วิทยาศาสตร์

เพราะการเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นอัตโนมัติ อันตราย 4 ข้อที่ควรระวังเมื่อนำเอไอมาใช้กับการศึกษา

เพราะการเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นอัตโนมัติ อันตราย 4 ข้อที่ควรระวังเมื่อนำเอไอมาใช้กับการศึกษา

เพราะการเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นอัตโนมัติ อันตราย 4 ข้อที่ควรระวังเมื่อนำเอไอมาใช้กับการศึกษา

 

ในยุคสมัยปัจจุบันนี้ เอไอเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ในหลายแวดวง วงการการศึกษาเองก็ได้รับประโยชน์จากเอไออยู่ไม่น้อย ครูผู้สอนสามารถใช้เอไอช่วยในการสร้างสื่อการเรียนการสอน ผู้เรียนสามารถค้นหาคำตอบผ่านเอไอได้โดยง่าย และการเรียนรู้สมัยใหม่ก็อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาครูที่เป็นมนุษย์เสมอไป คอร์สเรียนที่มีผู้สอนเป็นเอไออาจมีจำนวนเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับความต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เมื่อผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้จากทุกที่ การมีคุณครูเอไอยังช่วยลดปัญหาการแบ่งแยกสีผิวหรือเหยียดเชื้อชาติ เมื่อครูที่เป็นเอไอย่อมไม่มีความคิดเห็นทั้งบวกและลบต่อผู้เรียน อย่างไรก็ตาม การใช้เอไอเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ยังคงมีข้อควรระวัง 4 ประการ ดังนี้ [1, 2, 3]

 

ประการแรก คือความไม่ครอบคลุมของข้อมูล แม้ว่าปัจจุบันนี้เอไอจะมีชื่อเสียงในการถามอะไรตอบได้ แทบจะรู้ไปทุกเรื่อง แต่ไม่ควรหลงลืมไปว่าเอไอนั้นถูกป้อนข้อมูลให้เรียนรู้ในจำนวนจำกัด ความรู้ที่เอไอมีจึงจำกัดตามวงข้อมูลที่เอไอได้เรียนรู้ด้วยเช่นกัน การนำเอไอมาใช้ในการศึกษาจึงไม่ใช่การมีเครื่องมือที่รอบรู้ทุกอย่าง เอไอเป็นเพียงแต่ทางเลือกหนึ่งในการหาคำตอบเท่านั้น

 

ประการต่อมา คือความไม่ถูกต้องของข้อมูล ดังที่กล่าวมาแล้วว่าเอไอไม่ได้มีข้อมูลครอบคลุมทั้งหมด ดังนั้น ข้อมูลที่ได้จากเอไอจึงอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกเสมอไปเช่นกัน มีหลายตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าหากป้อนคำถามที่เอไอไม่มีคลังข้อมูลอยู่ คำตอบที่ได้อาจกลายเป็นคนละเรื่องเลยทีเดียว เช่น การถามว่าเอไอรู้จักชื่อวงนักร้องของไทยหรือไม่ แม้เอไอจะตอบว่ารู้จัก แต่ประวัติที่เอไอตอบมากลับกลายเป็นการผสมข้อมูลออกมาโดยไม่ตรงกับความเป็นจริง ดังนั้น ผู้ที่ต้องการใช้เอไอในการศึกษาจึงควรตระหนักว่า เอไอเป็นเพียงเครื่องมือให้ข้อมูลที่มีความสามารถจำกัด ไม่ใช่ความรู้ที่ถูกต้องเสมอไป

 

ประการที่สาม คือการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่ขาดหาย กระบวนการเรียนรู้ระหว่างนักเรียนกับคุณครูที่เป็นมนุษย์ไม่ได้มีความสำคัญเพียงแค่การถ่ายทอดความรู้ให้กันเท่านั้น ครูที่เป็นมนุษย์มีส่วนสำคัญในการแสดงให้เห็นวิธีการวางตัว การแสดงออกของอารมณ์ การควบคุมอารมณ์ นอกจากครูแล้ว การเรียนการสอนในห้องยังทำให้ผู้เรียนได้พบปะและเรียนรู้จากเพื่อนร่วมชั้นที่เป็นมนุษย์ ที่มีการแสดงออกทางสีหน้า ความรู้สึกนึกคิดที่ช่วยหล่อหลอมให้ผู้คนเติบโตขึ้นมา แต่สิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่เอไอไม่อาจทำได้ เมื่อมนุษย์ขาดการปฏิสัมพันธ์ต่อมนุษย์ด้วยกัน การเรียนรู้ทางด้านการอยู่ในสังคมกับมนุษย์ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้สมบูรณ์

 

ประการสุดท้าย ซึ่งเป็นประการที่สำคัญที่สุด คือกระบวนการคิดวิเคราะห์ที่หายไป โดยทั่วไปแล้ว การเรียนรู้ของผู้คนเป็นกระบวนการที่ประกอบไปด้วยการทำความเข้าใจ ไม่ว่าจะด้วยการฟังหรือการอ่าน จากนั้นจึงเป็นการพูดคุยหรือเขียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันกับครูผู้สอน เพื่อนในห้อง เพื่อทำความเข้าใจให้ถูกต้อง และทำแบบฝึกหัดทบทวน ส่งงานให้ผู้สอนตรวจสอบอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากการเรียนการสอนมีเพียงแค่ผู้สอนที่เป็นเอไอและผู้เรียนที่เป็นมนุษย์ กระบวนการอาจถูกย่นย่อเหลือเพียงแค่การที่ผู้เรียนป้อนคำถามที่อยากรู้ และเอไอก็ให้คำตอบออกมา การเรียนการสอนด้วยเอไอร้อยเปอร์เซ็นต์จะกลายเป็นการตัดวงจรคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เหลือเพียงการรอคอยคำตอบจากเครื่องมือโดยไม่คิดไตร่ตรองด้วยตนเอง

 

แม้ว่าเอไออาจมีข้อเสียหากนำใช้ประโยชน์ทางการศึกษาโดยไม่ระวัง แต่ทั้งนี้ เอไอยังคงมีประโยชน์หากนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสม เอไอสามารถเป็นเครื่องทุ่นแรงให้แก่ครูผู้สอน และเป็นอีกช่องทางที่ผู้เรียนสามารถค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม บทความนี้ไม่มีเจตนาที่จะโจมตีหรือมองการมาถึงของเอไอเป็นศัตรูต่อการเรียนรู้ เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การมาถึงของเอไอจะกลายเป็นสิ่งที่อันตรายหรือเป็นประโยชน์ ก็ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับการปรับใช้ให้เกิดประโยชน์หรือโทษโดยมนุษย์แต่ละคนเท่านั้นเอง

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
[1] Andre M. Perry and Nicol Turner Lee. (September 26, 2019). AI is coming to schools, and if we’re not careful, so will its biases. Retrieved from https://www.brookings.edu/articles/ai-is-coming-to-schools-and-if-were-not-careful-so-will-its-biases
[2] Rose Luckin. (July 14, 2023). Yes, AI could profoundly disrupt education. But maybe that’s not a bad thing. Retrieved from https://www.theguardian.com/commentisfree/2023/jul/14/ai-artificial-intelligence-disrupt-education-creativity-critical-thinking
[3] Promethean. (August 15, 2023). Potential downsides of AI in education. Retrieved from https://www.prometheanworld.com/resource-center/blogs/potential-downsides-of-ai-in-education

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน