ยิ่งจ่ายมากยิ่งประหยัดมีจริงหรือไม่ ทำความรู้จักกับ spaving และวิธีหลีกเลี่ยงไม่ให้ตกหลุมพราง
เมื่อต้องจับจ่ายใช้สอย ผู้คนอาจมีเหตุผลในการเลือกซื้อสินค้าต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นความถูกใจในคุณภาพ พึงพอใจในราคา ช่องทางการซื้อขายสะดวก หรือมีโปรโมชั่นที่ถูกใจ หนึ่งในกลยุทธ์การขายที่เราสามารถพบเห็นได้บ่อยคือโปรโมชั่นซื้อสองชิ้น ราคาถูกลง หรือซื้อสามแถมหนึ่ง ไปจนถึงการแจกโค้ดลดเมื่อซื้อสินค้าถึงยอดที่กำหนด ในช่วงเวลาที่กำหนด โปรโมชั่นดังที่กล่าวมานี้กระตุ้นให้ลูกค้าสนใจจากการทำให้เชื่อว่า ยิ่งจ่ายมากก็ยิ่งประหยัดมาก เมื่อการซื้อเยอะนำมาซึ่งส่วนลดและการได้สินค้าจำนวนมากไปครอบครอง
แนวคิดดังกล่าวนี้เรียกได้ในอีกชื่อว่า spaving อันเป็นส่วนผสมระหว่าง spending และ saving ในที่นี้ ลงทุนศาสตร์ขอพาท่านผู้อ่านไปสำรวจ spaving และวิธีการหลีกเลี่ยงไม่ให้ตกหลุมพรางการตลาด ดังต่อไปนี้ [1, 2, 3, 4]
หากเรากล่าวถึง spaving คำ ๆ นี้อาจดูเหมือนเป็นเทรนด์ใหม่ แต่ในความเป็นจริง แนวคิดเรื่องการซื้อมากประหยัดมากได้รับความนิยมมาเนิ่นนานแล้วในทางการตลาด เมื่อต้องการกระตุ้นยอดขาย ผู้ค้าจะเริ่มคิดค้นวิธีที่จะทำให้ผู้คนยอมจ่ายได้มากขึ้น โดยวิธีที่ใช้กันเป็นประจำคือการเสนอส่วนลดเป็นรางวัลตอบแทน ยิ่งซื้อชิ้นที่สอง ชิ้นที่สาม สี่ ห้า ก็ยิ่งได้ส่วนลด และอาจได้รับชิ้นสุดท้ายเป็นของแถม หรืออาจได้ส่วนลดค่าส่งหากว่าซื้อได้ถึงยอดที่กำหนด การกำหนดโปรโมชั่นเช่นนี้ช่วยให้ผู้คนต้องการจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น เพราะยิ่งซื้อก็ยิ่งคุ้ม ยิ่งในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ข้าวของมีราคาแพง การซื้อของได้ในราคาที่คุ้มค่าย่อมเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสำคัญ
อย่างไรก็ตาม การซื้อมากอาจไม่ได้แปลว่าคุ้มค่ามากเสมอไป เมื่อการซื้อมากเพื่อหวังส่วนลดกลายเป็นพฤติกรรมที่ทำให้ผู้คนเคยชินกับการซื้อของที่ไม่ได้ต้องการอย่างแท้จริง เพียงเพราะหวังในส่วนลดที่จะได้ ในความเห็นของ Kimberly Palmer ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินส่วนบุคคลจาก NerdWallet การซื้อของที่ไม่ได้ต้องการแต่แรก พ่วงมากับของที่ตั้งใจซื้อ เพียงเพราะหวังในส่วนลด อาจมีราคาสูงกว่าการจ่ายเพื่อซื้อของที่ต้องการเพียงชิ้นเดียว
ยกตัวอย่างเช่นหากตั้งใจซื้อเสื้อราคา 200 บาท 1 ตัว แต่ร้านค้าจัดโปรโมชั่น 2 ตัว 300 บาท ผู้คนมักจะเลือกซื้อเสื้อ 2 ตัวเพื่อความคุ้มค่า ทั้งที่หากซื้อเสื้อเพียงตัวเดียวตามที่ตั้งใจไว้ ก็อาจเสียเงินแค่ 200 บาท แทนที่จะต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 100 บาทและได้เสื้ออีกตัวที่ตนเองไม่ได้ต้องการ
การซื้อมากไม่ได้แปลว่าได้ประหยัดมากเสมอไป หากไม่ระมัดระวัง เราอาจเผลอใช้จ่ายมากกว่าที่ตั้งใจไว้ และทำให้งบการใช้จ่ายบานปลายโดยไม่ทันตั้งตัว ดังนั้น หากต้องการหลีกเลี่ยง spaving ที่ไม่ก่อให้เกิดผลดี ทุกครั้งที่จะจับจ่ายใช้สอย ขอให้ลองทำรายการลิสต์สิ่งที่ตั้งใจจะซื้อไว้ ตั้งงบประมาณให้ชัดเจน และอย่าหวั่นไหวไปกับโปรโมชั่น หากจะเลือกซื้อของที่มีโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม ขอให้ตั้งใจคำนวณสักนิดว่าของที่ได้มีความจำเป็นมากน้อยเพียงไร อย่ารีบร้อนซื้อ และอย่าคิดว่าการซื้อของมากขึ้นจะช่วยประหยัดได้เสมอไป
การซื้อของจะคุ้มค่าหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการคิดคำนวณอย่างถี่ถ้วน ไม่ใช่เพียงการซื้อตามโปรโมชั่น สุดท้ายนี้ ลงทุนศาสตร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้อ่านจะไม่ตกหลุมพราง spaving และได้ใช้จ่ายเงินซื้อของในสิ่งที่ท่านต้องการอย่างแท้จริง
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
อ้างอิง
[1] CNBC Television. (June 5, 2024). Why spaving is bad for your wallet. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=6XRTSnDJyz4
[2] WCNC. (June 17, 2024). Spaving: What it is, and why it could make you spend more. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=y9QqUpAQuWE
[3] WION. (May 15, 2024). Spaving, Explained: The practice of spending money to save it. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=0bX0GbQpZWU
[4] Daniel de Visé. (June 16, 2024). Buy two, get one half off? How ‘spaving’ discounts can derail your finances. Retrieved from https://www.usatoday.com/story/money/2024/06/16/spaving-meaning-discounts-can-derail-finances/74095929007
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :