ธุรกิจ

สรุปข้อมูลบริษัท Unilever : 99% ของครัวเรือนไทยใช้ของ Unilever

สรุปข้อมูลบริษัท Unilever

สรุปข้อมูลบริษัท Unilever : 99% ของครัวเรือนไทยใช้ของ Unilever

 

เคยเจอบริษัทอะไรที่ผู้บริโภคกว่า 99% ต้องซื้อสินค้าและบริการของบริษัทนี้ไหม ?

 

ที่เราเห็นกันส่วนใหญ่ แค่มีลูกค้าสัก 20 – 30% ของลูกค้าทั้งหมดมาซื้อสินค้าและบริการของบริษัท เราก็ถือว่าบริษัทนั้นมีแบรนด์ที่แข็งกว่าคู่แข่งพอสมควรแล้ว แต่มันจะเป็นอย่างไรหากบริษัทนั้นมีผู้บริโภคเกือบทุกคนเป็นลูกค้าของบริษัท ไม่สิ อาจต้องเปลี่ยนคำถามใหม่ว่ามีบริษัทแบบนั้นอยู่จริง ๆ เหรอ

 

คำตอบคือมี แม้จะไม่ใช่การวัดจากลูกค้าทั่วโลก แต่บริษัทนี้มีครัวเรือนในไทยกว่า 99% ที่ต้องซื้อสินค้าและบริการของบริษัทนี้อย่างสม่ำเสมอ นั่นคือ Unilever

 

 

 

Unilever อาจแตกต่างจากบริษัทอื่น ๆ เล็กน้อยก็ตรงที่ มันไม่ได้ก่อตั้งขึ้นมาโดด ๆ แต่เป็นบริษัทที่เกิดจากการควบรวมกัน 2 บริษัท ระหว่างบริษัทแรกที่ผลิตมาการีน ก่อตั้งโดย Jurgens และ Van den Bergh  และอีกบริษัทที่ผลิตสบู่ ที่ก่อตั้งโดย William Hesketh Lever

 

ช่างเป็นความแตกต่างจนไม่คิดว่าจะไปด้วยกันได้ แต่ทั้งสองบริษัทก็ควบรวมกันสำเร็จในช่วงปี 1929 และกลายเป็นบริษัท Unilever นั่นแปลว่าบริษัทนี้มีอายุมาร่วมเกือบร้อยปี

 

แม้จะผ่านเศรษฐกิจตกต่ำมาหลายครั้ง แถมยังผ่านสงครามโลกมาอีกสองครั้ง แต่บริษัทนี้ก็ยังยืนอยู่ได้แถมขยายตลาดไปได้ทั่วโลก กระทั่งแบรนด์สินค้าแรก ๆ ของบริษัทอย่างซันไลท์ก็ยังมีอยู่จนถึงปัจจุบัน เพียงแต่ตอนแรกเป็นสบู่ ไม่ได้เป็นน้ำยาล้างจานเหมือนที่เราคุ้นเคย และยังมีแบรนด์อื่น ๆ อีกเพียบที่ไม่มีใครไม่รู้จัก ไอศกรีมวอลล์, ยาสระผมซันซิล, พอนด์ส, โดฟ, ลักซ์, ซิตร้า, โอโม่, ซันไลต์, วาสลีน, บรีส, เคลียร์, คอมฟอร์ท, คนอร์, ลิปตัน ฯลฯ

 

จนทุกวันนี้ Unilever มีสินค้าวางจำหน่ายแล้วกว่า 190 ประเทศทั่วโลก พนักงานอีกกว่า 170,000 คน และรายได้ในปีล่าสุดที่สูงถึง 5 หมื่นล้านเหรียญเลยทีเดียว

 

งบการเงิน Unilever

 

ปี 2016
รายได้ 52,173 ล้านเหรียญ
ค่าใช้จ่าย 46,989 ล้านเหรียญ
กำไรสุทธิ 5,184 ล้านเหรียญ

 

ปี 2017
รายได้ 53,715 ล้านเหรียญ
ค่าใช้จ่าย 47,662 ล้านเหรียญ
กำไรสุทธิ 6,053 ล้านเหรียญ

 

ปี 2018
รายได้ 50,982 ล้านเหรียญ
ค่าใช้จ่าย 41,593 ล้านเหรียญ
กำไรสุทธิ 9,389 ล้านเหรียญ

 

ถึงจะเป็นบริษัทที่มีรายได้กว่าปีละหมื่นล้าน แต่ Unilever ก็ประสบปัญหาเฉกเช่นเดียวกับบริษัทอื่น ๆ นั่นก็คือยอดขายที่ชะลอตัวลงเนื่องมาจากลูกค้าในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มลาตินอเมริกามีการบริโภคที่ชะลอตัวลง (ต้องมารอดูต่อว่าปี 2019 ทีผ่านมายอดขายจะลดลงไหม) เห็นได้ชัดว่าแม้แต่บริษัทที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องกินใช้ทุกวันก็ยังมียอดขายชะลอตัว ซึ่งทาง Unilever ก็พยายามแก้เกมนี้ด้วยการเน้นสินค้าในกลุ่ม skin care ระดับบนให้มากขึ้น

 

และอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องระวังก็คือคู่แข่ง หลัก ๆ ก็คือ P&G จากสหรัฐฯ ที่ทำธุรกิจขายสากกะเบือยันเรือรบเช่นกัน และนี่เรายังไม่ได้พูดถึงแบรนด์ท้องถิ่นของแต่ละประเทศที่ขายสินค้าคล้าย ๆ กับ Unilever ดังนั้น Unilever จึงอาจไม่ใช่บริษัทที่ซื้อแล้วถือลืมได้ปลอดภัยขนาดนั้น มันก็คือบริษัททั่วไปที่มีทั้งข้อได้เปรียบและความเสี่ยง เพียงแต่ว่ามันเป็นบริษัทที่ใหญ่กว่าปกติก็เท่านั้นเอง

 

น่าติดตามว่าบริษัทที่ครอบครัวคนไทยกว่าร้อยละ 99 ต้องซื้อสินค้าจากบริษัทนี้จะสามารถเติบโตได้อีกแค่ไหน หรือมันจะกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่อิ่มตัวแล้ว นี่คือสิ่งที่น่าติดตาม

 

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE

 

พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์

 

เอกสารอ้างอิง

ประวัติของเรา : unilever.co.th
ชวนดู 24 แบรนด์ในอาณาจักร “ยูนิลีเวอร์” ประเทศไทย : marketingoops.com
ต้องทำให้แบรนด์ที่เป็นตำนานอยู่ได้ต่อไป – เป้าหมายท้าทายของ CEO ยูนิลีเวอร์คนใหม่ : marketeeronline.co
Prestige beauty and deo strong as Unilever 2019 net profit drops : cosmeticsdesign-europe.com
New Unilever CEO inherits disappointing sales performance : .reuters.com
งบการเงิน Unilever : finance.yahoo.com

 

อัพเดทล่าสุดเมื่อ :

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน