกิดขึ้นสำหรับประเทศเหล่านั้น คือการเสียชีวิตของประชาชนจากเหตุการณ์เหล่านั้น ไม่ว่าจะด้วยชื่อว่า “การสังหารหมู่” หรือ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ก็ล้วนแล้วแต่เป็นจุดที่ทำให้ประเทศดังกล่าวย่อมมีปัญหาทางการเมือง ที่จะนำไปสู่ปัญหาในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างที่ไม่อาจฟื้นคืนได้สำเร็จ
เมื่อทุกอย่างได้เริ่มเข้ารูปเข้ารอยอีกครั้ง การพัฒนาเศรษฐกิจย่อมเป็นสิ่งที่จะต้องถูกก่อตั้งและขับเคลื่อนขึ้นมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ส่งผลทำให้หลายๆ ประเทศ ต้องประสบพบเจอกับการพัฒนาที่แสนทุลักทุเล เพราะมันต่างเต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อย และความยากลำบาก เฉกเช่น ภายในกัมพูชาภายหลังยุคกัมพูชาประชาธิปไตยนั่นเอง
สำหรับกัมพูชา ภายหลังกัมพูชาประชาธิปไตย ที่ถูกปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ เขมรแดง โดยภายใต้การปกครองด้วยระบอบดังกล่าวเป็นระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1975 – 1979 ได้ส่งผลทำให้ประเทศต้องเจอกับเหตุการณ์อันน่าสยดสยอง ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ที่นำไปสู่ความอดอยากและการล้มตายเป็นจำนวนมาก
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังรวมไปถึงการปลิดชีพพลเรือนที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูของรัฐเป็นจำนวนมาก การปลิดชีพประชาชน ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มปัญญาชน ได้ส่งผลทำให้สภาพสังคมของกัมพูชาในขณะนั้นเหมือนถูกทำให้ถอยหลังกลับไปอีกหลายปี รวมไปถึงความอดอยาก อันเป็นผลมาจากนโยบายการทำเกษตรของประเทศ ก็ยังทำให้พลเรือนที่ควรเป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศต้องจากไปเป็นจำนวนมาก และยังรวมไปถึงวิทยาการต่าง ๆ ที่ถูกปิดกั้น ก็ยิ่งทำให้ประเทศล้าหลังมากกว่าเดิม จนทำให้เมื่อกัมพูชาภายใต้ระบอบอันอำมหิตได้ถูกปลดปล่อยจากกลุ่มแนวร่วมสามัคคีสงเคราะห์ชาติกัมพูชา ที่นำไปสู่การก่อตั้งสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา รัฐบาลใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้น ต้องประสบปัญหาในการฟื้นฟูประเทศหลังจากนั้น
การฟื้นฟูประเทศกัมพูชาภายหลังช่วงเวลาอันเลวร้ายเป็นเวลา 4 ปี ล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะรัฐบาลที่ขึ้นมาใหม่นั้น ไม่ได้รับการยืนยันจากสหประชาชาติ และยังต้องประสบพบเจอปัญหาของประชากรที่ผ่านพ้นความเลวร้ายที่ผ่านมา ที่เกิดขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ ประกอบกับความรุนแรงที่มีโอกาสเกิดขึ้นจากกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาที่ยังหลงเหลืออยู่ และกลุ่มขบวนการอื่น ๆ ส่งผลทำให้สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ เพื่อที่จะทำให้ประเทศสามารถขับเคลื่อนไปได้อีกครั้ง คือการยินยอมผ่อนปรนบางอย่าง เพื่อเปิดทางให้การช่วยเหลือได้เข้าภายในประเทศ
โดยเริ่มจากการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น รัฐกัมพูชา เพื่อให้ได้รับการยอบรับจากนานาชาติ ไปจนถึงการเกิดขึ้นของข้อตกลงสันติภาพปารีส ในปี ค.ศ. 1993 ที่ทำให้สงครามระหว่างกัมพูชาและเวียดนามก่อนหน้านั้นต้องยุติลง และนำไปสู่การเข้ามาของสหประชาชาติ ที่ได้เข้ามาช่วยเหลือภายในประเทศ ในนามของ องค์การบริหารชั่วคราวแห่งสหประชาชาติในกัมพูชา
ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้ได้ส่งผลทำให้ประเทศที่ต้องพบเจอกับความสิ้นหวัง ได้เริ่มลืมตาอ้าปากขึ้นมาบ้าง โดยมีการเลือกตั้งภายในปี ค.ศ. 1993 เป็นเครื่องยืนยัน
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
อ้างอิง
Kenneth Quinn. Transforming Cambodia’s “Killing Fields” into Farm Fields: American Diplomacy and Combatting Genocide. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2567. จาก https://americandiplomacy.web.unc.edu/2021/11/transforming-cambodias-killing-fields-into-farm-fields-american-diplomacy-and-combatting-genocide
The Borgen Project. THE LINGERING EFFECTS OF GENOCIDE IN RWANDA AND CAMBODIA. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2567. จาก https://borgenproject.org/the-lingering-effects-of-genocide
The Guardian. Forty years after genocide, Cambodia finds complicated truth hard to bear. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2567. จาก https://www.theguardian.com/world/2015/apr/16/forty-years-after-genocide-cambodia-finds-complicated-truth-hard-to-bear
Youk Chhang. Cambodia’s Traumatized Generation. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2567. จาก
https://thediplomat.com/2023/11/cambodias-traumatized-generation
อาณัติ อนันตภาค. 2558. ประวัติศาสตร์กัมพูชา จากอาณาจักรโบราณสู่แผ่นดินแห่งน้ำตา. (พิมพ์ครั้งที่ 1). ยิปซี กรุ๊ป
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :