สรุปวิกฤต Ruble Crisis : ค่าเงินรัสเซียหายไป 70%
ช่วงหลังๆ สายเที่ยวอาจได้เห็นโปรโมชั่นทัวร์ราคาถูกในประเทศรัสเซียให้เลือกกันไม่หวาดไม่ไหว เนื่องจากค่าเงินรูเบิลที่อ่อนยวบมาเหลือเพียง 1 รูเบิล = 0.43 บาท ขณะที่ราวๆ ปี 2012 เงินรูเบิลยังสามารถแลกเป็นเงินไทยได้ประมาณ 1 บาท หรือถ้าย้อนไปช่วง 2008 เงินรูเบิลแลกเงินบาทได้เกือบ 1.5 บาท นั่นแปลว่าเราใช้เงินบาทน้อยลงก็สามารถแลกเงินรูเบิลได้มากขึ้น ช้อปปิ้งกันได้อย่างสนุกสนานมากขึ้น
ค่าเงินที่อ่อนดูจะมีประโยชน์ต่อหลายคนโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวทุกสารทิศ แต่ไม่ใช่กับรัสเซีย ค่าเงินที่อ่อนนี้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศโตเพียงประมาณปีละ 1% เศษๆ เท่านั้น เพราะวิกฤตที่เรียกว่า Ruble Crisis
Perfect Strom
Perfect Strom คือความหมายที่ใช้อธิบายถึงเหตุการณ์ที่สิ่งเลวร้ายต่างๆ เกิดขึ้นพร้อมกันราวกับฟ้ากลั่นแกล้ง และนี่อาจเป็นคำอธิบายที่ดีที่สุดสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับรัสเซีย ในช่วงปี 2014 เศรษฐกิจของรัสเซียพึ่งพิงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 70% ด้วยราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงราวๆ 100 เหรียญต่อบาร์เรล ทุกอย่างยังดำเนินต่อไปตามปกติถ้าราคาน้ำมันยังอยู่ที่ระดับนี้
แต่นั่นแปลว่า หากราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำ ชาติที่ทำมาหากินกับพลังงานย่อมได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากหาเงินกับน้ำมันได้น้อยกว่าเดิม
คงไม่มีใครคิดว่าสิ่งที่ทุกคนต้องใช้อย่างน้ำมันจะมีราคาลดลงได้ เพราะยิ่งมีคนใช้ราคาก็ยิ่งแพงขึ้น รัสเซียอาจเชื่อแบบนั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ภาคเศรษฐกิจชะลอตัวลงจนทำให้ธุรกิจใช้น้ำมันน้อยลง ในขณะที่การผลิตน้ำมันในประเทศอื่นก็ยังคงอยู่ เมื่อความต้องการซื้อลดลง แต่ปริมาณขายยังคงเดิม ราคาของน้ำมันก็ต้องร่วงตามอุปสงค์อุปทานที่เกิดขึ้น
ดอกเบี้ย
โลกที่อยู่ในสภาพแวดล้อมของดอกเบี้ยต่ำติดดินย่อมทำให้นักลงทุนวิ่งหาผลตอบแทนที่สูงกว่าเป็นธรรมดา ช่วงปี 2014 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของรัสเซียอยู่ที่ประมาณ 10% ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยหลายๆ ประเทศในโลก แน่นอนรวมถึงสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้เอง เงินจำนวนมากจึงไหลเข้าประเทศรัสเซียเพราะให้ดอกเบี้ยที่จูงใจกว่าประเทศอื่น
แต่แล้วเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว ธนาคารกลางสหรัฐหรือ Fed จึงค่อยๆ ปรับเพิ่มดอกเบี้ย เงินที่เคยไหลไปอยู่ประเทศอื่นก็เริ่มกลับเข้าสู่สหรัฐอเมริกาอีกครั้ง รวมถึงเงินที่เคยอยู่ในประเทศรัสเซียด้วย
แล้วปัจจัยทั้งสองนี้เกี่ยวอะไรกับค่าเงินรูเบิล ?
ในเรื่องของราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันที่ร่วงจาก 100 เหรียญมาจนถึงจุดต่ำสุดที่ 30 เหรียญได้ส่งผลอย่างร้ายกาจต่อบริษัทพลังงานในประเทศซึ่งบางแห่งเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ดังนั้นหากบริษัทขาดทุนจากราคาน้ำมันจนหาเงินชำระหนี้ไม่ได้ รัฐก็อาจต้องเข้ามาอุ้มจนส่งผลต่อเงินทุนสำรองของประเทศ หลายคนที่กังวลในปัจจัยนี้จึงเทขายเงินรัสเซียทิ้ง ยิ่งเทขายก็ยิ่งทำให้ค่าเงินอ่อน
ส่วนในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้นตรงตัว ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นของสหรัฐทำให้เงินทุนไหลกลับ (ว่ากันว่าสูงกว่า 130 พันล้านเหรียญ) คนที่มีเงินรูเบิลอยู่ในมือย่อมต้องขายรูเบิลทิ้ง ยิ่งเทขายก็ยิ่งทำให้ค่าเงินอ่อนเช่นกัน เมื่อรวมทั้งสองปัจจัยนี้ เงินรูเบิลจึงลงเอยด้วยการเป็นสกุลเงินที่สุดแสนจะอ่อนโยนอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้า
ซ้ำรายกว่านั้น รัสเซียยังถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกเนื่องจากเข้าไปล้ำเส้นในประเทศยูเครน จนการคว่ำบาตรนี้ทำให้ขายของได้ยากขึ้น แถมการกู้เงินจากต่างประเทศก็ทำได้ยากขึ้น บริษัททั้งหลายในประเทศรัสเซียที่กู้เงินสกุลดอลลาร์ต่างก็เดือดร้อนไปตามกัน ต้องหาเงินมาจ่ายหนี้ทั้งที่ขายของได้น้อยลงและหาเงินมากู้ใหม่ก็ไม่ได้อีก ปัจจัยทั้งหมดนี้จึงทำให้คนไม่เชื่อมั่นในเศรษฐกิจรัสเซียอีกต่อไป เงินรูเบิลกลายเป็นของแสลงและยังอ่อนตัวจนถึงทุกวันนี้
การแก้ปัญหา
ที่น่าประทับใจเกี่ยวกับเรื่องนี้คือความพยายามของรัฐในการพยุงค่าเงินรูเบิล ในตอนแรกรัฐบาลรัสเซียได้ใช้เงินไปแล้วกว่า 80,000 ล้านเหรียญเพื่อพยุงค่าเงิน ร่วมกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนสูงลิ่วเพื่อรั้งเงินต่างชาติไม่ให้ออกไปจากอ้อมอก แต่เมื่อเห็นว่าไม่ได้ผล รัฐบาลก็ปล่อยให้ค่าเงินเป็นไปในแบบที่ควรจะเป็น แทนที่จะทู่ซี้ปกป้องค่าเงินต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าจะต้องหมดเงินอีกเท่าไหร่
อีกทั้งประเทศนี้ยังพัฒนาความสามารถของตนเองจนสามารถลดต้นทุนการผลิตน้ำมันลงได้จากเดิมที่อยู่สูงเกือบ 100 เหรียญต่อบาร์เรล มาเหลือต้นทุนเพียง 52 เหรียญต่อบาร์เรล ทำให้รัสเซียสามารถกลับมาแข่งขันได้อีกครั้ง แถมการค้ายังกลับมาเกินดุลได้อีกด้วยซ้ำไป
มันเป็นวิกฤตที่แทบไม่เหมือนวิกฤต เพราะการจัดการที่เหมาะสมของรัฐบาลรัสเซียนั่นเอง
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
เอกสารอ้างอิง
What Caused the Russian Financial Crisis of 2014 and 2015 : thebalance.com
The falling rouble – all you need to know about Russia’s currency crisis : theguardian.com
วิกฤตการณ์หมีขาว : thaibizrussia.com
How the 2014 Economic Crisis Changed Russia’s Economy : geohistory.today
World: Total Oil Supply : tititudorancea.com
แล้ว ‘เศรษฐกิจรัสเซีย’ จะไปอย่างไรต่อ : bangkokbiznews.com
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :