BH vs BDMS บำรุงราษฎร์ กับ กรุงเทพดุสิตเวชการ โรงพยาบาลไหนใหญ่กว่ากัน? เชื่อว่าหลายคนต้องเคยตั้งคำถามในใจแบบนี้ เพราะทั้งสองโรงพยาบาลต่างก็เป็นโรงพยาบาลชื่อดังของประเทศ เรียกได้ว่าเป็นโรงพยาบาลระดับภูมิภาคเลยด้วยซ้ำ แต่เมื่อมองลึกลงไปแล้ว ทั้งสองโรงพยาบาลมีความแตกต่างที่น่าสนใจอยู่มากทีเดียว
ข้อมูลทั่วไปของ BH
BH หรือบริษัท บำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจหลักคือโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีขนาด 580 เตียง รองรับผู้ป่วยนอก 5,500 คนต่อวัน นอกจากนี้ยังถือหุ้นในโรงพยาบาลต่างประเทศ ได้แก่ โรงพยาบาลอูบานลาตอซองโด มองโกเลีย และบริษัทย่อยในเครืออีกหลายบริษัท
กิจกรรมหลักของบริษัทคือการให้บริการทางการแพทย์ โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์คือรายได้หลักกินส่วนแบ่งรายได้กว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของบริษัท โดยแบ่งเป็นการให้บริการผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกในอัตราส่วนใกล้เคียงกันที่ 48 : 52 เปอร์เซ็นต์ โดยกลุ่มลูกค้าแบ่งออกเป็นกลุ่มลูกค้าภายในประเทศประมาณ 36 เปอร์เซ็นต์ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนไทยระดับกลางถึงบนและคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และกลุ่มลูกค้าต่างประเทศประมาณ 64 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งชาวต่างชาติหลักที่เข้ามารับบริการคือ เมียนมาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโอมาน
กลยุทธ์หลักของบำรุงราษฎร์นอกจากจะเน้นสร้างความเป็นหนึ่งในการให้บริการของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนลแล้ว บริษัทยังร่วมลงนามบรรลุข้อตกลงความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และโรงพยาบาลพันธมิตร 51 โรงพยาบาลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมกับโรงพยาบาลเครือข่าย
ข้อมูลทั่วไปของ BDMS
BDMS หรือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจหลักคือดำเนินกิจการในลักษณะโรงพยาบาลเครือข่าย โดยมีโรงพยาบาลในเครือทั้งหมด 43 โรง แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาล BNH โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลเปาโล และโรงพยาบาลรอยัล รวมไปถึงธุรกิจสนับสนุนอื่นในเครือ เช่น เครือข่ายร้านขายยาเซฟดรัค โรงงานยาสหแพทย์เภสัช ผู้ผลิตยาปราศจากเชื้อรอยัลฮอสพิทัลโพรดักส์ บริษัทประกันสุขภาพและนายหน้า รวมไปถึงถือหุ้นในบริษัท บำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน)
กิจกรรมหลักของบริษัทคือการให้บริการทางการแพทย์ โดยเป็นรายได้หลักกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของบริษัท นอกจากนี้ ส่วนแบ่งรายได้ของกิจการยังมีการกระจายตัวเป็นอย่างดี โดยไม่มีโรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่งสร้างรายได้ให้กับบริษัทเกินกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ โดยแบ่งเป็นการให้บริการผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกในอัตราส่วน 55 : 45 เปอร์เซ็นต์ และแบ่งออกเป็นลูกค้าภายในประเทศ 70 เปอร์เซ็นต์และลูกค้าชาวต่างชาติ 30 เปอร์เซ็นต์ และมีจำนวนเตียงพร้อมใช้งานประมาณ 5,800 เตียง
กลยุทธ์หลักของกรุงเทพดุสิตเวชการเน้นไปที่การสร้างเครือข่ายโรงพยาบาลและสร้างความร่วมมือในเครือให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยยังคงมีการซื้อกิจการและขยายกิจการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดระยะช่วงเวลาที่ผ่านมา
เปรียบเทียบงบการเงินเบื้องต้น ปี 2018
รายได้ BH : 18,541.03 ล้านบาท
รายได้ BDMS : 81,096.62 ล้านบาท
กำไรสุทธิ BH : 4,151.89 ล้านบาท
กำไรสุทธิ BDMS : 9,191.46 ล้านบาท
อัตราการทำกำไรสุทธิ BH : 22.39 %
อัตราการทำกำไรสุทธิ BDMS : 11.33 %
ROE ของ BH : 23.82 %
ROE ของ BDMS : 13.78 %
PE ของหุ้น BH ณ สิ้นปี 2018 : 33.36 เท่า
PE ของหุ้น BDMS ณ สิ้นปี 2018 : 39.35 เท่า
มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของ BH ณ สิ้นปี 2018 : 136,640.88 ล้านบาท
มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของ BDMS ณ สิ้นปี 2018 : 388,590.11 ล้านบาท
ในมุมมองเชิงธุรกิจ จุดแตกต่างสำคัญที่สุดของ บำรุงราษฎร์ และ กรุงเทพดุสิตเวชการ คือลักษณะกลยุทธ์ที่เน้นความเป็นโรงพยาบาลเดี่ยวและโรงพยาบาลเครือข่ายตามลำดับ การเป็นโรงพยาบาลเดี่ยวทำให้สามารถเลือกกลุ่มลูกค้าและบริหารทรัพย์สินภาพรวมได้ดีกว่า ความสามารถในการทำกำไรเป็นไปอย่างมุ่งเน้น ในขณะที่โรงพาบาลเครือข่ายจะมีจุดเด่นในการกระจายความเสี่ยงที่มีเสถียรภาพ และมุมมองของการเติบโตนี่น่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
การศึกษาข้อมูลเชิงเปรียบเทียบของหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกันถือว่าเป็นการศึกษาที่จะช่วยทำให้เรามองเห็นภาพธุรกิจได้ดีขึ้น
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :