สังคมศาสตร์

ปรับตัวอย่างไรเมื่อต้องเป็นเสาหลักของครอบครัว ทำความรู้จักกับแซนด์วิช เจเนอเรชัน และวิธีรับมือ

ปรับตัวอย่างไรเมื่อต้องเป็นเสาหลักของครอบครัว ทำความรู้จักกับแซนด์วิช เจเนอเรชัน และวิธีรับมือ

ปรับตัวอย่างไรเมื่อต้องเป็นเสาหลักของครอบครัว ทำความรู้จักกับแซนด์วิช เจเนอเรชัน และวิธีรับมือ

 

ผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วโลกกำลังเป็นปัญหาด้านประชากรที่แต่ละประเทศต้องหาทางรับมือ ในขณะเดียวกัน เมื่อผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ผู้คนที่อยู่ในวัยแรงงานก็ต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุภายในครอบครัวมากขึ้น นอกจากผู้คนวัยแรงงานจะเหน็ดเหนื่อยกับการทำงานหนักท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อเลี้ยงดูบุตรหลานของตนเอง ยังต้องใช้ทั้งเงินและเวลาในการดูแลพ่อแม่ หรือญาติที่เป็นผู้สูงอายุในครอบครัว ผู้คนที่อยู่ในวัยระหว่างกลางระหว่างการเลี้ยงดูส่งเสียเด็ก และคอยดูแลผู้สูงอายุ เรียกว่า “แซนด์วิช เจเนอเรชัน” (sandwich generation) ในที่นี้ ลงทุนศาสตร์ขอพาท่านผู้อ่านไปสำรวจความยากลำบากของแซนด์วิช เจเนอเรชัน และวิธีการรับมือกับความท้าทายเหล่านั้น ดังต่อไปนี้ [1, 2, 3]

 

ผู้คนที่อยู่ในช่วงวัยตรงกลางของครอบครัว หรือที่เรียกว่า แซนด์วิช เจเนอเรชัน มักมีอายุอยู่ระหว่าง 40-50 ปี ผู้คนในช่วงวัยนี้มีทั้งผู้ปกครองที่กลายเป็นผู้สูงอายุ และอาจอยู่ในช่วงที่ต้องส่งเสียเลี้ยงดูลูกหลานที่ยังดูแลตนเองไม่ได้เต็มที่ สภาวะที่ถูกบีบอัดให้แบกรับผู้คนทั้งสองวัยทำให้คนในวัยนี้ถูกเรียกว่า แซนด์วิช เจเนอเรชัน

 

ปัจจุบันนี้ ผู้คนทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายในการต้องอยู่วัยที่ถูกกดดันให้ดูแลคนในครอบครัวทั้งเด็กและผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้สูงอายุหลายรายมีอาการต่อเนื่องจากลองโควิด และต้องการการดูแลมากเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับเด็กเล็กที่มีวิธีการเรียนรู้แบบผสมผสาน ทั้งการเรียนจากบ้านตามมาตรการล็อกดาวน์ และการเริ่มเรียนรู้จากแท็บเล็ตตามการพัฒนาของเอไอ ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายล้วนสร้างความกดดัน และทำให้คนวัยแซนด์วิช เจเนอเรชันต้องปรับตัวตามกระแสความเปลี่ยนแปลง ควบคู่ไปกับการประคองครอบครัวทั้งหมดให้อยู่รอด

 

ผู้คนในแซนด์วิช เจเนอเรชันที่เผชิญกับความกดดันอยู่เสมอ ต้องหาทางปรับตัวให้คุ้นชินกับสภาวะที่เป็น โดยคำแนะนำในการรับมือสำหรับผู้ที่อยู่ในแซนด์วิชเจเนอเรชัน คือการแนะนำให้ผู้ที่อยู่ในวัยนี้หาทางจัดการกับความเครียดของตนเองอย่างเหมาะสม สื่อสารกับคนในบ้านอย่างตรงไปตรงมา หากมีเหตุจำเป็น อย่าแบกรับความคาดหวังหรือความกดดันไว้เพียงลำพัง หาเพื่อนวัยเดียวกันที่สามารถปรับทุกข์ได้ และอย่าหลงลืมที่จะดูแลตนเอง พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ และขอให้เผชิญหน้ากับปัญหาอย่างเข้มแข็ง หากรู้สึกเหนื่อยล้าจนเสี่ยงต่อภาวะเบิร์นเอาต์ สามารถติดต่อบริการให้คำปรึกษาสุขภาพจิตได้ตามช่องทางที่สะดวก

 

นอกจากการรับมือด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตแล้ว การเตรียมการรับมือทางการเงินโดยวางแผนเก็บออมอย่างเหมาะสมสำหรับเตรียมรับมือเมื่อได้กลายเป็นคนที่ต้องดูแลคนในครอบครัว หรือการวางแผนเกษียณล่วงหน้าเพื่อไม่ให้สมาชิกในบ้านต้องแบกรับการดูแล ก็เป็นอีกหนึ่งทางรับมือที่สมควรวางแผนไว้ด้วยเช่นกัน

 

การเป็นผู้ใหญ่นั้นไม่เคยง่าย โดยเฉพาะในวันที่ต้องแบกรับภาระมากมายจากผู้คนทั้งรุ่นเด็กและรุ่นสูงอายุ ไม่ว่าทุกท่านจะกำลังอยู่ในช่วงวัยใด ลงทุนศาสตร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะสามารถรักษาสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง และมีการเตรียมการด้านการเงินอย่างครบพร้อม สำหรับวันที่ท่านต้องแบกรับภาระมากมายเหนือไปกว่าตนเอง หรือในวันที่ท่านได้กลายเป็นผู้สูงอายุเสียเอง เพื่อให้คนในครอบครัวสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่มีใครต้องแบกรับภาระมากมายไว้เพียงลำพัง

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
[1] Will Kenton. (July 17, 2022). Sandwich Generation: What the Term Means, How to Manage. Retrieved from https://www.investopedia.com/terms/s/sandwichgeneration.asp
[2] CBS New York. (April 25, 2024). Exploring caregiving challenges facing the “sandwich generation”. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=IPfVcrOAZos
[3] WesleyLife. (January 31, 2024). How to Manage Sandwich Generation Stress: 5 Tips to Help You Care for Your Parents, Your Kids, and Yourself. Retrieved from https://www.wesleylife.org/blog/how-to-manage-sandwich-generation-stress-5-tips-to-help-you-care-for-your-parents-your-kids-and-yourself

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน