การเงิน

บริหารเงินจากงานไม่ประจำให้สม่ำเสมอ เคล็ดลับการเงิน 4 ข้อสำหรับฟรีแลนซ์

บริหารเงินจากงานไม่ประจำให้สม่ำเสมอ เคล็ดลับการเงิน 4 ข้อสำหรับฟรีแลนซ์

บริหารเงินจากงานไม่ประจำให้สม่ำเสมอ เคล็ดลับการเงิน 4 ข้อสำหรับฟรีแลนซ์

 

อาชีพในปัจจุบันนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงงานประจำเท่านั้น รูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้นนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนรับงานเสริมมากขึ้น และเลือกทำงานในรูปแบบฟรีแลนซ์กันมากขึ้น [1] อย่างไรก็ตาม รูปแบบเงินของฟรีแลนซ์ที่ไม่ได้มีจำนวนแน่นอนในแต่ละเดือนเหมือนงานประจำก็อาจทำให้ผู้ทำงานฟรีแลนว์บางท่านประสบปัญหาในการจัดการเงินอย่างเป็นระบบ ในที่นี้ ลงทุนศาสตร์ขอแนะนำเคล็ดลับ 4 ประการที่จะช่วยให้เหล่าผู้ทำงานฟรีแลนซ์บริหารรายได้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้ [2]

 

ประการแรก บันทึกรายรับทุกช่องทางไว้อย่างละเอียด และลองคำนวณรายรับที่ได้เป็นรายปี แม้ว่าฟรีแลนซ์จะไม่มีจำนวนเงินที่ได้รับแต่ละเดือนตายตัวเหมือนงานประจำ แต่การลองคำนวณยอดรวมของรายได้ทั้งหมดที่มีเข้ามาในหนึ่งปีจะทำให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่างานที่ทำสัมพันธ์กับเงินที่ได้อย่างไร และเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ การจดรายได้ที่เข้ามาทั้งหมดอาจทำได้โดยการบันทึกข้อมูลในแอปพลิเคชัน ไฟล์ excel หรือวิธีการอื่นตามแต่ความสะดวก จำนวนรายรับเหล่านี้ยังเป็นประโยชน์สำหรับการเตรียมคำนวณเพื่อยื่นเรื่องภาษีอีกด้วย

 

ประการที่สอง บันทึกทุกรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน งานฟรีแลนซ์ดูเหมือนเป็นงานที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ มีความยืดหยุ่นสูง อย่างไรก็ตาม ทุกอาชีพมีต้นทุนที่ต้องใช้ไม่ต่างกัน ผู้ทำงานฟรีแลนซ์ไม่ควรลืมคำนวณสิ่งที่ตนเองต้องจ่ายไปสำหรับการทำงาน ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอุปกรณ์ ค่าเครื่องดื่มในคาเฟ่ (ในกรณีที่สถานที่ทำงานหลักของท่านเป็นร้านประจำนอกบ้าน) รวมไปถึงค่ารักษาพยาบาล เช่นค่านวดแผนไทย รักษาออฟฟิศซินโดรม การบันทึกรายจ่ายเหล่านี้จะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าเงินที่เข้ามาคุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เสียไปหรือไม่ เพื่อให้วางแผนการใช้จ่ายหรือการเลือกรับงานได้ดียิ่งขึ้น

 

ประการที่สาม จัดการเรื่องภาษีให้ชัดเจน แม้จะเป็นฟรีแลนซ์ แต่การเสียภาษีก็ไม่มีข้อยกเว้น หากฟรีแลนซ์ (รวมถึงอาชีพอิสระอื่น เช่น แม่ค้าออนไลน์) ไม่ได้จดทะเบียนบริษัท จะต้องคิดภาษีรายได้แบบบุคคลธรรมดา โดยใช้สูตรการคำนวณ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้ว ฟรีแลนซ์จะโดนหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 3 โดยภาษีส่วนนี้สามารถขอคืนได้เช่นกัน [3] เรื่องภาษีอาจมีความซับซ้อน แต่หากทำความเข้าใจให้ถ่องแท้แล้ว ผู้ทำงานฟรีแลนซ์อาจสามารถขอเงินคืนได้ และจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

ประการสุดท้าย ทำให้งานฟรีแลนซ์เป็นเหมือนกับงานประจำ การทำงานและการรับเงินของฟรีแลนซ์และมนุษย์เงินเดือนมีความแตกต่างกัน แต่ความจำเป็นในการบริหารจัดการเงินนั้นไม่แตกต่างกัน หนึ่งในวิธีที่สามารถช่วยเรื่องการบริหารเงินของฟรีแลนซ์ คือการลองสมมุติตัวเองเป็นผู้ทำงานรับเงินเดือน และแบ่งจ่ายเงินที่ได้จากการทำงานแบบฟรีแลนซ์เป็นเงินเดือน การสมมุติเช่นนี้จะช่วยให้ผู้ทำงานฟรีแลนซ์ที่ได้รับเงินก้อนใหญ่สามารถแบ่งใช้เงินได้พอดีกับความจำเป็น

 

เคล็ดลับการบริหารเงินเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์กับฟรีแลนซ์เท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยให้กลุ่มอาชีพอิสระทั้งหลาย เช่น แม่ค้าออนไลน์ ได้จัดการเงินที่เข้ามาไม่แน่นอนอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ไม่ว่าท่านผู้อ่านจะมีอาชีพแบบใด ลงทุนศาสตร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะเริ่มบริหารจัดการเงินอย่างเป็นระบบ เพื่อความมั่งคั่งมั่นคงทางการเงินในระยะยาว

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
[1] Uri Berliner. (September 16, 2020). Jobs In The Pandemic: More Are Freelance And May Stay That Way Forever. Retrieved from https://www.npr.org/2020/09/16/912744566/jobs-in-the-pandemic-more-are-freelance-and-may-stay-that-way-forever
[2] Ginny Hogan. (April 13, 2023). Year-Round Financial Planning Tips For Freelancers. Retrieved from https://www.forbes.com/sites/ginnyhogan/2023/04/13/year-round-financial-planning-for-freelancers/?sh=6200cf2f6307
[3] หลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย. (). อาชีพฟรีแลนซ์ โสด รายได้ดี ลงทุนลดหย่อนภาษี ยังไงดี?​. สืบค้นจาก https://www.kasikornasset.com/th/market-update/Pages/11-knowledge-tax-saving-for-feelancer-NOV22.aspx

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน