ลูกหนี้การค้า (Receivable) หมายถึง สิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้ในการที่จะให้ชำระหนี้ด้วยเงินสดหรือทรัพย์สินอย่างอื่น โดยคาดหมายว่าจะได้รับชำระเต็มจำนวนเมื่อถึงกำหนดชำระ ลูกหนี้จัดเป็นสินทรัพย์อย่างหนึ่งของกิจการและควรแสดงในงบการเงินด้วยมูลค่าสุทธิที่คาดว่าจะได้รับนั่นก็คือจำนวนที่คาดหมายว่าจะเก็บได้
สรุปว่าลูกหนี้การค้าก็คือลูกหนี้จากการทำธุรกิจของกิจการนั่นเอง
ลูกหนี้การค้ามีความสำคัญในการวิเคราะห์งบการเงินอย่างมาก เพราะลูกหนี้การค้าคือช่องทางการรั่วไหลของเงินที่ดีมากในงบการเงิน เรียกว่าถ้าจะโกงกันเนี่ย เขาจะชอบโกงกันที่บรรทัดนี้เป็นหลักเลย
สิ่งแรกที่นักลงทุนต้องรู้คือการลงบัญชีกำไรขาดทุนของกิจการเป็นไปตามเกณฑ์คงค้าง (Accrual Basis) หรือกิจการจะรับรู้รายได้ตั้งแต่โอนความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือกระทำการบริการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้รับเงินสดเข้ามา
ยกตัวอย่างเช่น เราทำธุรกิจขายมอเตอร์รถไฟความเร็วสูง ทันทีที่เราส่งมอบมอเตอร์ให้ลูกค้าเสร็จแล้ว เราจะรับรู้รายได้เข้ามาในงบการเงินทั้งที ถึงแม้ว่าจะเป็นเครดิตให้ลูกค้าอยู่ยังไม่ได้รับเงินเข้ามาก็ตาม งบกำไรขาดทุนจะแสดงรายได้แล้ว แต่ในงบดุลจะยังไม่มีเงินสดเข้า แต่จะมีรายการลูกหนี้การค้าแทน
ดังนั้นลูกหนี้การค้าจึงสำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่แสดงว่ากิจการทำธุรกิจแล้วได้เงินสดเข้ามาจริงหรือเปล่า ถึงแม้จะมีรายได้มาก กำไรมาก แต่ถ้าลูกหนี้การค้าเยอะมาก และถูกเบี้ยวหนี้ทีหลัง สุดท้ายกิจการก็จะไม่ได้อะไรอยู่ดี
แล้วการวิเคราะห์ ลูกหนี้การค้า ต้องสนใจอะไรบ้าง
1 คุณภาพของลูกหนี้การค้า
สิ่งสำคัญคือลูกหนี้การค้าที่มีจะมีโอกาสเก็บหนี้ไม่ได้จนเป็นหนี้สูญไหม วิธีการดูที่ง่ายที่สุดคือการเข้าไปดูที่หมายเหตุประกอบงบการเงินหัวข้อลูกหนี้การค้า งบการเงินจะระบุถึงช่วงระยะเวลาค้างชำระที่เกินกำหนดอยู่ หากบริษัทมีแนวโน้มที่ลูกหนี้การค้าค้างชำระเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดี ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเปรียบเทียบการเติบโตเป็นสัดส่วนต่อยอดขายรวมด้วย
2 สัดส่วนลูกหนี้ต่อรายได้
หลายครั้งที่การเพิ่มขึ้นของลูกหนี้การค้าไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว เพราะหากรายได้เพิ่มมากขึ้น สัดส่วนการขายเครดิตย่อมเพิ่มมากขึ้นเป็นธรรมดา เช่น หากรายได้เพิ่ม 10% และลูกหนี้การค้าเติบโตประมาณ 10% แบบนี้ก็ไม่น่าเป็นห่วงมาก ขอให้สัดส่วนลูกหนี้ต่อรายได้ค่อนข้างคงที่ แบบนี้ถือว่าไม่เป็นสัญญาณที่อันตราย
3 ความสัมพันธ์ระหว่างลูกหนี้กับลักษณะกิจการ
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องวิเคราะห์คือปริมาณลูกหนี้การค้าเหมาะสมกับลักษณะกิจการไหม เช่น ธุรกิจ B2B มักมีลูกหนี้การค้าสูงเป็นธรรมชาติ ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีก โรงพยาบาล ร้านอาหาร หรือกลุ่ม B2C มักจะมีลูกหนี้การค้าต่ำ ดังนั้น นักลงทุนต้องวิเคราะห์ว่าลักษณะกิจการสัมพันธ์กับลูกหนี้การค้าไหม เช่น ถ้าเป็นธุรกิจร้านอาหาร แต่กลับมีลูกหนี้การค้าสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสูงเมื่อเทียบกับกิจการอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน แบบนี้ต้องไปวิเคราะห์ต่อว่าเกิดจากสาเหตุใด เหมาะสมหรือไม่
4 จำนวนลูกหนี้การค้า
ลูกหนี้การค้าน้อยรายอันตรายกว่าลูกหนี้การค้ามากรายเสมอ เพราะเมื่อไหร่ที่ถูกเบี้ยวหนี้ การมีลูกหนี้การค้าน้อยรายจะส่งผลต่อกิจการอย่างมาก ธุรกิจอาจพลิกเป็นขาดทุนได้ภายในไตรมาสเดียว โดยเฉพาะธุรกิจจำพวก B2B และ OEM นักลงทุนต้องวิเคราะห์ประเด็นนี้เสมอว่ามีความเสี่ยงสูงมากแค่ไหนในการโดนเบี้ยวหนี้ จำนวนลูกหนี้การค้าหากไม่ระบุอยู่ในหมายเหตุประกอบงบการเงินก็สามารถสอบถามโดยตรงกับบริษัทได้ ยิ่งลูกหนี้การค้าน้อยราย นักลงทุนยิ่งต้องวิเคราะห์ลูกหนี้การค้าให้ละเอียดมากขึ้นเท่านั้น
4 ข้อนี้เป็นเพียงเบื้องต้นในการวิเคราะห์ลูกหนี้การค้าเท่านั้น แต่ก็ถือเป็น 4 ข้อพื้นฐานที่ไม่ดูไม่ได้เลย หากนักลงทุนศึกษาลึกลงไปในการวิเคราะห์งบการเงินก็อาจจะศึกษาเพิ่มเติมได้ แต่สำหรับมือใหม่พื้นฐาน 4 ข้อนี้ก็ถือเป็นระดับเบื้องต้นที่ต้องตรวจสอบก่อนลงทุนเสมอ
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :