โลกกำลังลุกเป็นไฟ เมื่อโลกร้อนกำลังกัดกินเศรษฐกิจ
“โลกกำลังลุกเป็นไฟ” คำกล่าวนี้ดูจะไม่เกินจริงนักเมื่อภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญภาวะวิกฤติโลกร้อน สภาพอุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้กำลังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการทำงานของผู้คน คลื่นความร้อนในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ปกคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกาโดยสร้างสถิติอุณหภูมิใหม่รายวันในหลายเมือง ในขณะที่สถานการณ์ในยุโรปเลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นเมื่อคลื่นความร้อนที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นจนคร่าชีวิตผู้คนราว 2,700 คนในสเปนและโปรตุเกส ก่อนที่จะเคลื่อนตัวขึ้นเหนือไปยังฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรจนสร้างสถิติใหม่ในปารีส (เกือบ 43.3°C/110°F) และลอนดอน (40°C/104°F)
ในขณะเดียวกันไฟป่าก็โหมกระหน่ำทั่วทวีปยุโรป ทำลายพื้นที่หลายแสนเฮกตาร์ ทำให้ยุโรปแห้งแล้งรุนแรงที่สุดในรอบอย่างน้อย 500 ปี ส่วนในทวีปเอเชียก็ไม่เว้นเมื่อความร้อนที่แผดเผาปากีสถานกลายเป็นสาเหตุที่นําไปสู่เหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรง และอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นทางตอนใต้ของจีนทำให้ทุกภาคส่วนหยุดชะงักและทำให้หลายเมืองไม่สามารถอยู่อาศัยได้ โดยจากรายงานความเสี่ยงระดับโลก ปี ค.ศ. 2023 (Global Risks Report 2023) ของ World Economic Forum 2023 เน้นย้ำและชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงจะกลายเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกในเวลาเพียงสองปีนับจากนี้
สถาบัน Adrienne Arsht-Rockefeller Foundation Resilience ได้ประกาศรายงานฉบับใหม่อย่าง Hot Cities, Chilled Economies: Impacts of Extreme Heat on Global Cities รายงานนี้เป็นความต่อเนื่องของการศึกษาทางเศรษฐกิจที่ดำเนินการร่วมกับ Vivid Economics โดยให้ความสำคัญกับผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจและสุขภาพเมืองจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดใน 12 เมืองทั่วโลก ซึ่งในระยะที่หนึ่งของงานนี้ซึ่งเผยแพร่ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2021 พบว่าโลกร้อนทำให้เกิดการสูญเสียผลิตภาพของแรงงานในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวมีมูลค่ารวมถึง 100 พันล้านดอลลาร์ และมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปี ค.ศ. 2030 และเพิ่มขึ้นเป็น 500 พันล้านดอลลาร์ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนับได้ว่าเป็นจำนวนที่มหาศาลเลยทีเดียว
นอกจากนี้ในรายงานยังชี้ให้เห็นว่าความร้อนที่สูงขึ้นนั้น ทำให้เกิดการหยุดชะงักของแรงงาน ทำให้มีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของพลเมือง ส่งผลให้บางเมืองถูกทิ้งร้างซบเซา โดยมีการตีมูลค่าการสูญเสียเหล่านี้ใน 12 เมืองที่ทำการศึกษาว่าสูงถึง 44 พันล้านดอลลาร์ และมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 84 พันล้านดอลลาร์ภายในปี ค.ศ. 2050 อุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ทำให้เมืองที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางที่เปราะบางในเอเชียและแอฟริกาต้องแบกรับภาระหนักอันเนื่องมาจากการเข้าถึงเทคโนโลยีที่จํากัด
ขอบเขตของความสูญเสียที่ขยายเป็นวงกว้างนั้นยิ่งเน้นย้ำว่าโลกร้อนเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องให้ความสนใจ การสร้างมาตรการในการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศที่รวดเร็วและครอบคลุมจะกลายเป็นสิ่งจําเป็นในการรับมือกับความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อประชากรและเมือง ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจท่ามกลางความท้าทายที่เพิ่มขึ้นของความร้อนที่ขับเคลื่อนด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
https://www.imf.org/en/Topics/climate-change/climate-and-the-economy
https://www.weforum.org/agenda/2023/08/extreme-heat-12-cities-respond-adaptation
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :