ธุรกิจ

กลศึกในสงครามสิ่งทอ อเมริกาประสบความสำเร็จแค่ไหนในการแบนฝ้ายซินเจียง

กลศึกในสงครามสิ่งทอ อเมริกาประสบความสำเร็จแค่ไหนในการแบนฝ้ายซินเจียง

กลศึกในสงครามสิ่งทอ อเมริกาประสบความสำเร็จแค่ไหนในการแบนฝ้ายซินเจียง

 

สงครามการค้าระหว่างจีนและอเมริกาเกิดขึ้นอยู่เสมอ และหนึ่งในการเดินหมากสำคัญของสหรัฐอเมริกา คือการประกาศแบนสินค้าของจีนที่ผลิตจากซินเจียง สินค้าที่ถูกแบนมีตั้งแต่มะเขือเทศไปจนถึงฝ้าย ด้วยเหตุผลที่ว่าสินค้าเหล่านี้เป็นผลผลิตมาจากการใช้แรงงานทาส กดขี่ค่าแรงและปฏิบัติต่อแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม หากเราพิจารณาจากจุดยืนนี้ อาจจะมองได้ว่าสหรัฐอเมริกาตัดสินใจโดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนเป็นที่ตั้ง แต่หากเรามองอีกมุมหนึ่ง ก็จะเห็นได้ว่าการแบนสินค้าจากจีน เป็นหนึ่งในกลศึกห้ำหั่นทางการค้ากับจีนด้วยเช่นกัน

 

ในที่นี้ ลงทุนศาสตร์ขอพาท่านผู้อ่านไปสำรวจผลลัพธ์จากการที่อเมริกาประกาศแบนฝ้ายจากซินเจียง ดังต่อไปนี้ [1]

 

เมื่อกล่าวถึงผู้นำด้านการส่งออกฝ้าย ทั้งจีนและอเมริกาต่างก็เป็นผู้ผลิตฝ้ายรายหลักของโลก ในปี ค.ศ. 2021 จีนเป็นผู้ผลิตและส่งออกฝ้ายอันดับหนึ่ง คิดเป็นมูลค่าจากการส่งออก 12.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจีนส่งออกฝ้ายไปยังอเมริกามากถึงร้อยละ 15 แต่ในปี ค.ศ. 2021 นั้นเอง อเมริกาก็ได้ออกกฎแบนสินค้าจากซินเจียง ตามข้อกล่าวหาด้านการใช้แรงงานทาสของจีน แม้ว่าทางจีนจะปฏิเสธข้อหาดังกล่าว แต่กฎหมายก็มีผลบังคับใช้ที่รุนแรง แบรนด์ธุรกิจแฟชั่นทั้งหลายที่เคยใช้ฝ้ายจากซินเจียงต้องระวังการส่งสินค้าที่ผลิตจากฝ้ายซินเจียงเข้าสู่อเมริกา หากฝ่าฝืนอาจต้องเผชิญโทษปรับสูงถึง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

 

ข้อบังคับดังกล่าวนี้ส่งผลให้ตำแหน่งแชมป์การส่งออกฝ้ายของจีนสั่นคลอน และยังส่งผลให้แบรนด์แฟชั่นทั้งหลายเดือดร้อนไปตาม ๆ กัน เมื่อฝ้ายที่ใช้กันทั่วโลกมีที่มาจากจีนร้อยละ 20 และในจำนวนร้อยละ 20 นั้นเป็นฝ้ายที่มาจากซินเจียงมากถึงร้อยละ 84 แบรนด์ต่างชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็น H&M หรือ Nike เริ่มต้นทำตามกฎหมายโดยการร่วมแบนสินค้าจากซินเจียง อย่างไรก็ตาม การแบนสินค้าจากจีนก็ย่อมสร้างผลกระทบต่อแบรนด์ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชาวจีนต่างพากันออกมาประกาศแบนธุรกิจที่ไม่ต้อนรับสินค้าจากซินเจียงด้วยเช่นกัน

 

แม้อเมริกาจะประกาศแบนสินค้าจากซินเจียง แต่แบรนด์สินค้าแฟชั่นทั้งหลายไม่ได้เข้าร่วมการแบนครั้งนี้ด้วยทั้งหมด แบรนด์ดังจากญี่ปุ่นอย่าง Uniqlo และ Muji เพียงแต่ไม่ส่งออกสินค้าที่ทำจากฝ้ายของซินเจียงไปยังสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ได้รับประกันว่าจะไม่ใช้ฝ้ายจากซินเจียงผลิตสินค้าที่วางขายในประเทศอื่น นอกจากนี้ การตรวจสอบว่าสินค้าที่นำเข้าอเมริกาทั้งหมดไม่ได้ใช้ฝ้ายจากซินเจียงเลยก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก การตรวจสอบต้องทำในห้องแล็บ และทำได้เพียงสุ่มตรวจบางส่วนเท่านั้น

 

ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 2023 นี้ อเมริกาก็ยังตรวจพบว่ารองเท้าและเสื้อผ้าที่สุ่มตรวจโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรฯ ผลิตขึ้นจากฝ้ายของซินเจียงมากถึงร้อยละ 27 เท่ากับว่ากฎหมายไม่ได้ทำให้การแบนฝ้ายจากซินเจียงได้ผลเด็ดขาด นอกจากนี้ จีนก็ยังคงครองแชมป์การผลิตฝ้ายมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกด้วยจำนวน 6,684,000 เมตริกตัน (ผลสำรวจระหว่างปี ค.ศ. 2022-2023) และแม้ว่าจีนจะเสียแชมป์การเป็นผู้ส่งออกฝ้ายอันดับหนึ่งของโลกให้แก่อเมริกา แต่จีนก็ยังเป็นผู้เล่นคนสำคัญในตลาดฝ้ายระดับโลกอยู่เช่นเดิม

 

จากที่กล่าวมานี้ อาจสรุปได้ว่า การแบนฝ้ายจากซินเจียงของอเมริกากระทบกระเทือนต่อการส่งออกของจีนในช่วงที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถสกัดกั้นการผลิตฝ้ายของจีนได้ และแบรนด์สินค้าแฟชั่นต่าง ๆ ก็ยังคงต้องการฝ้ายจากซินเจียงอยู่เสมอ สงครามสิ่งทอระหว่างอเมริกาและจีนจึงยังยากที่จะสรุปผลแพ้ชนะ และยังต้องจับตารอดูกลยุทธ์ที่ทั้งสองประเทศจะใช้เพื่อห้ำหั่นกันต่อไป

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , และ WEBSITE

 

อ้างอิง
[1] Fleur Britten. (June 21, 2022). US ban on cotton from forced Uyghur labour comes into force. Retrieved from https://www.theguardian.com/world/2022/jun/21/us-ban-on-cotton-from-forced-uyghur-labour-comes-into-force
[2] David Lawder. (January 14, 2021). U.S. bans imports of all cotton, tomato products from China’s Xinjiang region. Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-usa-trade-china-xinjiang-idUSKBN29I2KO
[3] Wall Street Journal. (August 29, 2023). How Banning Most Chinese Cotton Has Shifted Global Supply Chains | WSJ U.S. vs. China. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=ueHf5luRmvo
[4] Statista. (2023). Leading cotton producing countries worldwide in 2022/2023. Retrieved from https://www.statista.com/statistics/263055/cotton-production-worldwide-by-top-countries
[5] Eva Dou. (November 17, 2021). China’s Xinjiang cotton is banned in the U.S. but still making it to store shelves, report says. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/world/asia_pacific/china-xinjiang-cotton/2021/11/17/fcfe320e-37a3-11ec-9662-399cfa75efee_story.html
[6] Katherine Masters. (September 1, 2023). Exclusive: US Customs finds garments made with banned Chinese cotton. Retrieved from https://www.reuters.com/markets/commodities/us-customs-finds-garments-made-with-banned-chinese-cotton-documents-2023-09-01
[7] BBC. (March 26, 2021). Xinjiang cotton: Western clothes brands vanish as backlash grows
Published. Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-asia-china-56533560

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน