คำแนะนำ 6 ประการจากนักวางแผนทางการเงินสำหรับผู้ที่ไม่มีลูก
รูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คนมีหลากหลาย การแต่งงานมีครอบครัวไม่จำเป็นต้องหมายถึงการมีลูกด้วยกันเสมอไป และการมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบก็ไม่ได้หมายถึงผู้ที่มีคู่ครองเท่านั้นด้วยเช่นเดียวกัน ปัจจุบันนี้ ผู้คนมากมายตัดสินใจไม่มีลูก ไม่ว่าจะแต่งงานหรือครองตัวเป็นโสดก็ตาม ทั้งนี้ ไม่ว่าจะวางแผนด้านการมีลูกไว้เช่นไร การวางแผนด้านการเงินก็ยังคงมีความสำคัญไม่แพ้กัน ในที่นี้ ลงทุนศาสตร์ขอนำเสนอคำแนะนำทางการเงิน 6 ประการตามคำแนะนำของนักวางแผนทางการเงิน สำหรับผู้ที่ไม่มีลูก ดังนี้ [1, 2, 3]
ข้อแรก ผู้ที่ไม่มีลูกควรวางแผนเงินสำรองฉุกเฉิน อย่างน้อยที่สุด ควรมีเงินสดมากพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้ในระยะเวลา 1 เดือน โดยคำแนะนำในการสร้างเงินสำรองฉุกเฉินให้ได้รวดเร็วขึ้น คือการพยายามไม่สร้างหนี้ นักวางแผนทางการเงินได้เสนอแนะว่า ผู้ที่ไม่มีลูก มักไม่จำเป็นต้องวางแผนค่าใช้จ่ายระยะยาวสำหรับการเลี้ยงดูบุตร แต่ต้องคิดเผื่อการดูแลตัวเองในระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงที่อาจไม่สามารถทำงานได้ ดังนั้น พยายามอย่าสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น และขอให้เก็บเงินเผื่อในกรณีฉุกเฉิน ค่อยๆ ขยับขยายจากการสร้างเงินสำรองฉุกเฉิน 1 เดือน เป็น 3 เดือน และ 6 เดือนเรื่อยไปตามวิธีการที่ตนเองถนัด
ข้อสอง เก็บออมและลงทุนตามเป้าหมายที่ตนเองต้องการอย่างเต็มที่ ผู้ที่ไม่มีลูกสามารถตัดความกังวลออกไปได้หลายประการ ดังนั้น ควรจะถือโอกาสนี้ในการค้นหาเป้าหมายที่ตนเองต้องการทำอย่างแท้จริง ศึกษาให้ถ่องแท้ และเลือกลงมือทำให้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ การลงทุนไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบเดิม ๆ เสมอไป ผู้ที่ไม่มีลูกอาจเลือกสร้างธุรกิจเป็นของตัวเองในรูปแบบใหม่ ๆ ทดลองทำตามความต้องการ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องเผื่อเงินสำหรับเลี้ยงดูชีวิตใหม่ที่เกิดมา
ข้อสาม เลือกทำประกันในแบบที่เหมาะสมกับตนเอง ผู้ที่ไม่มีลูกปลอดโปร่งจากความกังวลหลายประการในช่วงเริ่มแรกของการดำเนินชีวิต แต่อาจต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดูแลตนเองในยามที่สุขภาพถดถอย การมีประกันชีวิต ประกันสุขภาพที่เหมาะสมจะมีส่วนช่วยแบ่งเบาความยากลำบากออกไปได้บ้าง แต่ทั้งนี้ ผู้ทำประกันควรเลือกแบบประกันชีวิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตนเองด้วยเช่นกัน
ข้อสี่ เลือกวางแผนส่งต่อทรัพย์สินรวมถึงการจัดการชีวิตให้รอบคอบที่สุด ความกังวลหลักของผู้ไม่มีลูก นอกจากการดูแลตนเองเมื่อมีอายุมากขึ้น ยังมีการส่งต่อสิ่งที่ตนเองมีอยู่ และการตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตในช่วงที่ต้องการตัวแทน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น ผู้ที่ไม่มีลูกควรพิจารณาถึงทรัพย์สินที่ตนเองมี วางแผนขายต่อ เปลี่ยนแปลงทรัพย์ที่มีเป็นเงินและบริหารจัดการเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม และอย่าลืมระบุรายชื่อบุคคลที่ไว้วางใจได้ในการจัดการทางการเงิน รวมถึงจัดการชีวิต เช่นในกรณีที่อาจประสบอุบัติเหตุ ต้องการคนตัดสินใจในการผ่าตัด หรือยื้อชีวิตต่อไป เป็นต้น
ข้อห้า วางแผนเผื่อสำหรับการดูแลพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ต่อไปด้วย แม้ว่าผู้คนอาจไม่มีลูก แต่แน่นอนว่าทุกคนเกิดมามีพ่อและแม่ หากยังมีญาติผู้ใหญ่ที่ต้องดูแล ขอให้คิดเผื่อการดูแลผู้คนเหล่านั้นไว้ด้วย ผู้คนที่ไม่มีลูกอาจได้รับความคาดหวังให้ดูแลพ่อแม่มากกว่าผู้ที่มีลูกหรือแต่งงานมีครอบครัวเป็นของตัวเอง ภาระทางการเงินที่เกิดจากการดูแลผู้สูงอายุอาจกลายเป็นประเด็นใหญ่ในชีวิตได้ ดังนั้น การวางแผนไว้ก่อนจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้บ้าง
ข้อสุดท้าย ขอให้ใช้ชีวิตที่ผ่านการไตร่ตรองมาอย่างดีแล้วโดยไร้ความกังวล เส้นทางชีวิตของแต่ละคนมีภาระต่างกัน มีทางเลือกต่างกัน เมื่อเลือกที่จะไม่มีลูกแล้ว ขอให้อย่ากังวลจนเกินไป และเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ อย่ากลัวที่จะต้องรับภาระ มีเหตุฉุกเฉินกะทันหัน หรือลำบากยากจนเมื่อแก่ตัวลง หากได้วางแผนการเงินมาอย่างดีแล้ว เงินจะเป็นผู้ดูแลตัวเราเองในวันที่เราต้องการ
แผนการจัดการเงินอย่างมีประสิทธิภาพเป็นประโยชน์กับทุกคน ไม่ว่าจะมีลูกหรือไม่ก็ตาม ลงทุนศาสตร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้อ่านจะมีแผนทางการเงินที่ดี สามารถดำเนินการตามแผนนั้นได้อย่างราบรื่น และมีชีวิตที่มั่นคงทางการเงินได้ตามที่ตั้งใจไว้ทุกประการ
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
อ้างอิง
[1] Ryan Ermey. (December 5, 2023). Not having children ‘breaks’ traditional financial planning, says CFP—8 money rules for childfree people. Retrieved from https://www.cnbc.com/2023/12/05/money-rules-for-childfree-people-according-to-a-cfp.html
[2] Ryan Ermey. (October 25, 2022). If you’re not planning to have kids, you can rethink ‘the whole foundation’ of your financial plan. Retrieved from https://www.cnbc.com/2022/10/25/childfree-people-can-rethink-whole-foundation-of-their-money-plan.html
[3] Annie Probert. (November 14, 2023). 56% of Gen Z doesn’t have an emergency fund—here’s the first thing you should do to build one, according to a CFP. Retrieved from https://www.cnbc.com/2023/11/14/cfp-first-step-gen-z-should-take-to-build-an-emergency-fund.html
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :