เศรษฐกิจ

ธนาคารพาณิชย์กับดอกเบี้ยนโยบาย

ธนาคารพาณิชย์กับดอกเบี้ยนโยบาย

ดอกเบี้ยนโยบาย ถือเป็นเครื่องมือทางการเงินหนึ่งของรัฐบาลที่ทรงพลังอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยทั่วไป ธนาคารแห่งประเทศหนึ่งๆ จะประกาศลดดอกเบี้ย เมื่อเศรษฐกิจแสดงภาวะอ่อนแอ เพื่อกระตุ้นให้คนนำเงินออกไปใช้มากขึ้น ในขณะที่หากเศรษฐกิจแสดงสภาวะร้อนแรงเกินไป เงินเฟ้อเติบโตเร็ว นโยบายขึ้นดอกเบี้ยจะนำมาใช้แทน เพื่อลดปริมาณเงินในระบบลง ธนาคารพาณิชย์กับดอกเบี้ยนโยบาย จึงถือว่ามีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันสูง

 

เมื่อธนาคารกลางประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลง ธนาคารพาณิชย์เกือบทุกแห่งในประเทศจะประกาศลดดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลง และผลที่มักเกิดตามมาคือบทวิเคราะห์จากสำนักต่างๆ ออกมาลดประมาณการณ์กำไรของธนาคาพาณิชย์ลงอย่างฮวบฮาบ และยังเกิดจิตวิทยาตลาดขึ้นเป็นแรงขายหุ้นธนาคารในกลุ่มออกมายกแผง

 

ทำไมจึงเป็นแบบนั้น ในเมื่อดอกเบี้ยก็ลดทั้งเงินฝากและเงินปล่อยกู้ ส่วนต่างที่ธนาคารได้ก็น่าจะเท่าเดิมไม่ใช่หรือ? ความจริงมันมีเหตุผลมากกว่านั้น

 

1 ดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงทันที แต่ดอกเบี้ยเงินฝากไม่ลดลงทันที

 

ทันทีที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศลดดอกเบี้ยลง ดอกเบี้ยเงินกู้จะถูกลดลงทันที เพราะโดยส่วนใหญ่ ดอกเบี้ยเงินกู้จะถูกตกลงกันแบบลอยตัวตามประกาศธนาคารเป็นส่วนมาก แต่ในขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากนั้นจะถูกตกลงกันแบบคงที่ เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ดอกเบี้ยเงินฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือน ซึ่งหมายความว่า ทันทีที่ลดดอกเบี้ย ธนาคารพาณิชย์จะมีรายได้ดอกเบี้ยลดลงทันที แต่รายจ่ายดอกเบี้ยโดยมากยังคงคงที่จนกว่าจะครบอายุสัญญา

 

2 ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำอาจไม่แสดงถึงความเสี่ยงที่ธนาคารต้องแบกรับ

 

ในภาวะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ กิจการย่อมมองเป็นโอกาสในการกู้เพื่อหาต้นทุนเงินทุนที่ต่ำลง แต่ในทางกลับกัน ธนาคารก็ถูกบังคับให้ปล่อยเงินกู้ในอัตราส่วนของผลตอบแทนที่ต่ำลงไปด้วย ซึ่งบางกิจการ ดอกเบี้ยที่ต่ำจากนโยบายอาจไม่คุ้มค่าความเสี่ยงที่ธนาคารต้องแบกรับจากการผิดนัดชำระหนี้ แต่หลายครั้งธนาคารก็ไม่มีทางเลือกเนี่องจากการปล่อยกู้เป็นรายได้สำคัญของธนาคาร ซึ่งท้ายที่สุด มันอาจจะกลายเป็นหนี้เสีย หรือ NPL ที่กัดกินกำไรของธนาคาร

 

3 ดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำอาจทำให้ประชาชนเลือกจะฝากเงินน้อยลง

 

ในภาวะที่ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ ประชาชนที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักในการฝากเงินย่อมมองหาผลตอบแทนที่มากขึ้นหรือสมน้ำสมเนื้อขึ้นในการลงทุน โดยเงินของประชาชนอาจเคลื่อนย้ายไปยังสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น ตลาดหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ ซึ่งเป็นการลดเงินหมุนเวียนของธนาคาร แปลว่าธนาคารจะมีเงินมาปล่อยกู้หรือทำธุรกรรมลดลง และนั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีในธุรกิจธนาคารนัก

 

4 ดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำอาจนำมาซึ่งฟองสบู่ของสินทรัพย์

 

ทุกครั้งที่ดอกเบี้ยต่ำ เงินจะถูกนำออกมาหมุนเวียนในระบบมากขึ้นเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า เห็นได้ชัดจากการเก็งกำไรตราสารต่างๆ เช่น เก็งกำไรหุ้น (วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง) เก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ (วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งการแตกของฟองสบู่ในที่สุด โดยการแตกของฟองสบู่มักจะส่งผลรุนแรงต่อธนาคารพาณิชย์เสมอ เพราะพอร์ตหนี้ที่เคยเป็นสินทรัพย์ของธนาคารอาจจะกลายเป็นหนี้สูญหมดไปก็ได้

 

อย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่อัตราส่วนหนี้ NPL พุ่งขึ้นสูงแตะระดับ 50% ของหนี้สินรวม นอกจากด้านการเก็งกำไรแล้ว ดอกเบี้ยที่ต่ำก็เร่งให้เกิดการสร้างหนี้โดยหลายครั้งผู้ก่อหนี้ก็ไม่คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้อย่างเพียงพอ อย่างที่เห็นได้ในวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่คนต่างกู้เงินออกมาซื้อบ้านกันมากมายเนื่องจากดอกเบี้ยระยะแรกในการกู้ต่ำมาก แต่พอสุดท้ายดอกเบี้ยกลับมาลอยตัว ผู้กู้ก็หมดความสามารถในการชำระหนี้ หนี้กลายเป็นหนี้สูญ สินทรัพย์ที่ยึดมาก็ขายทอดตลาดได้ในราคาต่ำเตื้ยเรี่ยดิน ผลการรับรู้การขาดทุนตกมาอยู่ที่ธนาคารพาณิชย์โดยปริยาย

 

สุดท้ายนี้ การขึ้นดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ยไม่ใช่วิกฤตของธนาคารพาณิชย์ที่จะสามารถชี้ชัดได้ว่านโยบายเหล่านี้ดีหรือไม่ดี แต่นโยบายดอกเบี้ยนั้นผูกติดกับธนาคารพาณิชย์อย่างเสียไม่ได้ นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ควรติดตามกระแสเงินทุนประเทศและกระแสเงินทุนโลกอย่างใกล้ชิด การวิเคราะห์ธนาคารเพียงใช้แค่ความน่าเชื่อถือของธนาคาร ผสมกับอัตราส่วนทางการเงินอีกไม่กี่ตัว เช่น ROE NPM EPS อาจจะไม่เพียงพอต่อสภาวะที่กระแสเงินทุนโลกผันผวนเช่นนี้

 

นักลงทุนระดับประเทศคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า… ธุรกิจธนาคารคือธุรกิจที่ดีจนกว่ามันจะไม่ดี

 

เพราะในภาวะปรกติ ธนาคารพาณิชย์เป็นกิจการที่อยู่คู่ประเทศเสมอ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่วิกฤตมา ธนาคารพาณิชย์ที่ไม่แข็งแกร่งพอก็จะล้มหายตายจากไปอย่างน่าใจหาย แต่สิ่งสำคัญคือไม่มีใครรู้ว่าวิกฤตจะมาเมื่อไหร่ ธนาคารจึงเป็นหุ้นที่ดี… จนกว่าจะมีวิกฤตนั่นเอง!

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน