เกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจประเทศไทย ปัจจัย 3 ข้อที่ส่งผลให้ประเทศไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ปัญหาเศรษฐกิจเป็นวิกฤตที่ประเทศทั่วโลกต้องเผชิญ นับจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปจนถึงภาวะเงินเฟ้อ ผลกระทบจากความขัดแย้งในสงครามครั้งแล้วครั้งเล่า ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเหล่านั้นด้วยเช่นกัน ในปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของไทยเติบโตช้า จีดีพีของประเทศในปีพ.ศ.2567 ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 นับว่าต่างจากในปี พ.ศ. 2565 ที่จีดีพีเติบโตร้อยละ 2.5 ในครั้งนี้ ลงทุนศาสตร์ขอพาท่านผู้อ่านไปสำรวจปัจจัย 3 ประการ ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตช้า และเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ดังนี้ [1, 2, 3, 4]
ปัจจัยแรกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ คือปัญหาหนี้สินที่พุ่งสูงขึ้น เศรษฐกิจไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งหลาย รวมถึงประชาชนทั่วไปยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ และมีความสามารถในการชำระหนี้ได้น้อย ปริมาณหนี้เสียเพิ่มจำนวนขึ้น ในปี พ.ศ. 2567 นี้ หนี้สินครัวเรือนของไทยอาจพุ่งสูงถึงร้อยละ 90.7 ต่อจีดีพี ขณะเดียวกัน เมื่อผู้คนเผชิญกับปัญหาหนี้สิน ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยก็มีแต่จะลดน้อยลง เม็ดเงินที่หมุนเวียนในเศรษฐกิจหายไป
ปัจจัยต่อมาที่สำคัญไม่แพ้กันกับปัญหาหนี้สิน คือปัญหาด้านการศึกษา เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้ช้ากว่าประเทศในแถบอาเซียนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ฟิลิปปินส์ หรืออินโดนีเซีย โดยเมื่อย้อนดูประสิทธิภาพทางการศึกษาของไทยแล้ว จะเห็นได้ว่า ไทยเป็นประเทศที่มีระดับทักษะภาษาอังกฤษต่ำที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียน และไทยยังมีผลสอบ PISA ที่ต่ำสุดในรอบ 20 ปีในทุกทักษะ ปัญหาด้านการศึกษากลายเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน เมื่อการศึกษาที่ตกต่ำมีส่วนทำให้แรงงานไม่เป็นที่ต้องการของตลาด คะแนนภาษาอังกฤษที่ต่ำกว่าประเทศอาเซียนด้วยกันยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าไทยยังไม่พร้อมจะรองรับการทำงานในระดับสากล
ปัจจัยสุดท้ายที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือปัญหาทางด้านการเมืองที่ยังคงยืดเยื้อ ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการมายาวนาน ความไม่แน่นอนของระบอบการปกครองส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และแม้ว่าไทยจะมีรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายกเศรษฐา ทวีสิน แต่ข้อขัดแย้งด้านการเมืองในสังคมไทยก็ยังคงไม่จบสิ้น บรรดานักลงทุนต่างจับตามองเสถียรภาพของการปกครองไทยไปพร้อมกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ในขณะที่การทำงานของรัฐบาลใหม่ยังคงเต็มไปด้วยความกดดัน
จีดีพีที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 ในปี พ.ศ. 2566 สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2567 นี้ ประเทศไทยคาดการณ์จีดีพีอยู่ที่ช่วงร้อยละ 2.2-3.2 เราคงได้แต่จับตากันต่อไปว่า รัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายจะสามารถแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ได้หรือไม่ ท่ามกลางปัญหาหนี้สินที่ยังลุกลาม ทั้งในระดับครัวเรือนและเหล่าบรรดาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี การศึกษาของประชาชนที่ควรต้องปรับปรุงคุณภาพ และการเมืองที่ยังถูกตั้งคำถามด้านความมั่นคง
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
อ้างอิง
[1] Vijitra Duangdee. (April 1, 2024). Thailand’s economy stumbles as Philippines, Vietnam, Indonesia race ahead. Retrieved from https://www.aljazeera.com/economy/2024/4/1/thailands-economy-stumbles-as-philippines-vietnam-indonesia-race-ahead
[2] Kitiphong Thaichareon and Orathai Sriring. (January 29, 2024). Thai economy in recession, needs a boost -deputy finmin. Retrieved from https://www.reuters.com/markets/asia/thai-economy-recession-needs-boost-finance-official-2024-01-29
[3] บทบรรณาธิการ กรุงเทพธุรกิจ. (20 กุมภาพันธ์ 2567). ‘เศรษฐกิจไทย’ กำลังเดินเข้าสู่ ‘ภาวะถดถอย’ ?. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/business/1113932
[4] ไทยรัฐออนไลน์. (3 เมษายน 2567). “หนี้ครัวเรือน” ส่อพุ่ง 16.8 ล้านล้าน ย้ำปัญหา รายได้ไม่พอใช้จ่าย แม้คนไทยลด “ก่อหนี้” ก้อนใหม่. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2775635
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :