Kakeibo หลักการออมแบบคนญี่ปุ่น
หลายคนคงเคยทราบกันมาบ้างว่า ประเทศญี่ปุ่นนั้น ขึ้นชื่อเรื่องหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการออมเงินที่สูง อาจกล่าวได้ว่า นั่นเป็นผลมาจากวัฒนธรรมด้านการจัดการเงินส่วนบุคคล ที่มีความละเอียดรอบคอบ ซึ่งเรียกกันว่า “Kakeibo” ออกเสียงว่า “คะ-เค-โบะ : kah-keh-boh” แปลตรงตัวได้ว่า “บัญชีแยกประเภททางการเงินในครัวเรือน” ซึ่งแนวคิดนี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1904 โดยนักหนังสือพิมพ์หญิงชาวญี่ปุ่นชื่อคุณฮานิ มาโตโกะ (Hani Motoko)
จุดเริ่มต้น เกิดจากที่เธอสังเกตว่าแม่บ้านญี่ปุ่นในยุคนั้น ต้องบริหารการเงินในครอบครัว ซึ่งในบางครั้งการรับเงินจากพ่อบ้าน เพื่อมาใช้จ่ายในบ้านนั้น มีรายละเอียดยิบย่อยจนยากที่จะแบ่งเงินมาเก็บออม คุณฮานิจึงได้คิดหลักการจดบันทึกแบบง่าย ๆ ขึ้นมา และไม่ซับซ้อน หลังจากที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร ก็พบว่าได้รับความนิยมในกลุ่มแม่บ้านชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ต่อมา “Kakeibo” เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในยุคปัจจุบัน เมื่อคุณฟูมิโกะ ชิบะ นำมาเขียนเป็นหนังสือที่มีชื่อว่า คะเคโบะ : ศิลปะการจัดงบประมาณและการออมเงิน (Kakeibo: The Japanese Art of Budgeting & Saving Money) นั่นเอง
“Kakeibo” เป็นวิธีที่คนญี่ปุ่นใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยช่วยตรวจสอบค่าใช้จ่ายและเพิ่มความสามารถในการออม หลักการจะอยู่ที่การจดบันทึกเงินเข้าและออกทั้งหมด เพื่อให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวทางการเงินและวิเคราะห์ว่าสิ่งไหนที่เป็นค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น หรือฟุ่มเฟือย ส่วนไหนสามารถตัดทิ้งได้ และส่วนไหนที่สามารถนำไปออมเพิ่มได้นั่นเอง นอกจากนี้ ยังทำให้คนญี่ปุ่นนั้นมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายเงินเป็นอย่างมาก
หัวใจของ “Kakeibo” คือ การเก็บบันทึก, การกำหนดงบประมาณรายเดือน , การใช้จ่ายอย่างมีสติ และการตั้งเป้าหมาย
สิ่งที่จำเป็นสำหรับ “Kakeibo” นั้นเรียบง่าย มีเพียงแค่สมุดและปากกาก็เพียงพอ พร้อมกับขั้นตอนง่าย ๆ 6 ขั้นตอน
1.เริ่มต้นด้วยการจดบันทึกรายได้ทุกทางในแต่ละเดือน และรายจ่ายประจำทั้งหมด เช่นค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ และค่าอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
2.ให้นำเอารายรับรวมทั้งหมดหักลบด้วยรายจ่ายประจำทั้งหมด จากนั้นให้จดบันทึกจำนวนเงินส่วนที่คงเหลือเอาไว้
3.ส่วนที่คงเหลือจะถูกนำมาบริหาร โดยแยกเป็นเงินออม ซึ่งจำนวนที่ต้องการออมนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเป้าหมายทางการเงินของแต่ละบุคคล เมื่อหักเงินออมออกแล้ว ส่วนสุดท้ายจึงจะเป็นเงินสำหรับนำมาใช้จ่าย
4.เงินสำหรับใช้จ่าย สามารถแยกออกไปได้ตามความเหมาะสมของแต่ละคน แต่โดยหลัก ๆ แล้วนั้นจะมีเงินสำหรับใช้ประจำวัน โดยการตั้งงบสูงสุดแบบรายสัปดาห์ ก่อนเริ่มการใช้ ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยป้องกันการใช้จ่ายเกินตัว ทำให้ควบคุมการเงินได้ดีขึ้น
5.ต้องมีการตรวจสอบเงินเป็นระยะ เพื่อให้เห็นว่ามีเงินคงเหลืออยู่เท่าใด ด้วยวิธีนี้จะทำให้คุณควบคุมการใช้จ่ายเงินไม่เกินงบประมาณที่ตั้งไว้ได้
6.ดำเนินการประเมินผล ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของ “kakeibo” โดยทุกเดือนให้นำบันทึกค่าใช้จ่ายที่คุณทำทั้งหมดมาวิเคราะห์ เพื่อดูว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ มีตรงไหนที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งเป็นวิธีการสร้างกลยุทธ์ เพื่อช่วยให้คุณปรับปรุงการจัดการทางการเงินของคุณได้อย่างเหมาะสม
สิ่งที่ทำให้คนที่ใช้หลักการ “Kakeibo” มีความระมัดระวังในการใช้จ่ายคือ ทุกช่วงเวลาที่มีการใช้จ่ายเงินออกไป จะมีการใช้ชุดคำถามทบทวนก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ โดยมองว่าสินค้าชิ้นนั้น มีความเหมาะสมที่จะซื้อไหม คุ้มค่าต่อการใช้จ่ายหรือไม่ เป็นสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ ไหม หากได้มาแล้วจะช่วยเติมเต็มได้อย่างไร
นอกจากนี้ชาว “kakeibo” ยังให้ความสำคัญกับการใช้เงินสดมากกว่าบัตรเครดิต รวมถึงระมัดระวังการตกเป็นเหยื่อทางการตลาดของสินค้าอีกด้วย
นับได้ว่า “Kakeibo” เป็นเครื่องมือที่เรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพ ช่วยพัฒนานิสัยการจัดการทางการเงินและความสามารถในการออม ทำให้คนทั่วไปบรรลุเป้าหมายและมีอิสระทางการเงินได้มากขึ้น
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
https://www.bfi.co.id/en/blog/mengenal-metode-kakeibo-nabung-ala-orang-jepang
https://www.chase.co.uk/gb/en/hub/kakeibo-saving/
https://www.bbc.com/reel/video/p0g6q7wd/kakeibo-the-japanese-art-of-saving-money
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :