การลงทุน

3 รูปแบบวิธีคิดที่อาจส่งผลให้นักลงทุนตัดสินใจผิดพลาด

3 รูปแบบวิธีคิดที่อาจส่งผลให้นักลงทุนตัดสินใจผิดพลาด

3 รูปแบบวิธีคิดที่อาจส่งผลให้นักลงทุนตัดสินใจผิดพลาด

 

ในการเล่นหุ้นให้ประสบความสำเร็จ นักลงทุนต้องอาศัยทักษะต่าง ๆ มากมาย แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งสำคัญที่นักลงทุนต้องใช้มากที่สุด ก็คือวิธีคิดของตัวเอง โดยในจิตวิทยาในการลงทุน สิ่งที่ส่งผลอย่างยิ่งต่อจิตใจของนักลงทุน ก็คือความโลภและความกลัว [1]

 

ทั้งความโลภและความกลัวเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานในตัวมนุษย์ทุกคน เป็นสิ่งที่นักลงทุนจำเป็นต้องทำความรู้จักและคอยควบคุมไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ความโลภหรือความกลัวส่งผลให้ตัดสินใจผิดพลาด ทั้งนี้ วิธีคิดที่นำไปสู่การตัดสินใจพลาดอาจแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ [2] ดังนี้

 

รูปแบบแรก คือความคิดที่กลัวว่าจะพลาดสิ่งที่ดีในช่วงเวลานั้น เมื่อมีกระแสข่าวหุ้นตัวใหม่ที่น่าสนใจ ใคร ๆ ต่างก็พูดกันว่าหุ้นตัวนี้พลาดไม่ได้ นักลงทุนที่ถูกความกลัวครอบงำจนไม่อยากจะเสียโอกาสไปอาจไม่ได้ไตร่ตรองอย่างเต็มที่ และตัดสินใจลงทุนในหุ้นทุกตัวที่อยู่ในกระแส ผลที่เกิดขึ้นตามมา คือนักลงทุุนหมดเงินไปกับการเล่นหุ้นตามกระแส แทนที่จะได้ใช้เงินไปกับหุ้นที่พิจารณาเลือกแล้วเป็นอย่างดี

 

ในความเป็นจริงแล้ว นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จก็ไม่ได้เลือกลงทุนในหุ้นทุกตัวเช่นกัน มหาเศรษฐีนักลงทุน วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้เคยกล่าวไว้ว่า ตัวเขาเองเลือกที่จะไม่ลงทุนใน Google และ Amazon ทั้งที่เป็นบริษัทที่ทำกำไรดี เนื่องจากเขายังไม่เข้าใจรูปแบบธุรกิจของบริษัททางด้านเทคโนโลยีมากนัก [3] ดังนั้น นักลงทุนจึงควรเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ การพลาดหุ้นที่ดีไปบ้าง ไม่ได้หมายความว่าพลาดหุ้นที่ดีทั้งหมด

 

ต่อมา รูปแบบความคิดที่ก่อให้เกิดความผิดพลาด คือการลงทุนเพื่อแก้แค้น ในบางครั้ง เมื่อนักลงทุนขาดทุน หรือพลาดโอกาสจากการลงทุนไป นักลงทุนอาจเกิดความรู้สึกอยากเอาคืน ต้องการทำกำไรให้ได้มากกว่าที่เสียไป ความคิดเช่นนี้มีที่มาจากความโลภ และอาจรวมถึงความโกรธ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกใด การตัดสินใจลงทุนที่ใช้อารมณ์นำทางย่อมไม่ส่งผลดีใดใดทั้งนั้น นักลงทุนมีแต่จะติดกับในวังวนการลงทุนเพื่อแก้แค้น เอาคืน และผิดหวังอยู่เรื่อยไป

 

ทางแก้ของรูปแบบความคิดที่ต้องการแต่จะเอาชนะ คือการกลับมาคิดทบทวนถึงที่มาที่ไปของกำไรและขาดทุน มองสถานการณ์โดยใช้เหตุและผล ละวางอารมณ์ลง และลองลงทุนด้วยจำนวนเงินที่น้อยลง แทนที่จะทุ่มเทหมดหน้าตักเพื่อเอาคืน นักลงทุนควรท่องไว้ให้ขึ้นใจว่า ในโลกของการลงทุนมีทั้งการได้มาและเสียไป เมื่อขาดทุนไปบ้างก็ควรทำใจรับให้ได้ และรอเวลาที่จะได้กำไรอีกครั้ง

 

ความคิดในรูปแบบที่สาม คือการมีตรรกะเกี่ยวกับการเสี่ยงโชคที่ผิดพลาด นักลงทุนบางคนอาจถูกตรรกะที่ผิดครอบงำทำให้ตัดสินใจพลาด ยกตัวอย่างเช่นการเชื่อว่าเหรียญนั้นมีสองด้าน เมื่อออกหัวไปแล้ว ต่อมาจะต้องออกก้อย ทั้งที่โอกาสที่เหรียญจะออกหัวหรือก้อยก็มีเท่า ๆ กัน แต่นักลงทุนกลับยึดติดกับเหตุการณ์ในอดีตว่า หากสิ่งนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว ต่อไปสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก

 

ความคิดในรูปแบบนี้นำไปสู่ความคิดที่ว่า หากเคยล้มเหลวมามากแล้ว คราวนี้จะต้องชนะบ้าง หรือหากเคยขาดทุนติดต่อกันมาแล้ว ต่อไปหุ้นจะต้องขึ้น ทางเดียวที่จะแก้ไขความคิดรูปแบบนี้ คือการเลิกผูกติดกับการคาดการณ์จากประสบการณ์โดยรวม นักลงทุนต้องแยกวิเคราะห์หุ้นแต่ละตัวตามหลักความเป็นจริง ไม่คาดเดาเอาจากการขาดทุนหรือได้กำไรของตนเอง

 

แม้ว่าทั้งความกลัวและความโลภจะเป็นสัญชาติญาณหลักของมนุษย์ แต่นักลงทุนสามารถควบคุมความรู้สึกด้วยการฝึกใช้หลักเหตุผลในการตัดสินใจ หากนักลงทุนรอบคอบและระวังไม่ใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล การลงทุนแต่ละครั้งก็ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อ้างอิง

[1] Curtis, G. (September 30, 2021).The Importance of Trading Psychology .Retrieved from https://www.investopedia.com/articles/trading/02/110502.asp
[2] Sky View Trading. (July 12, 2017). 3 Common Psychological TRADING Mistakes. Retrieved from https://youtu.be/Pz_9VsW869Y
[3] Crippen, A. and Cheng, E. (May 8, 2017). Warren Buffett: I was wrong on Google and ‘too dumb’ to appreciate Amazon. Retrieved from https://www.cnbc.com/2017/05/06/warren-buffett-admits-he-made-a-mistake-on-google.html

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน