หากจะพูดถึงวลีเด็ดของยุคสมัยนี้ คำที่จะไม่มีทางหลุดออกไปจากโผแน่นอนคือคำว่า “4.0” ใครๆ ก็พูดว่า Thailand 4.0 ประเทศเราจะมุ่งสู่ 4.0 จนคำว่า 4.0 กลายเป็นคำที่ถูกใช้ในบริบทต่างๆ มากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่เราทุกคนน่าจะเป็นเหมือนกันคือรู้ว่า 4.0 น่าจะเป็นอะไรสักอย่างที่ดี แต่ก็อธิบายไม่ถูกเหมือนกันว่ามันคืออะไร และที่สำคัญ ถ้าไทยแลนด์จะไป 4.0 แปลว่าตอนนี้เราผ่าน 1.0 2.0 และ 3.0 มาแล้วหรือเปล่า เลขแต่ละตัวคืออะไร มีความหมายว่าอะไร วันนี้ เราจะมารู้จักกับประเทศไทยตั้งแต่ยุค 1.0 ไปถึง 4.0 (ถ้าไปถึงได้) กัน
ตัวเลข 4.0 บ่งบอกถึงระดับการพัฒนาสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย
Thailand 1.0 คือ ประเทศไทยยุคกสิกรรม
ระยะแรกของการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศต่างๆ มักเริ่มต้นเศรษฐกิจด้วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรดั้งเดิมในชาติ เนื่องจากในความรู้และเทคโนโลยีไม่มาก และมักจะสอดคล้องกับลักษณะสังคมและเศรษฐกิจดั้งเดิมของประเทศอยู่แล้ว ในกรณีประเทศไทย 1.0 ประเทศเราขับเคลื่อนด้วยภาคการเกษตร โดยเน้นการส่งออกข้าวเป็นหลักจนได้เข้าชิงตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกหลายต่อหลายครั้ง แต่การส่งออกทรัพยากรการเกษตรก็เป็นธุรกิจที่มีความผันผวนจากราคาโภคภัณฑ์โลก นอกจากนี้สินค้ายังไม่ค่อยแตกต่างกันมาก ทำให้อยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง และผันผวนไปตามภาวะเศรษฐกิจโลก
Thailand 2.0 คือ ประเทศไทยยุคอุตสาหกรรมเบา
ระยะต่อมาของการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศชาติจะพัฒนาขึ้นมาเป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้น เนื่องจากลักษณะธุรกิจที่มีความแน่นอนสูงกว่า และมักจะสร้างผลผลิตต่อตารางเมตรและประชากรได้มากขึ้น ระยะนี้ประเทศชาติมักจะเริ่มต้นจากอุตสาหกรรมการผลิตที่มีความซับซ้อนไม่มาก ตัวอย่างเช่นอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร โดยจุดเด่นของยุคนี้ที่จะทำให้เป็นผู้ชนะได้คือการมีต้นทุนค่าแรงที่ถูกกว่าประเทศที่เป็นฐานการผลิตอื่นจนทำให้สินค้ามีราคาในระดับที่แข่งขันได้ในตลาดโลก ระยะนี้รายได้ต่อหัวประชากรก็จะค่อยๆ ขยับตัวสูงขึ้นตามคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้นจากการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้ประเทศมากขึ้น
Thailand 3.0 คือ ประเทศไทยยุคอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่า
เมื่อรายได้ต่อหัวประชากรขยับตัวเพิ่มสูงขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำของประเทศจะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นตามรายได้ประชากรและเงินเฟ้อ ทำให้การทำอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนน้อยแข่งขันได้ยากขึ้นเรื่อยๆ จากสภาพต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น ระยะนี้ประเทศต้องพัฒนาขึ้นไปเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเพิ่มมูลค่ามากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น และใช้นวัตกรรมมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าประเภทรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบมาเป็นอันดับหนึ่งของมูลค่าการส่งออกสินค้ารวม รองมาคือเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ สะท้อนภาพการพัฒนาตัวเองมาจากยุค 2.0 ได้เป็นอย่างดี
Thailand 4.0 คือ ประเทศไทยยุคนวัตกรรมและรายได้สูง
เป้าหมายหลักเชิงเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่คือ การเติบโตของเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัวของประชากร จนประเทศกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือมีรายได้ต่อหัวของประชากรสูง การจะพัฒนาตัวเองไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วต้องพึ่งพาการบริโภคในประเทศที่แข็งแกร่งและอุตสาหกรรมที่มีความสามารถในการแข่งขันได้ในระดับโลก ยิ่งประเทศชาติพัฒนาขึ้นเท่าไหร่ ต้นทุนค่าแรงของประชากรจะเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น ทำให้การทำธุรกิจเดิมๆ ที่มีความซับซ้อนไม่มากจะแข่งขันยากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับประเทศกำลังพัฒนาที่ค่าแรงต่ำกว่าได้ ประเทศจึงต้องหันมาพึ่งพิงภาคการบริโภคในประเทศที่จะเติบโตไปตามคุณภาพชีวิตของประชากร และหันมาสร้างศักยภาพธุรกิจของประเทศให้แข่งขันในเวทีโลกได้
การจะเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ 4.0 จึงต้องการเปลี่ยนจากการทำธุรกิจแบบ “DO” เป็น “MAKE” คือเน้นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่มากกว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมเดิมๆ หรืออีกนัยหนึ่งคือธุรกิจไทยต้องมีแบรนด์ในระดับโลก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มหรือรายได้เข้าสู่ประเทศที่จะขยายขอบเขตกว้างขึ้นจากห่วงโซ่อุปทานที่เคยเป็นผู้รับจ้างผลิตมาเป็นเจ้าของนวัตกรรม
ประเทศไทยตั้งเป้าจะเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับสูงภายในปี 2032
นอกจากการรอคอยภาครัฐและภาคเอกชนให้สร้างชาติแล้ว ปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดคือ “คนไทยทุกคน” ที่จะช่วยกันพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถมากขึ้นและมีมูลค่าในตัวเองมากขึ้น
ยิ่งประชากรแต่ละคนหารายได้ได้มากเท่าไหร่ เศรษฐกิจก็จะยิ่งเติบโตไปสู่อนาคตมากขึ้นเท่านั้น สำคัญที่สุด ไทยแลนด์ 4.0 ก็อยู่ที่พวกเราทุกคนนั่นเอง
ติดตามเรื่องข่าวเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่ : แหล่งรวมความรู้หุ้นที่นักลงทุนควรเข้าทุกวัน
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
ปล. เครดิตรูปภาพ wikimedia
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :