Hedge Fund, Asset Management, Private Equity ความเหมือนและแตกต่างของ 3 ผู้ขับเคลื่อนตลาดทุน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากใครได้ไปลงทุนหุ้นต่างประเทศแล้วเรามักจะคุ้นหูคุ้นตากับพาดหัวข่าวบริษัทอย่าง Hedge Fund, Asset Management, Private Equity ไม่มากก็น้อย ซึ่งบทบาทหลัก ๆ ที่เราจะได้เห็นคงหนีไม่พ้นการที่พวกเขาเหล่านี้เข้ามาซื้อหุ้นบริษัทที่เราหมายตาจนติดโผผู้ถือหุ้นใหญ่ การซื้อหุ้นทั้งหมดเพื่อออกจากตลาดเพื่อบริหารและเอากลับมาระดมทุนใหม่ที่ราคาสูงกว่าเดิม หรือแม้แต่การซื้อหุ้นเพื่อมีสิทธิพอจะไปนั่งเป็นบอร์ดบริหารและขายสินทรัพย์ออกแล้วนำเงินกลับมาให้ผู้ถือหุ้น
ซึ่งบทบาทของทั้ง 3 หมวดบริษัทนี้แม้จะมีบทบาทในการทำให้เกิดกิจกรรมในตลาดทุน แต่ทั้งนี้พวกเขาต่างก็มีข้อเหมือนและแตกต่างกันอยู่บ้าง ในวันนี้เรามาทำความรู้จักกับ 3 ประเภทธุรกิจการเงินผู้ขับเคลื่อนตลาดทุนกัน
Private Equity (ซื้อ-สร้างมูลค่า-ขาย)
เป็นบริษัทที่เน้นกลยุทธ์การ Leverage Buyout หรือคือการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อกิจการใดกิจการหนึ่งนอกตลาด(หรือจะซื้อจากในตลาดเพื่อออกนอกตลาดก็ได้) จากนั้นเข้าไปบริหารทำให้กิจการมีผลประกอบการณ์ที่ดีขึ้น จากนั้นก็ Exit จากบริษัทนั้น ซึ่งอาจเป็นทั้งการขายบริษัทให้บริษัทอื่น หรือแม้แต่การ IPO เข้าตลาดหุ้น
ตัวอย่าง Private Equity ชั้นนำของโลกคือ KKR ซึ่งเคยมีประสบการณ์การเข้าซื้อบริษัท RJR Nabisco ผู้ประกอบธุรกิจบุหรี่และอาหาร เมื่อปี ค.ศ. 1987 ซึ่งเรื่องราวการเข้าซื้อ RJR Nabisco นี้เป็นเรื่องราวที่โด่งดังมากจนถึงขนาดมีหนังสือ Barbarians at the Gate ที่เล่าเกี่ยวกับห้วงเวลาแห่งความโลภของการซื้อกิจการครั้งนี้ ภายหลังการซื้อขายทาง KKR ก็มีการดำเนินการสำคัญอย่างการขายกิจการภาคส่วนอาหารให้กับบริษัทที่ใกล้เคียงกัน
Asset Management (ซื้อสินทรัพย์ มัดรวมและขายนักลงทุน เก็บค่าธรรมเนียม)
บริษัทกลุ่ม Asset Management หรือหลักทรัพย์จัดการกองทุนจะมีการลงทุนในสินทรัพย์การเงินและจากนั้นจะมัดสินทรัพย์การเงินนั้นมาขายต่ออีกทอดหนึ่งแก่นักลงทุนจากนั้นเก็บค่าธรรม
ตัวอย่างเช่น บริษัทมีเงินก้อนหนึ่งนำเงินไปซื้อหุ้นบริษัทจำนวนหนึ่งที่มีสภาพคล่องและมีขนาดใหญ่ 50 ลำดับแรกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากนั้นนำมาขายนักลงทุนในชื่อของกองทุนรวม SET50 เป็นต้น
บริษัทสาย Asset Management ที่มีชื่อเสียงที่ทุกท่านน่าจะได้รู้จักคือ Blackrock, Vanguard, State Street ซึ่งนอกจากจะเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของหลายๆ บริษัทแล้วยังเป็นเจ้าของกองทุน ETF Ishare ที่มีหลากหลาย Asset Class ให้เราเลือกลงทุนในตลาดอีกด้วย
Hedge Fund (รับเงิน บริหาร เก็บค่าบริหาร)
หรือกองทุนป้องกันความเสี่ยง กองทุนนี้มีกลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลายและไปสุดท้ายในตามแต่ละแขนงของการลงทุน โดยการลงทุนนี้อาจมีตั้งแต่การถือหุ้นให้มีจำนวนมากพอที่จะไปนั่งเป็นบอร์ดบริหารและโน้มน้าวบอร์ดให้ขายสินทรัพย์และนำมาจ่ายให้นักลงทุน การใช้ตราสารอนุพันธ์เพื่อ Long/Short หรือแม้แต่การ Leverage เพื่อทำตามกลยุทธ์ที่ทางผู้จัดการกองทุนได้กำหนดเอาไว้
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ Hedge Fund ขึ้นชื่อกว่าการลงทุนอื่น ๆ คือความซับซ้อนของกลยุทธ์การลงทุนตามแต่ละที่ รวมถึงค่าธรรมเนียมการลงทุนที่สูงเป็นพิเศษ และจะจำกัดลูกค้านักลงทุนที่จะมาให้บริหารเงินด้วย
ยกตัวอย่าง Hedge Fund ที่มีชื่อเสียงคือ Bridgewater Associates ของคุณ Ray Dalio ที่เน้นลงทุนด้วยกลยุทธ์ Global Macro และ Pure Alpha โดยการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์การเงินที่ต่างกันตามแต่ละช่วงเวลาเพื่อให้ผลตอบแทนโดยรวมแม้จะหักล้างกันแต่ก็ทำให้เหนือกว่าตลาดในระยะยาว
ทั้งนี้ แม้ 3 ประเภทบริษัทสายการเงินนี้แม้จะมีจุดที่ต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันของทั้ง 3 ประเภทบริษัทต่างมีตรงกันคือการมีแบบแผนการลงทุนที่ถูกพิสูจน์มากแล้วว่าได้ผลจริงมีขั้นตอน
นอกจากนี้จะมีคิดค่าธรรมเนียมในการบริหารเงินลงทุนอยู่เสมอ แต่ที่สำคัญที่สุดคือผู้เล่นเหล่านี้ต่างช่วยให้ตลาดทุนมีกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้หุ้นของบริษัทหนึ่งเข้าใกล้มูลค่าที่แท้จริงได้ไม่ทางขึ้น (การเข้าซื้อกิจการที่มูลค่าสูงกว่ากระดาน) ก็ทางลง (เปิดโปงอีกด้านของบริษัทเช่น Hindenburg Research) และเป็นการต่อยอดการลงทุนแขนงใหม่ ๆ ที่มากกว่าการแค่ซื้อแล้วถืออยู่เฉย ๆ แต่มีการขยายประโยชน์จากการถือหุ้นอีกด้วย เช่นการโหวตสิทธิเพื่อควบคุมบอร์ดบริหาร การเก็บค่าธรรมเนียมโดยการมัดสินทรัพย์ทำกองทุนรวม การควบคุมทั้งบริษัทเพื่อบริหารให้เกิดมูลค่าสูงกว่าเดิมแล้วระดมทุนใหม่
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
อ้างอิง
https://advicecenter.kkpfg.com/en/investment-knowledge/hedge-fund
https://youtu.be/gjcR43mp1_Q?si=ZdBf-u1ILzfBh0tR
https://www.investopedia.com/terms/h/hedgefund.asp#toc-common-hedge-fund-strategies
https://www.investopedia.com/terms/a/asset_management_company.asp
https://www.ft.com/content/0cf2b825-cde2-408f-b13f-38f1de2760aa
https://www.investopedia.com/terms/p/privateequity.asp
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :