ประเทศไทยไม่ได้ร้อนลำพัง ทำความรู้จักกับ “monster Asian heatwave”
อากาศในช่วงเดือนเมษายนของไทยนั้นร้อนที่สุดในทุกปี แต่ปีนี้ดูเหมือนว่าความร้อนจะพุ่งทะยานไปถึงจุดที่เกินกว่าจะรับได้ ค่าไฟพุ่งสูง ผู้คนเจ็บป่วยจากความร้อนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว อากาศที่ร้อนเสียจนแทบจะใช้ชีวิตอยู่ไม่ได้นั้นไม่ใช่เรื่องที่คนไทยคิดหรือรู้สึกไปเองแต่อย่างใด อากาศประเทศไทยปีนี้นับว่าร้อนมากที่สุดในรอบ 8 ปี อุณหภูมิพุ่งสูงไปถึง 43 องศา [1] อย่างไรก็ตาม ความร้อนที่ทารุณเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแต่ในประเทศไทย แต่เป็นถึงคลื่นความร้อนปีศาจที่ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศในแถบเอเชีย [2]
“monster Asian heatwave” (ปีศาจคลื่นความร้อนเอเชีย) [3] ส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ในแถบเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายประเทศได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย จีน ลาว บังคลาเทศ เติร์กเมนิสถาน ญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงประเทศไทย อากาศในประเทศไทยสูงสุดถึง 44.6 องศาเซลเซียสที่จังหวัดตาก นับเป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศ และอากาศที่ร้อนจัดเช่นนี้ก็อาจยังคงอยู่จนถึงสัปดาห์ต่อไป ในขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวก็ประสบปัญหาจากคลื่นความร้อนปีศาจนี้เช่นเดียวกัน อากาศร้อนจัดถึง 42.9 องศาเซลเซียสที่ไชยบุรี และร้อนถึง 42.7 องศาเซลเซียสที่หลวงพระบาง
ประเทศอื่นที่ประสบกับคลื่นความร้อนสุดโหดนี้ก็มีอุณหภูมิพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์เช่นกัน บังคลาเทศร้อนจัดถึง 40.6 องศาเซลเซียส นับว่าเป็นความร้อนที่สูงที่สุดในช่วง 6 ทศวรรษ ในขณะที่เติร์กเมนิสถานเผชิญความร้อนสูงถึง 42.2 องศาเซลเซียส ญี่ปุ่นและเกาหลีที่ยังไม่อยู่ในฤดูร้อนด้วยซ้ำต้องพบกับความร้อนสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส การมาถึงของคลื่นความร้อนปีศาจนี้กำลังทำให้ประเทศแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องประสบกับภัยความร้อนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน [2]
คลื่นความร้อนสุดโหดระดับปีศาจนี้ไม่ได้เกิดขึ้นได้เองอย่างไร้เหตุผล อากาศที่ร้อนขึ้นในหลายพื้นที่เป็นผลมาจากลิ่มความกดอากาศสูงจำนวนมากที่มาจากอ่าวเบงกอลถึงทะเลฟิลิปปินส์ ความกดอากาศสูงทำให้เมฆเกิดขึ้นได้น้อย ท้องฟ้าจึงแจ่มใส ไร้เมฆบังแดด และการที่ความกดอากาศสูงเพิ่มขึ้นนี้เองก็เป็นผลมาจากวิกฤตภาวะโลกร้อนที่มีแต่จะเลวร้ายมากขึ้นทุกที ปีศาจคลื่นความร้อนเอเชียครั้งนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ซึ่งนับเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องใส่ใจ [4]
ไม่ว่าคลื่นความร้อนปีศาจครั้งนี้จะเกิดขึ้นจากอะไร สุดท้ายแล้ว สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างร้ายแรงเช่นนี้ก็อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่ผู้คนจำเป็นจะต้องอดทนเพื่ออยู่ร่วมกับมันให้ได้ และก่อนที่สภาพอากาศจะเลวร้ายลงไปกว่านี้ ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องคงต้องหาทางร่วมมือกันเพื่อรณรงค์และแก้ไขภาวะโลกร้อน ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ เพื่อให้โลกที่เราอยู่ยังคงเป็นพื้นที่ที่มนุษย์ใช้ชีวิตได้อย่างสงบสุขต่อไป [5]
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
อ้างอิง
[1] ไทยรัฐออนไลน์. (22 มีนาคม 2566). ปีนี้อากาศร้อนสุดๆ ในรอบ 8 ปี ฝนตกน้อย สัญญาณภัยแล้งกำลังมาเยือน. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2661011
[2] Stuti Mishra. (April 20, 2023). One in three people on the planet hit by ‘monster Asian heatwave’. Retrieved from https://sg.news.yahoo.com/one-three-people-planet-hit-164349919.html
[3] suthichai. (21 เมษายน 2566). ข่าวร้าย! ไทยเราอยู่ในคลื่นความร้อนเอเชียมหาโหด!. สืบค้นจาก https://twitter.com/suthichai/status/1649231650101006336
[4] Doyle Rice. (April 19, 2023). ‘Like none before:’ Deadly, record-smashing heat wave scorches Asia. Retrieved from https://www.usatoday.com/story/news/weather/2023/04/19/asia-heat-wave-worst-ever-recorded-april-climate-change/11697652002
[5] Dinah Voyles and Pulver Doyle Rice. (August 5, 2022). Extreme heat waves may be our new normal, thanks to climate change. Is the globe prepared?. Retrieved from https://www.usatoday.com/story/news/nation/2022/08/04/is-earth-prepared-for-extreme-heat-waves/10201634002/?gnt-cfr=1
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :