การพนันระบาดในเด็กไทย อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม
เมื่อกล่าวถึงการพนัน บางท่านอาจคิดถึงการเดิมพันกับโชคชะตาเพื่อเพิ่มความตื่นเต้น การเสี่ยงเพียงเล็กน้อยที่อาจไม่สร้างความเสียหายมากนัก และอาจเกิดขึ้นกับกลุ่มคนวัยทำงานที่หาเงินได้แล้วมากกว่าเด็กเล็ก แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากพิจารณาถึงผลการสำรวจในเด็กไทย กลับเห็นได้ชัดเจนว่าการพนันเข้าถึงเด็กไทยได้ง่ายดายและมีเด็กวัยเรียนที่เล่นพนันอยู่มากมาย ในครั้งนี้ ลงทุนศาสตร์ขอกล่าวถึงผลการวิจัยเหล่านั้น [1] อันตรายของการที่เด็กติดการพนัน [2] และหนทางป้องกันแก้ไขการติดพนัน [3] ดังนี้
ในงานวิจัยแรก ผู้วิจัยสำรวจด้านการเล่นพนันโดยเก็บข้อมูลจากเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จากโรงเรียน 4 แห่งในเพชรบูรณ์ (จำนวน 3,744 คน) ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าเด็กนักเรียนเริ่มมีส่วนร่วมในการเล่นพนันมากถึงร้อยละ 14.7 และร้อยละ 18.5 ของนักเรียนที่เล่นพนันทั้งหมดนี้ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาผลการตอบของเด็กนักเรียนทั้งหมดแล้วจะเห็นได้ว่า เด็กนักเรียนเกินครึ่งมีความคิดเห็นว่าการพนันเป็นสิ่งที่ไม่อันตรายร้ายแรง
การที่เด็กส่วนหนึ่งมองว่าการพนันไม่ใช่เรื่องอันตรายร้ายแรงนี้สอดคล้องกับผลสำรวจมุมมองด้านการพนันของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในเขตพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ที่แสดงให้เห็นว่าเมื่อเด็กอยู่ใกล้ชิดกับแหล่งที่มีการเล่นพนัน เด็กก็มองเห็นว่าการพนันเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ผู้คนในชุมชนต่างก็มีส่วนร่วม และร้อยละ 23.5 ของกลุ่มตัวอย่างก็มองว่าการพนันเป็นสิ่งที่สร้างความสนุกสนาน เช่นเดียวกันกับผลสำรวจในกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนจำนวน 400 คน ช่วงเดือนกรกฎาคมปีพ.ศ. 2565 – เดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ที่เด็กนักศึกษาคุ้นชินกับสื่อโฆษณาพนันออนไลน์ และไม่คิดว่าเป็นเรื่องหลอกลวงหรือร้ายแรงแต่อย่างใด
การที่เด็กไทยส่วนหนึ่งขาดความตระหนักถึงภัยอันตรายของการพนัน ก็เป็นผลมาจากการที่โฆษณาพนันออนไลน์อยู่ใกล้ตัวเด็ก พบเจอได้ง่ายเพียงแค่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต พนันออนไลน์เป็นภัยร้ายตัวใหม่ที่ทำให้เด็กเข้าใกล้การพนันได้ง่ายดายเพียงปลายนิ้วคลิก อย่างไรก็ตาม การพนันยังคงเป็นกิจกรรมที่อันตรายเป็นอย่างยิ่ง เด็กที่ติดการพนัน หรือเคยติดแต่ต้องการเลิก แต่ยังเลิกไม่ได้เด็ดขาด จะกลายเป็นคนที่สูญเสียความมั่นใจ และเมื่อครอบครัวรู้ ก็จะเกิดความขัดแย้งกับครอบครัว ทะเลาะเบาะแว้ง และอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่เลวร้าย เช่น ขโมยเงินคนรอบตัวเพื่อเล่นพนัน กู้ยืมเงิน ไม่มีสมาธิเรียน ผลการเรียนตกต่ำ เกิดความเครียดและหันไปพึ่งพาอบายมุขอื่น ๆ เช่น เหล้า บุหรี่ กัญชา หรืออื่น ๆ อีก
หากว่าเด็กติดการพนัน สิ่งที่ครอบครัวหรือคนใกล้ชิดควรทำ คือการพูดคุยกันอย่างใจเย็น รับฟัง ค่อย ๆ จัดตารางเวลาการตื่นนอน การใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กให้เหมาะสม อธิบายปัญหาให้เข้าใจและพยายามสื่อสารให้รู้ว่าการพนันมีผลเสียอะไรบ้าง และคอยบอกให้รู้ว่าครอบครัวหรือคนใกล้ชิดพร้อมที่จะอยู่เคียงข้าง ช่วยเหลือจนกว่าเด็กจะหลุดออกจากวงโคจรของการพนันครั้งนี้ และหากเด็กมีอาการก้าวร้าวหนักขึ้น ควรพิจารณาที่จะพาเด็กไปพบแพทย์ เพราะการติดพนันก็สามารถพัฒนาไปเป็นโรคเสพติดพนันได้ (Pathological Gambling)
สิ่งที่ควรต้องระวังเมื่อรับมือกับเด็กที่ติดพนัน คือการตำหนิ บ่น ต่อว่าอย่างรุนแรงด้วยความโกรธ การขู่ว่าจะตัดเด็กออกจากครอบครัว การคอยตามใช้หนี้แทน หรือการคาดหวังว่าเมื่อจับได้แล้วการเล่นพนันจะหยุดลงทันที เพราะในความเป็นจริงแล้ว การหยุดเล่นพนันไม่อาจทำได้ง่ายดายขนาดนั้น ยิ่งโดยเฉพาะหากครอบครัวและคนรอบตัวขาดความเข้าใจ
แม้จะเป็นเรื่องที่น่าเจ็บใจที่ในปัจจุบันนี้ เด็กไทยสามารถเข้าถึงการพนันได้อย่างง่ายดาย แต่เราคงต้องมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังไม่ให้อนาคตของชาติติดกับดักวังวนของการพนัน สิ่งที่เราทำได้อาจเป็นการบอกกล่าวคนรอบตัวหรือเด็กในครอบครัวถึงอันตรายของการพนัน ให้เวลาและความรัก หากิจกรรมอื่นที่น่าสนใจให้เด็กทำ และคอยจับตากันต่อไปว่า เมื่อใดกันที่กฎหมายของไทยจะเคร่งครัดกับการเอาผิด ลงโทษเว็บไซต์การพนันที่มีอยู่เกลื่อนกลาด รวมถึงเหล่าคนดังที่มีส่วนร่วมในการโปรโมตการพนันออนไลน์ จนทำให้ผู้คนมากมายหลงผิด มองไม่เห็นโทษของการพนัน และเสียอนาคตกันอยู่ในทุกวันนี้
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE
อ้างอิง
[1] autchariya. (19 มิถุนายน 2566). ผลวิจัยชี้ เด็กเยาวชนไทยเล่นพนันออนไลน์กว่า 3 ล้านคน เพราะเห็นโฆษณาบ่อย-คนดังชวนพนัน เร่งสานพลังมุ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ให้เด็กเยาวชนรู้เท่าทันภัยพนัน. สืบค้นจาก https://www.thaihealth.or.th/ผลวิจัยชี้-เด็กเยาวชนไท/?fbclid=IwAR3LYUXnKYU0SFe4xkS0GX5FkP9WaJmRIyJ28l6xk9lOdT4XD4YizCexQv4
[2] คงกริษ เล็กศรีนาค, ณรงค์ พลอยดนัย และวิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์. (2555). พฤติกรรมการเล่นการพนันของเยาวชนกรณีศึกษา : เขตกรุงเทพมหานคร. วารสารวิจัย มข. (บศ.), 12(4), 132-147.
[3] โรงพยาบาลมนารมย์. (ม.ป.ป.). Pathological Gambling หรือ การเสพติดพนัน โรคทางจิตเวชที่ต้องได้รับการรักษา. สืบค้นจาก https://www.manarom.com/blog/pathological_gambling.html
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :