การลงทุน

น่านน้ำสีแดง น่านน้ำสีน้ำเงิน

น่านน้ำสีแดง น่านน้ำสีน้ำเงิน

น่านน้ำสีแดง น่านน้ำสีน้ำเงิน

 

เรื่องนี้ค่อนข้างยากและผมใช้เวลาเรียบเรียงค่อนข้างนาน ผมจะค่อยๆ อธิบายเนื้อหาและคอนเซปต์ไปทีละหัวข้อเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด เรียนรู้ไปด้วยกันนะครับ จบซีรีย์ชุดนี้ มุมมองด้านการวิเคราะห์การตลาดของธุรกิจคุณจะเปลี่ยนไปแน่นอน สามารถนำไปใช้ได้ดีมากในการวิเคราะห์หุ้น

ความรู้การตลาด : กลยุทธ์น่านน้ำสีแดง (red ocean strategy)
กลยุทธ์น่านน้ำสีแดง หมายถึง การทำการตลาดแบบที่เน้น “ราคา” เป็นหลัก โดยผู้เล่นแต่ละคนมีความแตกต่างของแบรนด์น้อย ลูกค้ามีความจงรักภักดีต่อแบรนด์น้อย ใครเสนอราคาที่ถูกกว่า ลูกค้าก็พร้อมที่จะเปลี่ยนใจไปหาเจ้าใหม่

กลยุทธ์น่านน้ำสีแดง เปรียบเสมือน สนามรบที่มีการแข่งขันกันอย่างสมบูรณ์แบบ การต่อสู้รุนแรงจนต่างฝ่ายต่างเสียเลือดเนื้อมากมาย จนทะเลกลายเป็นสีแดง กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่างมักมุ่งไปสู่น่านน้ำสีแดงเสมอ เพราะในตอนแรกผู้เล่นอาจจะมีกำไรที่มากกว่าปรกติ แต่เมื่อผู้เล่นคนอื่นเริ่มเห็นจุดนั้น ผู้เล่นรายใหม่ก็จะเข้ามาแข่งขันกันจนผู้เล่นรายเก่าต้องลดราคาลงมาแข่งขันเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้

น่านน้ำสีแดงเป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับนักลงทุน เพราะนั่นหมายถึงการลงทุนของกิจการยากที่จะได้กำไรที่สวยงาม เพราะมีผู้เล่นเจ้าใหม่ๆ พร้อมจะเข้ามาแก่งแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่เสมอ ตัวอย่างธุรกิจที่อยู่ในน่านน้ำสีแดง เช่น ธุรกิจเหล็ก ที่ราคามักผันผวนไปตามราคาตลาดโลกหาความแตกต่างของแบรนด์ได้ยาก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาตลอดเวลา แบรนด์มีผลบ้าง แต่อาจจะไม่มากมายนัก

นักลงทุนมักจะมองหาธุรกิจที่ไม่อยู่ในน่านน้ำสีแดง หรือถ้าอยู่ในน่านน้ำสีแดง ต้องเป็นผู้ที่ยืนอยู่ในสงครามอย่างผู้ชนะอย่างแท้จริง

 

กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม (blue ocean strategy)
กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม (หรือน่านน้ำสีฟ้าก็ได้) เป็นกลยุทธ์ที่ถูกนำมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในการวิเคราะห์การตลาดหรือการวิเคราะห์การแข่งขันในปัจจุบัน
กลยุทธ์น่านน้ำสีครามมีคำอธิบายหลายประการตามภาพที่แสดงนี้ แต่ลงทุนศาสตร์จะสรุปให้อย่างสั้น ง่าย และได้ใจความว่า “น่านน้ำสีฟ้าคือการทำธุรกิจกับ demand ที่ไม่มีการแข่งขัน” อ่านแล้วอ่านจะงงในตอนนี้ เช่นนั้นจะเล่าให้ฟังประมาณนี้

demand หรือความต้องการซื้อของลูกค้าจะถูกจับเข้ากับ supply หรือความต้องการขายของคนขาย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการกัน โดยส่วนใหญ่ ธุรกิจจะทำกับ demand หรือความต้องการซื้อที่มีอยู่ก่อนแล้วมีการทำธุรกิจอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ธุรกิจนั้นต้องแข่งขันกับคู่แข่งที่มีอยู่ก่อนเดิม โดยอาจจะใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่นิยมใช้กัน เช่น low cost หรือ differentiation

ยกตัวอย่าง เช่น วันนี้ JAS มองเห็นถึงความเสี่ยงในการทำธุรกิจของตนเองที่มี TRUE และ ADVANC ลงมาแข่งขันในตลาดบรอดแบรนด์หรือฟิกไลน์มากขึ้น ทำให้ธุรกิจ 3BB ของตนไม่ปลอดภัย JAS จึงมองหาลู่ทางการทำธุรกิจเพิ่ม โดยผู้บริหารที่มีสายตาแหลมคมก็เล็งเห็นถึงความต้องการใช้โทรศัพท์มือถือของคนไทย (สังเกตว่านี่คือ demand ของลูกค้า และเป็น demand ที่มีการตอบสนองอยู่แล้วโดย ADVANC TRUE DTAC) JAS จึงกระโดดเข้าแข่งขันในเวทีการประมูลสี่จี ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรงเพราะ demand มีเท่าเดิม แต่ supply มีมากขึ้น แบบนี้เรียกว่าการทำธุรกิจกับ demand ที่มีการแข่งขัน หรือที่เรียกว่ากลยุทธ์น่านน้ำสีแดงนั่นเอง

ต่างกับกลยุทธ์น่านน้ำสีครามที่เน้นทำธุรกิจกับ “demand ที่ไม่มีการแข่งขัน” โดยอาจจะเป็น demand ที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง หรืออาจจะเป็นการสร้าง demand ใหม่ขึ้นมาเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เช่น คนไทยเป็นคนชอบใช้สายล้างชำระฉีดทำความสะอาดหลังถ่ายหนัก แต่ชาติอื่นไม่ค่อยเป็น จึงทำให้บางครั้งการไปต่างประเทศลำบากมาก เพราะไม่มีสายชำระอย่างที่คุ้นเคย ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว เรียกสิ่งนี้ว่าเป็น demand ที่ยังไม่เคยได้รับการตอบสนอง คือคนอยากได้สายชำระพกพาได้ จนกระทั่งปัจจุบันมีการออกแบบที่ฉีดชำระแบบเปลี่ยนฝาเสียบกับขวดน้ำที่สามารถฉีดทำความสะอาดหลังกิจหนักได้ อันนี้คือการตอบสนอง demand เรียกว่าเป็นกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม หรือแต่ก่อนคนไทยไม่รู้จักเมล่อน กินเมล่อนไม่เป็น เรียกว่าไม่มีใครอยากกินเมล่อน ไม่มี demand ของเมล่อน จนต่อมามีคนนำพันธุ์เมล่อนเข้ามาปลูกในไทยจนสำเร็จ ทดลองให้คนได้ชิมจนคนติดใจ เกิดอยากกินเมล่อน ทำให้เมล่อนขายได้ อันนี้เรียกว่าสร้าง demand การกินเมล่อนขึ้นมาใหม่ ก็เรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์น่านน้ำสีครามอีกเช่นกัน

กลยุทธ์น่านน้ำสีครามนั้นมีแนวทางการสร้างได้ 6 วิธี ซื่งลงทุนศาสตร์จะค่อย ๆ อธิบายอย่างช้า ๆ ไปทีละหัวข้อพร้อมยกตัวอย่างกิจการที่ใช้กลยุทธ์แบบนั้นและจดทะเบียนอยู่ในตลาดด้วย

1. มองข้ามไปยังอุตสาหกรรมอื่น
กลยุทธ์น่านน้ำสีครามแรกที่ลงทุนศาสตร์จะพูดถึงคือการมองข้ามไปยังอุตสาหกรรมอื่น สรุปง่ายๆ เลยคือมองไปยังอุตสาหกรรมใหม่ ธุรกิจใหม่ ความต้องการใหม่ที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง

อะไรคือ demand ที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองก็จงตอบสนองซะ ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ UMS

UMS คือบริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวกับถ่านหิน แต่เนื่องจากในสมัยที่ถ่านหินเฟื่องฟู (ยุคบ้านปู 700 บาท) ถ่านหินจะถูกซื้อขายในปริมาณมหาศาลเป็นหลักตัน ไม่แบ่งขายเป็นกิโลกรัมสำหรับใช้น้อย ๆ ปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงการใช้ถ่านหินได้ เนื่องจากไม่สามารถซื้อถ่านหินปริมาณมากได้ UMS เป็นผู้เห็นโอกาสจึงตั้งธุรกิจซื้อถ่านหินขนาดใหญ่ปริมาณมาก มาบดและแบ่งจำหน่ายให้รายย่อยเป็นรายแรก ๆ ในไทยก็ว่าได้ กำไรมหาศาล เพราะนี่เป็นน่านน้ำสีครามอย่างแท้จริง เพราะไม่มีคู่แข่งอยู่เลย ยุคนั้นเรียกได้ว่ายุครุ่งเรืองของ UMS อย่างแท้จริง ROA สูงปรี๊ด NPM มหาศาล

นี่แหละน่านน้ำสีคราม !
แต่หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อมีคนเห็นว่ากำไรมันดีมาก บริษัทคู่แข่งก็เข้ามาตัดราคากันอย่างรุนแรงจนกลายเป็นน่านน้ำสีแดง และ UMS ก็ไม่สามารถปรับตัวหนีจากน่านน้ำนี้ได้ ประกอบกับการหมดความเฟื่องฟูของยุคถ่านหิน ซึ่งพอมารวมกันก็ทำให้กำไรของ UMS จึงมีสภาพเป็นอย่างทุกวันนี้

 

2. มองข้ามไปยังกลยุทธ์อื่นในอุตสาหกรรม
ในอุตสาหกรรมหนึ่ง กลยุทธ์การทำธุรกิจไม่แตกต่างกันมาก ส่วนใหญ่ก็คล้ายๆ กันไปหมด เช่น ร้านกาแฟส่วนใหญ่ก็จะเป็นร้านน่านั่ง หอมกาแฟ โทนสีประมาณน้ำตาล ๆ ซ้ำ ๆ กันไปหมด แต่นั่นไม่ใช่น่านน้ำสีคราม น่านน้ำสีครามคือการมองหาสิ่งใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยค้นพบ ในที่นี้คือกลยุทธ์ใหม่ที่ยังไม่มีใครในอุตสาหกรรมใช้มัน ตัวอย่างในข้อนี้ คือ Jet

Jet เป็นปั๊มน้ำมันเจ้าสำคัญในไทยที่ปัจจุบันไม่ค่อยมองเห็นกันแล้ว แต่ถ้าใครสนใจจะรู้ว่า Jet นี่แหละที่ปฏิวัติวงการปั๊มน้ำมันไทย สมัยก่อน ปั๊มน้ำมันไทยจะเป็นปั๊มขนาดใหญ่ๆ เนื่องจากจะต้องรองรับรถบรรทุกเข้ามาเติมน้ำมัน ห้องน้ำจะค่อนข้างสกปรก แถมบางทียังเหม็นกลิ่นบุหรี่อีกด้วย เพราะคนชอบแวะมาสูบบุหรี่กัน Jet เปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ใหม่ทั้งหมด เริ่มต้นจากการลดขนาดทางเข้าปั๊มให้เหลือเลนขนาดเล็กเพียงเลนเดียวเพื่อปฏิเสธลูกค้าในกลุ่มรถบรรทุกขนาดใหญ่ ปรับทัศนคติทั้งหมดต่อห้องน้ำปั๊มน้ำมัน โดยชูจุดเด่นว่าปั๊มน้ำมันที่ Jet นั้นสะอาด และที่สำคัญ คือการสร้าง Jiffy หรือร้านสะดวกซื้อคอยประกบปั๊มน้ำมันทุกปั๊ม ทั้งหมดนี่ทำเพื่อเปลี่ยนปั๊มน้ำมันจากที่แวะเติมน้ำมันให้กลายเป็นที่แวะ “พักผ่อน” โดยชูการอำนวยความสะดวกด้านห้องน้ำ ร้านสะดวกซื้อ และการปราศจากรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ทำให้รู้สึกอึดอัดและไม่สมัยใหม่

วงการปั๊มน้ำมันที่พลิกโฉมไปเลย!
Jet ดังมากในแง่การตลาด เพราะเขาได้หาน่านน้ำสีครามจนพบและสร้าง demand การต้องการความสะดวกสบายจากปั๊มน้ำมันมาให้ทุกคน PTT เทคโอเวอร์ปั๊ม Jet ไปเป็นที่เรียบร้อย คงไม่ต้องบอกใช่ไหมว่าโมเดลการสร้างปั๊มน้ำมันให้คล้าย community mall ขนาดย่อมของ PTT ที่ได้มาจากใคร การตลาดนี่มันเปลี่ยนโลกจริงจริง

 

3. มองข้ามคนกลางไปเน้นที่คนใช้
กลยุทธ์น่านน้ำสีครามที่สามพูดถึงห่วงโซ่อุปทานใยการทำธุรกิจ เน้นคนกลางให้น้อยลง เน้นผู้ใช้สุดท้ายให้มากขึ้น พูดง่าย ๆ คือมองข้ามคนกลางไปนั่นแหละ ตัวอย่างของเรื่องนี้ คือ สบายโตะ

สบายโตะ คือ โบรคเกอร์ซื้อขายหุ้นน้องใหม่ที่มีจุดเด่นคือ โบรคเกอร์นี้ไม่มี “มาร์เก๊ตติ้ง” พูดง่ายๆ คือตัดคนกลางทิ้งไปเลย เหลือแต่โบรคเกอร์กับลูกค้า เพื่อให้แลกมาซึ่งความปรารถนาของลูกค้าที่อยากได้ค่าคอมถูก ๆ ทุกคนคงเคยคิดเหมือนกันว่า บางครั้งมาร์แทบไม่จำเป็นสำหรับนักลงทุนบางคน (ย้ำว่าบางครั้ง เพราะมาร์เก๊ตติ้งเองก็มีภาระหน้าที่ของตนเองที่ช่วยนักลงทุน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนที่เทรดออนไลน์และจัดการเอกสารได้เอง สบายโตะจึงตัดคนกลางออก แลกมาด้วยค่าคอมที่ถูกลงกว่าครึ่ง นี่แหละน่านน้ำสีครามที่สบายโตะเป็นผู้บุกเบิกมาถึงเป็นคนแรก อีกอย่างที่อยากบอก FSS เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสบายโตะ

 

4. มองข้ามไปยังสินค้าหรือบริการเพิ่มเติม 
กลยุทธ์น่าน้ำสีครามที่ 4 พูดถึงการมองหาอะไรที่อยู่ในธุรกิจ อะไรที่สามารถเป็น demand ได้ เรียกง่ายๆ ว่าเป็น “สิ่งใหม่” ในธุรกิจเดิม ตัวอย่างของเรื่องนี้คือ Central Gr.

เครือเซ็นทรัลเป็นธุรกิจในเครือค้าปลีกและห้างสรรพสินค้า โดยห้างแรกที่เกิดขึ้นนั้นเน้น “ขาย” สินค้าโดยเฉพาะ เมื่อขยายกิจการ เซ็นทรัลกรุ๊ปได้มองเห็นช่องว่างของ demand ที่สามารถตอบสนองได้ นั่นคือลูกค้าไม่จำเป็นต้องมาห้างเพื่อ “ซื้อ” สินค้าอย่างเดียว แต่ลูกค้ายังสามารถมาเพื่อ “experience” ได้ สังเกตไหมว่าเซ็นทรัลไม่ได้ขายแต่ของ แต่เซ็นทรัลยังมีไลฟ์สไตล์ให้ลูกค้าได้ใช้ เช่น มีโซนให้เดินเล่น มีร้านอาหาร ลานกิจกรรม โรงหนัง ฯลฯ นี่เป็นจุดแข็งของเซ็นทรัล ! และนี่เป็นรุ่นบุกเบิกห้างสรรพสินค้าของประเทศไทย กลายเป็นว่า บางครั้งคนไปห้างเพื่อกินข้าว ไม่ใช่เพื่อซื้อของ กลายเป็น demand ใหม่ขึ้นมา จนกลายเป็นแพลตฟอร์มใหม่ของห้างสรรพสินค้าไทย กลายเป็นว่าในปัจจุบัน มีสถานที่ที่ขายแต่ experience เป็นหลัก แบบ community mall มาแย่งสัดส่วนทางการตลาดแล้ว นี่แหละทะเลสีคราม

 

5. มองข้ามไปยังการใช้งานหรือความรู้สึกของผู้ใช้
กลยุทธ์ที่ 5 พูดถึงการข้ามฟากกันระหว่าง functional กับ emotional ของสินค้า คืออย่างนี้ ปรกติสินค้าหรือบริการหนึ่งจะเน้นสิ่งที่แตกต่างกัน เช่น บางสินค้าอาจเน้น functional เช่น รองเท้าที่ใส่นุ่ม สบาย ราคาถูก แต่ภาพลักษณ์แบรนด์อาจจะธรรมดา ไม่โดดเด่น แต่บางสินค้าอาจเน้น emotional เช่น แบรนด์เนมบางยี่ห้อมีสินค้าเป็นรองเท้า ซึ่งแน่นอนว่าขายแพงมาก สวยมาก สิ่งแล้วรู้สึกดีมาก แต่กลับไม่สบายเท้าเลย แบบนี้คือเน้นอารมณ์ของการใช้มากกว่าการใช้งานจริง น่านน้ำสีครามคือการสลับตำแหน่งกัน เช่น ธุรกิจบางอย่างเป็นแต่ functional ก็ย้ายตัวเองมาเป็น emotional หรือที่เคยเป็น emotional ก็ย้ายมาเป็น functional ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ได้แก่ Wisdom of KBANK

wisdom คือบัตรเครดิตแบบ hi-end ที่มีสิทธิประโยชน์มากมาย เช่น ห้องรับรองพิเศษ ห้องรับรองตามสนามบินฟรี กิจกรรมฟรี คอนเสิร์ตฟรี เข้าธนาคารไม่ต้องต่อคิว ประเด็นคือต้องมีเงินฝากธนาคารหรือเงินลงทุนอย่างต่ำ 10,000,000 บาท มันเป็นเงินจำนวนมากพอที่จะการันตีได้ว่าคนถือวิสดอมนี่ถือว่ามีพอสมควร ธุรกิจแบงค์เปลี่ยนโฉมทันที จากที่เป็น functional คือฝากเงินกินดอกเบี้ย มีสมุดเล่มนึงไว้ปรับบัญชี กลายเป็น emotional ความหรูหรา สิทธิพิเศษ การเป็นบุคคลสำคัญ KBANK มาถึงน่านน้ำสีครามอย่างแท้จริง หลังจากวิสดอมเปิดตัวไปเรียบร้อยคนก็แห่มาฝากที่กสิกรไทยกันเยอะมาก อย่าลืมว่าคนมีเงินประมาณหนึ่ง เรื่อง emotional จะมีผลต่อการตัดสินใจเสมอ ทุกแบงค์ต้องขยับตัว เพราะถ้าไม่ทำ เงินฝากก้อนใหญ่ ๆ จะไหลไปกสิกรหมด เพราะถึงแม้กสิกรจะให้ดอกเบี้ยน้อยกว่า แต่ความรู้สึกของการได้เป็นบุคคลพิเศษมันทดแทนได้ยาก มันเป็น emotional นั่นเอง
SCB จึงมี first
BBL จึงมี infinite
BAY จึง exclusive signature
KTB จึงมี precious plus
UOB จึงมี previlage
CITI จึงมี prestige
CENTRAL จึงมี black
ล่าสุด GSB จึงมี prestige
แต่สัดส่วนการถือบัญชีลูกค้ากลุ่มนี้ของกสิกรถือได้ว่าชนะไปแล้ว เพราะครองสัดส่วนทางการตลาดไว้สูงสุดกว่า 40% ทั้ง ๆ ที่สิทธิพิเศษก็ไม่ได้แตกต่างอย่างโดดเด่นจากแบงค์อื่นเท่าไหร่นัก

 

6. มองข้ามกาลเวลา
กลยุทธ์น่านน้ำสีครามด้านสุดท้าย ถือว่าเป็นสุดยอดกลยุทธ์ที่อาจจะหาได้ยากยิ่ง เพราะมันคือการมองข้ามเวลาไปยังอนาคต การมองว่าผู้บริโภคจะเปลี่ยนพฤติกรรมไปเป็นแบบไหน และธุรกิจจะจัดการกับ demand นั้นได้อย่างไร ขอยกตัวอย่าง คือ TRUE money ในยุคสมัยนี้ใคร ๆ ก็รู้ว่าเงินดิจิตัล หรือการใช้จ่ายเงินผ่านช่องทางต่างๆ ที่ไม่ใช่ตัวเงินจริงสำคัญยิ่งนัก บางประเทศนี่แทบจะไม่เหลือเงินสดใช้กันแล้ว เพราะใช้จ่ายผ่านเงินดิจิตัลกันหมด แต่ใครบ้างที่จะมองข้ามกาลเวลามาถึงยุคนี้ได้ คำตอบคือ ทรู

ทรูมีสถานะคล้ายเงินดิจิตอลมานานมาก เรียกได้ว่าตั้งแต่สิบปีที่แล้ว เงินทรูก็มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันแทนเงินจริง บัตรเติมเงินทรูไง บัตรเติมเงินทรูในสมัยก่อนสามารถใช้เติมเงินในเกมได้ ซื้อสินค้าและบริการบางอย่างได้ และมันถูกใช้ในรูปแบบของเงินประเภทหนึ่ง คือคนซื้อบัตรเติมเงิน บอกเลขให้คนรับ คนรับนำเลขไปใช้ ก็กลายเป็นเหมือนการโอนเงินข้ามธนาคารแบบไม่มีบัญชีนั่นเอง นี่มันเงินดิจิตัลชัด ๆ เมื่อมาถึงยุคดิจิตัลจริง ๆ ทรูก็พัฒนาแพลตฟอร์มของอีเพย์เมนท์ขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น true wallet, true money, WE card ซึ่งล้วนแต่เป็นการสร้างระบบเงินดิจิตัลขึ้นมาทั้งนั้น เรียกได้ว่าเป็น first move กว่าเอไอเอสจะออก m-pay กว่าดีแทคจะออก แจ๋ว ความนิยมก็ต่างกันเสียแล้ว เอาเป็นว่าทุกคนเคยได้ยินคำว่า เงินทรู ใช่ไหม แต่จะมีใครเคยได้ยินคำว่า เงินเอไอเอส เงินดีแทคไหม ก้าวข้ามเวลาจริง ๆ ธนาคารนี่เพิ่งจะขยับกันไม่นานมานี้นี่เอง ขืนช้ากว่านี้โดนเจ้าอื่นกินหมด ถึงแม้ว่าตอนนี้เงินดิจิตัลจะกลายเป็นน่านน้ำสีแดงไปเสียแล้ว แต่ทุกคนก็คงยังไม่ลืมว่า ครั้งหนึ่ง TRUE เป็นผู้ครอบครองน่านน้ำสีครามนี้อย่างแท้จริง

 

เรื่องนี้เข้าใจยากมากเลย กว่าที่ผมจะเรียบเรียงและมาเขียนอธิบายเพื่อนนักลงทุนอ่านก็ใช้เวลามาก หวังว่าเพื่อน ๆ จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองไปด้วยกัน

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน