การลงทุน

สอนมือใหม่ประเมินมูลค่าหุ้น ตอน DDM

DDM

DDM หรือการคิดลดเงินปันผล (Dividend Discount Model) เป็นตัวเลขที่แสดงถึงมูลค่าความถูกแพงของกิจการ โดยการคิดลดเงินปันผลจัดเป็นการประเมินมูลค่าแบบสมบูรณ์ (absolute valuation) หมายถึงตัวเลขที่ได้เป็นตัวเลขที่สมบูรณ์ในตัวเองที่สามารถบ่งบอกถึงมูลค่าของกิจการได้โดยไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับกิจการอื่นใด

 

การประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธีการคิดลดเงินปันผลมีรูปแบบการคำนวณได้อย่างหลากหลาย โดยหลักแบ่งเป็น 3 วิธีหลัก ได้แก่ การคิดลดเงินปันผลโดยสมมติฐานว่าเงินปันผลไม่เติบโต การคิดลดเงินปันผลโดยสมมติฐานว่าเงินปันผลเติบโตด้วยอัตราคงที่ และการคิดลดเงินปันผลโดยสมมติฐานว่าเงินปันผลเติบโตด้วยอัตราไม่คงที่

 

โดยเบื้องต้นแนะนำวิธีการคิดลดเงินปันผลโดยสมมติฐานว่าเงินปันผลเติบโตคงที่ และหากต้องการจะคำนวณว่าเงินปันผลไม่เติบโตเลยให้แทนค่าการเติบโตด้วย 0

 

สูตรการประเมินมูลค่าหุ้นด้วยการคิดลดเงินปันผล

 

DDM = D(1 + g)/(k-g)

 

โดยแต่ละตัวแปรมีความหมายดังนี้

 

D แทนเงินปันผลของปีล่าสุดที่ผ่านมา

 

K แทนผลตอบแทนที่คาดหวังจากการลงทุนต่อปี

 

ค่า K มีเบื้องหลังแนวคิดที่ซับซ้อน โดยอาจจะคำนวณได้จากทฤษฎีทางการเงินชื่อดังอย่าง CAPM (Capital Asset Pricing Model) แต่สำหรับมือใหม่ แนะนำให้เปรียบเทียบจากค่าเสียโอกาสของนักลงทุน ซึ่งในที่นี่อาจหมายถึงผลตอบแทนจากการลงทุนในดัชนีเฉลี่ย 40 ปีย้อนหลัง (ค่าประมาณ 10%)

 

G แทนอัตราการเติบโตของเงินปันผลจนถึงระยะเวลาอนันต์

 

ค่า G คือการเติบโตของเงินปันผล หรือกำไรของกิจการไปจนถึงระยะเวลาอนันต์ ดังนั้น ค่า G นี้ควรจะมีค่าไม่มากเกินไปกว่าการเติบโตของ GDP โลกในระยะยาว บวกกับค่าอัตราเงินเฟ้อในระยะยาว (ค่าประมาณไม่เกิน 5%)

 

ยกตัวอย่างเช่น หุ้น PUNN มีหุ้นจดทะเบียนที่ชำระแล้วจำนวนทั้งหมด 200,000,000 หุ้น ราคาหุ้นปัจจุบันอยู่ที่ 8 บาท ปีล่าสุดปันผลปีละ 0.2 บาท บริษัทมีการเติบโตของเงินปันผลย้อนหลังทบต้น 10 ปีอยู่ที่ปีละ 4% นักลงทุนจึงคาดการณ์ว่าเงินปันผลจะเติบโตปีละ 5% ไปจนถึงระยะอนันต์

 

คำนวณประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธีการคิดลดเงินปันผล

 

คำนวณ DDM = D(1 + g)/(k-g) = 0.2(1+0.05)/(0.1-0.05) = 4.2 บาทต่อหุ้น

 

ตัวเลขของการคิดลดเงินปันผลสามารถนำมาบอกมูลค่าพื้นฐานของหุ้นได้เลย อย่างในกรณีนี้หุ้นมีมูลค่าพื้นฐานอยู่ที่ 4.2 บาทต่อหุ้น เทียบกับราคาตลาดที่ 8 บาท สำหรับการประเมินมูลค่าด้วยวิธีนี้จึงยังไม่ถึงเวลาซื้อ

 

มูลค่าที่คำนวณได้จากวิธีการคิดลดเงินปันผลจะเป็นวิธีที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมมาก เนื่องจากวิธีนี้ไม่ได้รวมผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาหุ้นเข้ามาเลย ทำให้มูลค่าที่ได้ค่อนข้างต่ำ และเหมาะกับสินทรัพย์ที่ราคาเปลี่ยนแปลงน้อยและคาดการณ์เงินปันผลง่าย เช่น ตราสารหนี้ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หุ้นสาธารณูปโภคปันผลสูง เป็นต้น

 

ยกตัวอย่างหุ้น TTW ในปี 2557

 

ข้อมูลพื้นฐาน เงินปันผล 0.65 บาทต่อหุ้น ผลตอบแทนที่คาดหวังอยู่ที่ 10% ต่อปี และคาดการณ์ว่าในระยะยาวกำไรของ TTW น่าจะเติบโตได้ตามอัตราเงินเฟ้อเป็นหลักที่ 2.5% ต่อปี

 

คำนวณมูลค่าพื้นฐานหุ้น

 

DDM = D(1 + g)/(k-g) = 0.65(1+0.025)/(0.1-0.025) = 8.88 บาทต่อหุ้น

 

***ตัวอย่างข้างต้นนี้เป็นการแสดงตัวอย่างในการคำนวณการประเมินมูลค่าเบื้องต้นเท่านั้น ไม่สามารถใช้ในการแนะนำการซื้อถือขายได้ การคำนวณดังกล่าวใช้เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษา และใช้ข้อมูลที่เกิดขึ้นในอดีตแล้วเท่านั้น***

 

วิธีการคิดลดเงินปันผลถือเป็นวิธีการที่อนุรักษ์นิยมมาก ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะไม่เหมาะกับหุ้นที่มีการเติบโตสูง เพราะเงินปันผลมีโอกาสเติบโตที่สูงกว่าปรกติ ทำให้การให้ค่าการเติบโตผิดไปจากความเป็นจริง

 

รวมบทความชุดสอนมือใหม่ประเมินมูลค่าหุ้น

 

1 Price per Earning ratio

 

2 Price per Booked Value ratio

 

3 Dividend Discount Model 

 

4 Enterprise Value per EBITDA

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน