การเงิน

หากงบประมาณไม่ใช่คำตอบ แผนการใช้จ่ายอาจเป็นทางออก คำแนะนำจากนักจิตวิทยาการเงิน

หากงบประมาณไม่ใช่คำตอบ แผนการใช้จ่ายอาจเป็นทางออก คำแนะนำจากนักจิตวิทยาการเงิน

หากงบประมาณไม่ใช่คำตอบ แผนการใช้จ่ายอาจเป็นทางออก คำแนะนำจากนักจิตวิทยาการเงิน

 

การวางงบประมาณ (budget) เป็นส่วนสำคัญที่ผู้สร้างวินัยทางการเงินทั้งหลายควรมี แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำตามแผนการที่วางไว้ได้โดยไม่รู้สึกอึดอัดใจ การตีกรอบจำนวนเงินที่ใช้จ่ายได้อาจกลายเป็นการท้าทายความต้องการในใจลึก ๆ ให้อยากจะลองออกนอกเส้น และหากยับยั้งชั่งใจไม่อยู่ แผนการเงินที่วางไว้ก็อาจพังไม่เป็นท่า หากว่าการกำหนดงบประมาณใช้จ่ายไม่เหมาะกับท่าน [1]

 

แทนที่จะกำหนดแต่งบประมาณ ในครั้งนี้ ลงทุนศาสตร์ขอนำเสนอความแตกต่างระหว่างงบประมาณและแผนการใช้จ่าย [2] รวมถึงการจัดสรรงบการใช้จ่าย (spending plan) ที่นับเป็นหนึ่งในวิธีการบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ตามคำแนะนำของนักจิตวิทยาการเงิน [3] ดังนี้

 

งบประมาณและแผนการใช้จ่ายต่างกันอย่างไร ?

งบประมาณนั้นถูกสร้างขึ้นจากการกำหนดรายจ่ายที่ต้องใช้ในช่วงเวลาหนึ่งอย่างชัดเจน โดยอาจแบ่งรอบเวลาเป็นรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี เป้าหมายของการวางงบประมาณคือการควบคุมการใช้จ่ายไม่ให้เกินไปกว่างบที่มี ในการวางงบประมาณ ต้องอาศัยข้อมูลรายรับและรายจ่ายในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนถึงเส้นทางการใช้จ่ายเงินที่ผ่านมา และเริ่มกำหนดได้ว่าจะกำหนดงบประมาณสำหรับการใช้จ่ายแต่ละอย่างในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ที่เท่าไหร่

 

งบประมาณเป็นการวางแผนงบการเงินที่ใช้ได้ในช่วงเวลาที่กำหนดอย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม แผนการใช้จ่ายมีความยืดหยุ่นมากกว่านั้น แผนการใช้จ่ายเป็นเสมือนด้านกลับของงบประมาณที่ไม่ได้พิจารณาจากเงินที่จะต้องใช้ไปอย่างแน่นอนในระยะเวลาที่กำหนด แต่พิจารณาจากความต้องการใช้จ่ายตามเป้าหมายระยะยาวในอนาคต ในการวางแผนการใช้จ่าย ผู้วางแผนต้องทำความรู้จักกับเป้าหมายของตนเอง สิ่งที่ตนเองให้คุณค่า และพอใจที่จะใช้จ่ายไปกับสิ่งเหล่านั้น อาจกล่าวได้ว่า งบประมาณเป็นการวางแผนเงินตามความจำเป็น ในขณะที่แผนการใช้จ่ายเป็นการวางแผนเงินเพื่อจะใช้ไปตามเป้าหมายที่ใจต้องการ

 

จากที่กล่าวมานี้ ดูเหมือนว่าทั้งงบประมาณและแผนการใช้จ่ายมีความสำคัญต่อการบริหารจัดการเงินไม่ต่างกัน แต่สำหรับบางคนแล้ว การจัดงบประมาณซึ่งเป็นการจำกัดเงินที่ต้องใช้อาจทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดที่ต้องคอยควบคุมค่าใช้จ่าย ดังนั้น ตามคำแนะนำของนักจิตวิทยา การเริ่มต้นวางแผนทางการเงินจากการสร้างแผนการใช้จ่ายอาจเป็นจุดแรกเริ่มที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจได้ดีกว่า ทั้งนี้ เคล็ดลับการวางแผนการใช้จ่ายทางการเงิน มีกระบวนการดังต่อไปนี้

 

เริ่มแรก การสร้างแรงจูงใจที่ดีในการวางแผนการใช้จ่าย อาจเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ เพียงเปลี่ยนมุมมองว่า “เรากำลังใช้ชีวิตทำงานหาเงินเพื่อใช้จ่ายตามงบประมาณที่ต้องควบคุมไว้” ให้กลายเป็น “ฉันกำลังใช้ชีวิตหาเงินเพื่อทำตามเป้าหมายที่ใจต้องการ” เมื่อตั้งใจไว้ดังนี้แล้ว ขอให้ค้นหาจนเจอก่อนว่าตนเองกำลังอยู่ในจุดไหน มีสถานะอย่างไร หาเงินได้จากช่องทางไหน และมีความรับผิดชอบใดบ้าง จากนั้นจึงสำรวจความต้องการของตนเองให้ลึกซึ้งว่าตนเองมีเป้าหมายอย่างไร จากจุดที่ยืนอยู่ มองตัวเองไปในข้างหน้าแบบไหน มีความต้องการใช้ชีวิตอย่างไร ให้คุณค่ากับสิ่งใด เต็มใจที่จะใช้จ่ายเงินไปกับสิ่งใดบ้าง

 

เมื่อสำรวจจนได้คำตอบที่ชัดเจนแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการคิดวางแผนทำให้ความต้องการเหล่านั้นสำเร็จเป็นจริง โดยการวางแผนแจกแจงความต้องการที่เป็นเป้าหมายของชีวิต ลองคิดเชื่อมโยงลากเส้นดูว่าสิ่งที่วางแผนไว้จะนำพาชีวิตไปถึงจุดที่ต้องการได้อย่างไร และตั้งใจลงมือทำตามเป้าหมายเหล่านั้น ในขณะเดียวกันก็หมั่นทบทวนแผนการใช้จ่ายที่วางไว้อยู่เสมอว่ามีสิ่งใดที่ต้องปรับปรุงอีกหรือไม่

 

แม้ไม่มีคำตอบตายตัวว่างบประมาณหรือการวางแผนการใช้จ่ายจะช่วยสร้างวินัยทางการเงินได้ดีกว่ากัน สำหรับบางท่าน การจัดสรรทั้งงบประมาณและคิดคำนวณแผนการใช้จ่ายอาจเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายและส่งเสริมกันไปด้วยอย่างดี ในขณะที่บางท่านอาจเลือกทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าทางเลือกของแต่ละท่านเป็นเช่นไร ลงทุนศาสตร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะทำตามได้ตามแผนที่ตั้งใจไว้ได้อย่างดีตามความถนัดของตนเอง

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
[1] Julian Kheel. (May 28, 2020). Hate budgeting? Make a spending plan instead. (Yes, there’s a difference. Retrieved from https://edition.cnn.com/cnn-underscored/money/spending-plan-household-budget-alternative
[2] Hubble. (March 27, 2023). Budgeting Vs Spending Plan — Are They Different From Each Other?. Retrieved from https://www.myhubble.money/blog/budgeting-vs-spending-plan-are-they-different-from-each-other-hubble-money
[3] Ana Teresa Solá. (June 27, 2023). Don’t budget, says financial psychologist. Here’s why he recommends a ‘spending plan’ instead. Retrieved from https://www.cnbc.com/2023/06/27/why-a-spending-plan-is-better-than-a-budget-financial-psychologist.html

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน