สังคมศาสตร์

แผนใดซ่อนไว้ในแผนที่ ผลกระทบของแผนที่ฉบับใหม่ของจีนที่มีต่อประเทศข้างเคียง

แผนใดซ่อนไว้ในแผนที่ ผลกระทบของแผนที่ฉบับใหม่ของจีนที่มีต่อประเทศข้างเคียง

แผนใดซ่อนไว้ในแผนที่ ผลกระทบของแผนที่ฉบับใหม่ของจีนที่มีต่อประเทศข้างเคียง

 

แต่ละประเทศทั่วโลกมีเขตแดนแยกออกจากกัน และหนึ่งในวิธีขีดเส้นเขตแดนให้รับรู้ทั่วกันอย่างชัดเจนก็คือการกำหนดขอบเขตไว้ในแผนที่ อย่างไรก็ตาม ปี ค.ศ. 2023 นี้ จีนได้เผยแพร่แผนที่ของจีนฉบับใหม่ ที่มีการแบ่งเขตแดนเปลี่ยนแปลงไปจากข้อตกลงเดิม และแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อประเทศข้างเคียงที่ถูกอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ ในที่นี้ ลงทุนศาสตร์ขอสรุปผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการนำเสนอแผนที่ใหม่ของจีน ดังต่อไปนี้ [1, 2, 3, 4]

 

เหตุผลที่การเสนอแผนที่มาตรฐานใหม่ของจีนสร้างปัญหา เนื่องจากแผนที่ฉบับใหม่ที่จีนประกาศในวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมานี้ มีการอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ของประเทศรอบข้างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการอ้างสิทธิ์ในรัฐอรุณาจัลประเทศและอักไสชินของอินเดีย โดยจีนได้รวมอรุณาจัลประเทศให้เป็นส่วนหนึ่งของทิเบตใต้ และอ้างสิทธิ์เหนืออักไสชิน ซึ่งยังคงเป็นเขตแดนที่ทั้งจีนและอินเดียมีข้อพิพาทกันเรื่อยมา

 

แผนที่ครั้งนี้ยังมีการระบุชัดเจนด้วยว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน ทั้งที่ไต้หวันยืนยันเสมอว่าจีนไม่สิทธิ์ในประเทศ นอกจากนี้ จีนยังอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ด้วยเส้นประ 9 เส้น (nine-dash line) นับเป็นการรวบผลประโยชน์มหาศาลในน่านน้ำทะเลไว้ที่จีนเพียงผู้เดียว

 

การอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่มากมายทำให้ประเทศที่เกี่ยวข้องออกมาประท้วงโดยพร้อมเพรียงกันในทันที อินเดียประกาศแสดงจุดยืนไม่ยอมรับการเคลมดินแดนอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับไต้หวันที่ประกาศปฏิเสธอำนาจการปกครองของจีน ในขณะเดียวกัน ประเทศที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาททะเลจีนใต้ด้วยเส้นประ 9 เส้น ทั้งมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไต้หวัน ก็ได้ปฏิเสธการอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ของจีนในครั้งนี้

 

แม้ว่าจะมีการประท้วงจากประเทศที่เกี่ยวข้องมากมาย แต่จีนก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะปรับแก้แผนที่ให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของประเทศทั้งหลาย รวมถึงการปรับแก้การแบ่งเขตแดนให้ตรงตามกติกาสากล จีนยังคงอ้างสิทธิในดินแดนโดยถือว่าตนเองยึดการปฏิบัติตามการแบ่งดินแดนที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล และออกแถลงการณ์ตอบโต้ประเทศที่ประท้วง ยิ่งกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ ทวีความโกรธเคือง และอาจทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งเรื่องเขตแดนที่มีอยู่แต่เดิมแล้วลุกลามบานปลาย

 

จีน ไต้หวัน อินเดีย และประเทศที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาททะเลจีนใต้มีความขัดแย้งเรื่องการแบ่งเขตดินแดนกันเรื่อยมา การเสนอแผนที่มาตรฐานใหม่ของจีนในครั้งนี้เป็นเพียงหนึ่งในวิธีที่จีนตั้งใจทำเพื่อให้ได้อ้างสิทธิ์ครอบครองพื้นที่ที่อยู่ในข้อพิพาททั้งหลาย ต่อให้การวาดแผนที่ขึ้นใหม่จะยังไม่ผ่านการรับรองจากนานาประเทศ แต่ก็ทำให้จีนได้ประกาศอำนาจ และมีข้ออ้างในการปะทะกับประเทศที่รุกล้ำในเขตแดนที่จีนประกาศอ้างว่าเป็นของตนเอง การเขียนแผนที่ขึ้นใหม่ของจีนครั้งนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และต้องจับตาดูการเดินเกมก้าวต่อไปของแต่ละประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
[1] AP. (September 1, 2023). China’s new national map has set off a wave of protests. Why?. Retrieved from https://apnews.com/article/china-map-territorial-dispute-south-sea-702c45165d7f9cade796700fffa5691e
[2] Al Jazeera. (August 31, 2023). Malaysia rejects new China map claiming entire South China Sea. Retrieved from https://www.aljazeera.com/news/2023/8/31/malaysia-rejects-new-china-map-claiming-entire-south-china-sea
[3] Abhinav Singh. (August 29, 2023). Explained: China releases distorted ‘standard’ map. What exactly is the controversy?. Retrieved from https://www.wionews.com/world/explained-china-releases-distorted-standard-map-what-exactly-is-the-controversy-630264
[4] Reuters. (August 31, 2023). Philippines, Taiwan, Malaysia reject China’s latest South China Sea map. Retrieved from https://www.reuters.com/world/asia-pacific/philippines-taiwan-malaysia-reject-chinas-latest-south-china-sea-map-2023-08-3

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน